สรุป! 5 ข้อคิดจาก 4 บริษัทระดับโลก กับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนสู้เป้าหมาย Net Zero จากงาน Sustainability Week Asia

  • 24
  •  
  •  
  •  
  •  

การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในปัจจุบัน และยิ่งการจะทำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับข้อกำหนดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะที่ในแต่ละอุตสาหกรรมก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปอีก

อย่างไรก็ตามล่าสุดในงานสัมมนา Sustainability Week Asia จัดขึ้นโดย Economist Impact ได้เชิญตัวแทนจากบริษัทระดับโลกทั้งจาก 4 อุตสาหกรรมที่แตกต่างกันมาร่วมเสวนาในหัวข้อ Achieving Net Zero: Matching Ambition with Action ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่าง คุณ Arun Biswas ผู้จัดการและที่ปรึกษาด้านการขายและความยั่งยืนจากบริษัท IBM ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างคุณอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธานบริษัท Nissan ภูมิภาคอาเซียน, อุตสาหกรรมการบินอย่างคุณร็อบ บอย์ด ผู้บริหารระดับภูมิภาคดูแลด้านนโยบายความยั่งยืนและพันธมิตร บริษัท Boeing  และตัวแทนจากอุตสาหกรรมหนักตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทยอย่าง คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) หรือเอสซีจี 

ทั้ง 4 ท่านได้ขึ้นเวทีและให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ไว้อย่างน่าสนใจซึ่งเราสรุปมาให้อ่าน 5 ข้อคิดด้วยกัน

1. นโยบายภาครัฐมีบทบาทสำคัญสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

คุณร็อบ ตัวแทนจาก Boeing บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมการบินพูดถึงความสำคัญของ “นโยบายภาครัฐ” ในการสนับสนุนและผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินลดการปล่อยคาร์บอนก็คือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการ “พลังงานใหม่” ที่มีความยั่งยืนมากกว่า โดยนโยบายที่จะมีประสิทธิภาพนั้นมีอยู่ 2 เรื่อง

คุณอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธานบริษัท Nissan ภูมิภาคอาเซียน

หนึ่งคือการสนับสนุนเทคโนโลยีหรือพลังงานใหม่ๆให้เริ่มต้นได้ง่ายขึ้นช่วยลดวามเสี่ยงหรือความท้าทายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงเริ่มต้นเพื่อให้นวัตกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง นำไปสู่การพัฒนาในขั้นต่อไป และส่วนที่สองคือ การมีนโยบายที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานใหม่ๆนั้นๆสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาวสิ่งเหล่านี้มีตัวอย่างให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก

ด้านคุณอิซาโอะตัวแทนจาก Nissan ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ระบุว่านโยบายที่มีประสิทธิภาพมีทั้ง “การสนับสนุนทางการเงิน” (Financial Incentive) อย่างในโยบายของประเทศไทยที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศ ทำให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีราคาที่แข่งขันกับรถยนต์สันดาบได้และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และแบบ “นโยบายที่ไม่ใช่การเงิน” (Non-Financial Incentive) แบบที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียทำกับการจำกัดจำนวนรถยนต์สันดาบเข้าเมืองแต่เปิดเสรีให้กับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น

2. ต่างอุตสาหกรรมต่างความท้าทาย

คุณ Arun Biswas ผู้จัดการและที่ปรึกษาด้านการขายและความยั่งยืนจากบริษัท IBM ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ธุรกิจจากต่างอุตสาหกรรมยอมเผชิญความท้าทายในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ที่แตกต่างกัน ซึ่งในเรื่องนี้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง IBM เปิดเผยเช่นกันว่าปัจจุบันความท้าทายในการเดินหน้าสู่ Net Zero ซึ่งเป็นสิ่งที่พบจากกาสำรวจกว่า 5,000 บริษัทจาก 22 อุตสาหกรรมใน 20 ประเทศ พบว่ามีข้อกังวลใหญ่อยู่ 3 เรื่องด้วยกันนั่นก็คือ

