สถาบันการศึกษา คือแหล่งรวบรวมวิชาความรู้ให้กับคนทุกหมู่เหล่า แต่ปัจจุบันในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน สถาบันการศึกษาจะทำเพียงหน้าที่การประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาอย่างเดียวคงไม่พอ ดังนั้น หน้าที่หนึ่งที่สถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญเพิ่มเติมคือ หน้าที่ของการเป็นศูนย์กลางในการผลักดันขับเคลื่อนรับใช้สังคมให้ดีขึ้นด้วย จึงจะเรียกได้ว่าสถาบันการศึกษานั้นๆ ได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์แล้ว
และอีกสถาบันหนึ่งที่ทำหน้าที่รับใช้สังคมมาโดยตลอด ได้แก่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชาติตั้งแต่ฐานรากไปจนถึงมหภาค ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทางสมาคมนิสิตเก่า เอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเชิดชูเกียรตินิสิตเก่าดีเด่น 9 ท่าน ที่มีผลงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรับใช้สังคมและประเทศมาตลอด รวมทั้งยังเป็นการ ฉลอง 35 ปี ความสำเร็จหลักสูตร MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีฯ เป็น MBA ที่ประสบความสำเร็จทำคุณประโยชน์ให้องค์กร สังคม และประเทศชาติในด้านต่างๆ ที่สำคัญยังเป็นการกระชับเครือข่ายทุกรุ่นรวมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศผลักดันสังคมก้าวสู่ยุค 4.0 ที่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
จากแนวคิดดังกล่าวนี้เอง จึงนำมาซึ่งการพัฒนาหลักสูตร MBA ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจุดนี้เอง ที่ รศ. ดร. พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะมาขยายความให้เราฟัง พร้อมกับกล่าวถึงความสำคัญของการจัดงาน ว่า ขอบคุณคณะทำงานทุกคนที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งทำให้เราเห็นว่าพลังของความเป็น MBA คณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ มีมากมายจริงๆ เป็นพลังที่เข้มแข็ง เมื่อเวลาที่เราต้องการแสดงพลังหรือให้รวมตัวกันแบบนี้ก็มีหลายคนเดินทางมากันอย่างคับคั่ง
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสะท้อนภาพของการรวมกำลังเพื่อขับเคลื่อนสังคม ดังนั้น การคัดเลือกนิสิตเก่าดีเด่นต้นแบบ ในปีนี้เราจึงเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น โดยมีทั้งที่ประสบความสำเร็จทั้งในองค์กรเอกชนและภาครัฐ อย่างปีนี้เราเชิญท่านสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นนิสิตเก่าหลักสูตร MBA Regular รุ่น 1 มาเป็นเกียรติรับรางวัลด้วย สะท้อนว่านิสิตเก่าของเราทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นแรก เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพอย่างแท้จริง
สำหรับหลักสูตร MBA CU นั้น เราก็มองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกๆ ส่วน ดังนั้นในส่วนของหลักสูตร เราก็มีแนวคิดที่จะดึงเอาศักยภาพของนิสิตเก่าของสถาบันมาร่วมเป็น Mentor หรือเป็นที่ปรึกษา เพื่อที่นิสิตจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของบุคคลที่ประสบความสำเร็จแล้วในอาชีพการงาน นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมกับหลักสูตร Harvard Business Case มาใช้ในการเรียนการสอนด้วย เพื่อให้นิสิตได้ศึกษาเคสต่างๆ ทั้งที่ซัสเสสและที่เฟล์ โดยเฉพาะยุคของการที่ดิจิทัลกำลังเข้ามา Disrupt ทุกๆ ธุรกิจในปัจจุบัน
“โลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้น เราไม่อาจปฏิเสธว่าทุกๆ ธุรกิจกำลังถูก Disrupt จากเทคโนโลยี ดังนั้น หลักสูตรและการเรียนการสอนเราย่อมต้องปรับตัว ซึ่งการศึกษาจากรุ่นพี่ก็ดี หรือการเรียนจากกรณีศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะกรณีศึกษาระดับโลก ทำให้เรารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถอยู่รอได้ในยุคของการ Disruption”
นอกจากนี้ ผู้ได้รับรางวัลนิสิตเก่าต้นแบบ ทั้ง 9 คน ยังแสดงทัศนะในเรื่องของการรวมพลังขับเคลื่อนสังคม เป็นธงชัยผลักดันประเทศไปสู่ ยุค 4.0 ผ่านมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไปตามความเชี่ยวชาญในสายอาชีพของแต่ละท่าน ลองมาฟังความเห็นของแต่ละท่านกันดูค่ะ
1.คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ MBA Regular รุ่น 1
คุณสนธิรัตน์ กล่าวถึงความภาคภูมิใจในการเป็นนิสิตเก่ารั้วเอ็มบีเอ จามจุรีว่า มันคือความภูมิใจ และความเป็นจุฬาลงกรณ์นั้นมันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเรียนเตรียมอุดมศึกษา รวมทั้งปริญญาตรีด้วย และได้รับเกียรติให้ได้รับรางวัลนิสิตเก่าต้นแบบก็ยิ่งภาคภูมิใจในความเป็น MBA Regular รุ่น 1มากขึ้นไปอีก
ในส่วนของการทำหน้าที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ตนก็มองว่า รัฐบาลมีกรรมาธิการที่ต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศโดยเฉพาะผลักดันด้านเศรษฐกิจให้ก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งตนมองว่า MBA CU คือแหล่งผลิตบุคลากรชั้นหัวกระทิ หรือจะเรียกว่าชั้นครีมก็ได้ มีบุคคลที่มีศักยภาพมากมาย ตรงส่วนนี้เองตนจึงอยากจะเป็นสะพานเชื่อมให้นิสิตเก่าของเราได้เข้ามาช่วยงานรัฐบาลมากขึ้น ในส่วนของการเป็นกรรมาธิการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายประชารัฐ และในส่วนของภาคเอกชน และภาคประชาสังคมนี่เองที่พวกเรานิสิตเก่า MBA CU สามารถเข้ามาช่วยรัฐบาลได้เลย
“การทรานส์ฟอร์เมชั่น 4.0 นับเป็นความจำเป็นที่เรียกว่า The Must เลยของประเทศ เพราะเราต้องนำพาประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น จากนี้ไปเราจะต้องดึงศักยภาพของคน MBA CU เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศให้มากขึ้นให้ได้”
2.คุณบัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผ้าทอไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส ที เท็กซ์ไทล์ จำกัด และบริษัทในเครือ MBA Executive 2
คุณบัณฑิต กล่าวถึงการรวมพลังของนิสิตเก่า MBA CU ว่า เราจะเชื่อมโยงทุกคน ไม่ใช่แค่ตัวเองหรือสมาคม MBA แต่รวมถึงคนรอบข้างทุกๆ คน ให้มีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน จากทั้งพี่ๆ และเพื่อนๆ ชาว MBA จุฬาฯ เพราะนิสิตเก่าของเราแต่ละคนล้วนมีศักยภาพกันแทบทั้งสิ้น ดังนั้น พลังของพวกเราน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อสังคมได้
คุณบัณฑิต ยังได้ให้ความเห็นถึงการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจว่า ปัจจุบันโลกพัฒนาเร็วมาก แต่ก่อนจะค้าขายผ้าทอนี่ เราต้องมานั่งคุยกัน มานั่งจับผ้า แต่ปัจจุบันทุกอย่างมันเป็นออนไลน์ไปหมดแล้ว เราต้องกลายเป็นคนที่เตรียมข้อมูลต่างๆ ให้ผู้บริโภค ให้เขาตัดสินใจซื้อโดยที่ไม่ต้องจับผ้าเหมือนแต่ก่อน และเร็วๆ นี้เรายังเล็งเห็นการนำเอาวัสดุผลิตผลของไทย เช่น กล้วย สับปะรด บัว นุ่น เป็นเส้นใยธรรมชาตินำไปขายยังตลาดโลก ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เรียกว่า Green Technology Zero Waste ซึ่งมั่นใจว่าเป็นที่ต้องการของตลาดโลกแน่นอนเพราะปัจจุบันมีแต่การนำเอาเส้นใยสังเคราะห์ไปทำให้เหมือนธรรมชาติแต่เราเอาของธรรมชาติแท้ๆ ไปขายซึ่งน่าจะได้เปรียบกว่า