  1. ความท้าทายด้านการบ่มเพาะธุรกิจ – หมายถึงการเดินหน้าด้านความยั่งยืนด้วยมุมมองที่ไม่ถุกต้อง เช่นการทำตามๆกันไปมากกว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ
  2. ความท้าทายด้านข้อมูลที่นำมาใช้งานได้ – ข้อมูลด้านความยั่งยืนนั้นมีความซับซ้อนกว่าข้อมูลทางธุรกิจด้านอื่นๆ เพราะมีหลากหลายมิติ เป็นข้อมูลที่ต้องเก็บและวัดตลอดห่วงโซ่ Value Chain และต้องสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ปรับเปลี่ยนกระบวนการให้ได้ทันเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถทำกันได้
  3. ความท้าทายด้านทักษะและการตัดสินใจ – ความเข้าใจด้านความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การตัดสินใจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้อง นอกจากมีคนที่เข้าใจเรื่องความยั่งยืนแล้วก็ต้องมีคนที่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องด้วยและสร้างสมดุลระหว่างความยั่งยืนและผลกำไรของธุรกิจได้
คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) หรือเอสซีจี

ในด้านของ SCG ตัวแทนจากไทยอย่างคุณธรรมศักดิ์ เปิดเผยว่า ธุรกิจปูนซีเมนต์จะมีความท้าทายเรื่อง “พลังงานสะอาดที่ยังคงมีราคาสูง” การสร้างสมดุลของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังคงให้ธุรกิจเดินหน้าไปพร้อมกับผลกำไรด้วยเช่นกัน โดยในปัจจุบัน SCG ก็เปลี่ยนผ่านจาก “พลังงานถ่านหิน” ไปสู่ “พลังงานชีวมวล” โดยในปี 2023 สามารถลดพึ่งพาพลังงานถ่านหินไปได้แล้ว 40% แต่แน่นอนว่ายังไม่สามารถหันไปใช้พลังงานที่สะอาดกว่าอื่นๆได้เนื่องจากยังมีราคาสูง นี่คือความท้าทายเพราะแม้ปัจจุบันจะหยุดใช้ถ่านหิน แต่ก็ยังห่างไกลกับเป้าหมาย Net Zero อยู่มาก ซึ่งหากจะบรรลุเป้าหมายได้ก็จะเป็นต้องเปลี่นยกระบวนการผลิตมุ่งสู่การผลิต “ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ” ในราคาที่เข้าถึงได้ด้วย

3. การใส่เป้าความยั่งยืนสู่กลยุทธ์หลักของธุรกิจ

คุณอิซาโอะ ยกตัวอย่างแนวทางของ Nissan ในการผลักดันเป้าหมายความยั่งยืนผ่าน 4 เสาหลักซึ่งไม่ใช่แค่ Nissan เท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด นั่นก็คือ

  1. EV – การผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าที่ Nissan เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่รถยนต์ EV วางตลาด
  2. E-power รถยนต์เทคโนโลยีไฮบริดเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างสมดุลย์ระหว่างการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและการยังคงไว้ซึ่งผลกำไรในการทำธุรกิจควบคู่กัน
  3. กระบวนการผลิต – การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม
  4. เทคโนโลยีใหม่ – การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

4. Boeingกับเคล็ดลับการฟื้นฟูธุรกิจหลังโควิดพร้อมกับความยั่งยืน

กรณีศึกษาที่น่าสนใจในการผลักดันการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนก็คือบริษัท Boeing โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่คุณร็อบเล่าว่าในช่วงนั้นแม้กิจกรรมการบินจะหมายไปเกือบ 90% แต่ แต่การเดินหน้าความยั่งยืนไม่ได้หยุดลงแต่กลับได้รับการผลักดันมากยิ่งขึ้นในช่วงปี 2020-2023 ซะด้วยซ้ำและไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริษัท Boeing เท่านั้นแต่เกิดขึ้นตลอดทั้งวงการอุตสาหกรรมการบินที่มีการประกาศเป้าหมาย Net Zero ขึ้นตั้งแต่ปี 2021 ในขณะที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่มีสมาชิก 193 ประเทศทั่วโลกก็ออกมาประกาศเป้าหมาย Net Zero ร่วมกันไว้ที่ปี 2050

คุณร็อบ บอย์ด ผู้บริหารระดับภูมิภาคดูแลด้านนโยบายความยั่งยืนและพันธมิตร บริษัท Boeing

ในส่วนของ Boeing เองก็มีการผลักดันอยางจริงจังเช่นมีการตั้งผู้บริหารระดับ C-Level ตำแหน่งใหม่อย่าง Chief Sustainability Officer ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อผลักดันด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3) โดยเฉพาะไม่ใช่แค่ความยั่งยืนในกระบวนการทำธุรกิจของ Boeing เพียงอย่างเดียวโดย Boeing ตั้งเป้า Net Zero ไว้ที่ปี 2030 เร็วกว่าเป้าหมายของอุตสาหกรรมการบินถึง 20 ปี

5. “เทคโนโลยี” สิ่งสำคัญสู่เป้า Net Zero

เทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ตัวแทนจากทุกบริษัทบนเวทีเสวนาเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ ซึ่งคุณธรรมศักดิ์ ยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่ SCG ใช้ในการสร้างสมดุลระหว่างความยั่งยืนและการสร้างผลกำไรไปควบคู่กันอย่างเทคโนโลยี “ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ” ที่มีราคาเข้าถึงได้ เทคโนโลยี “Green Polymer” พลาสติกรีไซเคิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี “บรรจุภัณฑ์” ที่เป็นเมตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นต้น

 

ด้านคุณ Arun แห่ง IBM ก็ยกตัวอย่างเทคโนโลยี AI ของ IBM ที่สามารถนำไปช่วยผลักดันธุรกิจหรือองค์กรต่างๆให้เดินหน้าสู่ความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่น “การบริหารจัดการพลังงาน” ตั้งแต่การเก็บข้อมูล ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตรวมถึงคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อสร้างสมดุลในเครือข่ายพลังงานไฟฟ้า ใช้เทคโนโลยี Generative AI ในการเป็นผู้ช่วยมนุษย์ในการตัดสินใจซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศออสเตรเลีย

ส่วนที่สองที่ AI สามารถเข้าไปช่วยได้ก็คือการ “บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” โดยเฉพาะการบริหารจัดการตลอด Value Chain หรือ Scope 3 ตั้งแต่การเก็บข้อมูล ปรับเปลี่ยนกระบวนการและการคาดการณ์

และสุดท้ายคือการใช้ “AI วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังเกี่ยวกับ Climate Change” โดยตรงยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยี AI ของ IBM ที่ร่วมมือกับ NASA ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมจำนวนมหาศาลและนำมาใช้คาดการณ์สภาพอากาศ ความเสี่ยงน้ำท่วม ความเสี่ยงไฟป่าและอื่นๆเป็นต้น นี่คือบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในการเดินหน้าสู่ Net Zero ได้

ทั้งหมดนี้คือ 5 ประเด็นจาก 5 บริษัทระดับโลกกับเประเด็นประเด็นเรื่องความยั่งยืน รวมถึงการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ที่หลายๆองค์กรสามารถนำไปฉุกคิดและปรับใช้ได้ และยังเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าความยั่งยืนหรือ Sustainability ยังเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต้องหันมาให้ความสำคัญไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดของคนยุคเราเท่านั้นแต่ยังเป็นการส่งโลกที่สวยงามต่อให้กับลูกหลานและคนรุ่นต่อไปด้วยเช่นกัน


  • 24
  •  
  •  
  •  
  •