“ดังนั้น การปรับตัวที่สำคัญ คือเราต้องพัฒนาบุคลากรของเราให้สามารถแข่งขันได้กับทุกสิ่ง แข่งขันทั้งกับตัวเอง และคู่แข่งโลกเปลี่ยนเร็วแค่ไหน เราต้องเรียนรู้และเตรียมตัวให้พร้อมให้ได้”
3.คุณสุวัฒน์ วสะภิญโญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 เฮ้าส์ดีไซน์ จำกัด MBA Executive 5
คุณสุวัฒน์ กล่าวถึงเหตุผลที่ได้รับรางวัลนี้ว่า ในชีวิตการทำงานนั้นได้ก็คลุกคลีอยู่แวดวงสถาปนิกมาตลอด ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในสภาสถาปนิกไทยด้วย ซึ่งในส่วนนี้เองตนก็ได้ทำหน้าที่ให้กับสังคมค่อนข้างมากทีเดียว กอปรกับการเป็นนิสิตเก่า MBA CU ที่เมื่อจบแล้วได้ไปสร้างกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ มากมาย ดังนั้น คิดว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ตนได้รับคัดเลือกในการเป็นนิสิตเก่าดีเด่น ต้นแบบที่ดีของ MBA CU นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของตนเองอย่างมาก
คุณสุวัฒน์ ยังกล่าวถึงการเรียนของ MBA CU ว่า มีประโยชน์กับตัวเองมาก เพราะที่ผ่านมาตัวเองนั้นรู้ลึกในเรื่องของศาสตร์ของการออกแบบ เรื่องของสถาปนิกมากกว่า แต่พอได้มาเรียนรู้ด้านการบริหารจากสถาบันแห่งนี้แล้ว ช่วยได้เยอะโดยเฉพาะในการบริหารบริษัทของตัวเอง สำหรับบริษัทของตนนั้นมีบริษัทลูกในเครือมากมาย ดังนั้น ต้องอาศัยหลักในการบริหารจัดการค่อนข้างสูง ซึ่งการเรียน MBA ที่นี่ช่วยให้เรารู้เรื่องการบริหารองค์กรได้ลึกซึ้งมากขึ้นทีเดียว ยิ่งทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นนิสิตเก่าของ MBA CU อย่างมาก
“กับเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารธุรกิจ ในส่วนของตนที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและเป็นสถาปนิก มองว่าสำคัญอย่างมาก เพราะในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปมากนั้น ตนคิดว่าเราก็ควรที่จะเรียนรู้เทคนิค และเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อมาใช้ในการทำงาน เพราะนอกจากจะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นแล้วก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายลดต้นทุนได้อีกด้วย ดังนั้น การทรานส์ฟอร์เมชั่นของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่สังคม 4.0 กำลังมาแล้ว ทุกคนควรที่จะต้องเรียนรู้และการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือและตั้งรับให้ดี”
4.ดร.ธนพล ก่อฐานะ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา MBA Executive 6
ดร.ธนพล กล่าวถึงความยินดีที่ได้รับรางวัลว่า รู้สึกดีใจ และเป็นเกียรติ ขอขอบคุณคณะกรรมการทุกคนมาก ๆ ที่เลือกมอบรางวัลนี้ให้กับผม หวังว่าการได้รับรางวัลครั้งนี้จะเป็นการให้กำลังใจแก่คนรุ่นหลัง ทำให้เรามีศักยภาพมากขึ้น สอดคล้องนโยบาย Thailand 4.0
“นอกจากนี้ ในฐานะนิสิตเก่า คิดว่าการจะดึงศักยภาพของตนและนิสิตเก่าท่านอื่น ๆ มาร่วมผลักดันประเทศไปสู่การพัฒนาตามนโยบาย 4.0 ได้นั้น นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะพวกเราทุกคนมีความเหนียวแน่นอยู่แล้ว และเราจะช่วยส่งเสริมกันและกันตลอดเวลา ฉะนั้น ความเหนียวแน่นนี้จะทำให้เราพัฒนาศักยภาพของเรา และนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้”
5.ภก.ธนากร อุ่นปิโยดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอโรแคร์ จำกัด และ บริษัท อินแพคฟาร์มา จำกัด MBA Executive 8
คุณธนากร กล่าวถึงความเข้มข้นของเลือดสีชมพูว่า ความเป็นจุฬาฯ มันอยู่ในสายเลือดของตนเลย ตั้งแต่เรียนเตรียมอุดมศึกษา จนถึงเรียนปริญญาตรี แล้วก็ยังเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของมหาวิทยาลัยด้วย เรียกว่ามีเลือดสีชมพูมาโดยตลอด พอเรียนจบตอนนั้นก็ยังทำงานในบริษัทอยู่ แต่ก็มีแรงบันดาลใจว่าเราน่าจะมีวิชาเรื่องการบริหารจัดการเข้ามาเสริมด้วย ก็เลยมีความคิดว่าจะต้องเรียนต่อ ซึ่งตอนนั้นก็อายุค่อนข้างเยอะแล้วแต่คิดว่าการเรียนไม่จำกัดเรื่องอายุถ้าเราใฝ่ที่จะเรียนรู้ จึงตัดสินใจเรียน MBA CU
“เรียนไปเรียนมาจนเข้าใจมากขึ้น และเกิดความคิดว่าทำไมเราไม่เปิดบริษัทของตัวเองดู ซึ่งก็ได้ใช้วิชาความรู้จาก MBA CU มาใช้ในการบริหารธุรกิจเปิดบริษัทยาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ด้านเมเนจเมนต์ ออเปอร์เรชั่น แลไฟแนนซ์ จนเจริญก้าวหน้าธุรกิจก็เติบโตและมีกำไรทุกๆ ก็ต้องขอบคุณสถาบันแห่งนี้ที่สร้างให้ผมมีทุกวันนี้ได้”
ในเรื่องการชักชวนเพื่อนๆ นิสิตเก่ามาร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะว่านิสิตเก่า MBA CU เป็นบุคคลที่เก่งมีความสามารถ หลายคนก็เป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน ถ้ามีโอกาสได้ออกมาทำอะไรร่วมกันในสังคมน่าจะเป็นเรื่องที่ดี โดยที่แต่ละคนก็ช่วยเหลือกันในส่วนที่ตัวเองถนัดและมีความสามารถ คนละไม้คนละมือก็จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้
6.คุณสุทธิ สุขบุญทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยโอโนโน่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ในเครือ MBA Executive 9
คุณสุทธิ กล่าวถึงการรวมตัวของนิสิตเก่าเพื่อขับเคลื่อนสังคมในโลกดิจิทัลว่า ส่วนตัวคิดว่าสมาคมนิสิตเก่า เอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถช่วยในการผลักดันพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ไปในแนวทางของโลกยุคดิจิทัลได้ เพราะทุกวันนี้ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเป็นไปได้ อยากให้นิสิตเก่าและจุฬาฯ จัดคอร์สที่ได้รวมตัวกันบ่อยๆ เพื่อดึงคนเก่าๆ ทั้งหลายได้กลับมารวมตัวกัน ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์และความรู้ เพื่อที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถกันต่อไป
“โลกเปลี่ยนเร็วมาก ในฐานะผู้บริหารแล้ว เราต้องคอยติดตามข่าวสารเทคโนโลยีต่างๆ เพราะในปัจจุบัน Startup เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งในส่วนนี้ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญและความสนใจเป็นอย่างมาก”
ส่วนสิ่งที่อยากจะฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ MBA จุฬาฯ คุณสุทธิ บอกว่า การศึกษาที่นี่มีความรู้ต่างๆ ให้มากมาย แต่การศึกษาไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน หรือในมหาลัยฯ อยากให้ทุกคนสังเกต เรียนรู้ จากการศึกษานอกห้องเรียน แล้วนำประสบการณ์มาแชร์ มาแบ่งปันกับคนอื่นให้เกิดประโยชน์ต่อไป
7.ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) MBA Executive 17
ดร.อนุรักษ์ กล่าวถึงการรับรางวัลทรงเกียรตินี้ พร้อมพูดถึงแนวคิดการร่วมกันขับเคลื่อนสังคมว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับเกียรติให้ได้รับรางวัล นิสิตเก่าต้นแบบจาก MBA CU คิดว่าสิ่งที่ทำให้ได้รางวัลเพราะตลอดชีวิตการทำงานตนจะทำงานในระดับรากหญ้าเพื่อชุมชนมาตลอด ทำให้คิดว่าตรงนี้ทางสถาบันน่าจะมองเห็นความสำคัญกับประชาคมรากหญ้า จึงคิดว่าคนที่ทำงานด้านนี้น่าจะไปเป็นต้นแบบให้กับคนอื่นๆ ให้ลงมาทำงานให้กับภาคชุมชนมากขึ้น
“ในส่วนของการเรียนกับสถาบัน MBA CU มีส่วนช่วยตนอย่างมากเลย เพราะเราได้นำความรู้เรื่องการบริหารองค์กรไปใช้กับคนในชุมชน ใช้ความรู้ด้านไฟแนนซ์และมาร์เก็ตติ้งไปแนะนำให้คนในชุมชนได้นำไปใช้กับสินค้าผลิตภัณฑ์ของเขา เพิ่มศักยภาพในกับพวกเขาได้ รู้สึกขอบคุณสถาบัน MBA CU อย่างมากที่เห็นความสำคัญในส่วนภาคชุมชนแบบนี้”
8.ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด MBA Executive 18
คุณสุวิทย์ กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนด้านบริหารที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจว่า ด้วยความที่ตนเองเป็นเภสัชกร ซึ่งในปัจจุบันก็กำลังพัฒนาในเรื่องของสมุนไพรไทยอยู่ แต่คือความรู้ของการเรียนเภสัชฯ มันก็คือความรู้ในอีกแขนงวิชาชีพหนึ่ง แต่ศาสตร์ในการบริหารธุรกิจก็เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน กับการได้มาเรียน MBA ทำให้ตนได้รับความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ ทำให้บริหารบริษัทมาจนทุกวันนี้ได้สำเร็จ และทำให้เราต่อยอดธุรกิจด้านยาได้ด้วย Connection ที่เหนียวแน่น ที่สำคัญคือสามารถเป็นแรงในการผลักดันประเทศไปตามนโยบาย 4.0 ได้อย่างมั่นใจ
“ถ้ามีความรู้จาก MBA จุฬาฯ ก็อาจทำให้การบริหารธุรกิจบริษัทยาของผมเป็นเรื่องยาก เพราะเราเรียนมาแต่เรื่องยา เรื่องของสมุนไพร ยิ่งทุกวันนี้โลกหมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่เรียนรู้และปรับตัวสร้างตลาดนีชให้เป็นตลาดแมส ก็คงดำเนินธุรกิจได้ยาก โดยเฉพาะกับธุรกิจพืชสมุนไพรที่คนมองว่าเป็นเรื่องโบราณ แต่เมื่อได้รับความรู้จาก MBA ก็ทำให้เราปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลได้เร็วขึ้น เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดีขึ้น ซึ่งผมมองว่าสำคัญมากสำหรับนักธุรกิจในปัจจุบัน”
9.นพ.ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ MBA Executive 22
คุณหมอธนกฤต ให้ความเห็นเรื่องการศึกษาด้านบริหาร กับการทำงานแพทย์อย่างน่าสนใจว่า ต้องขอบคุณคณะกรรมการของ MBA CU ที่กรุณามอบรางวัลนี้ให้ กับการเรียนหลักสูตรของ MBA CU ตนได้นำมาปรับใช้กับการบริหารงานโรงพยาบาลมากเลยทีเดียว เพราะองค์ความรู้ทางแพทย์ที่เราเรียนมาอาจจะไม่พอในการบริหารงาน แต่เมื่อได้เรียนกับทางสถาบันก็นำมาใช้ในการบริหารได้ผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยตอนนี้กำลังก้าวสู่การเป็น Medical Hub ที่ทั่วโลกบินมาหาเรา เพราะการแพทย์ของเราก้าวหน้าไปมาก และค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผล และที่สำคัญก็คือบริการประทับใจคนต่างชาติ ทำให้ธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์ของเราเติบโตแบบก้าวกระโดดมากทีเดียว ดังนั้น จึงเห็นความผู้บริหารในหลายๆ สาขารวมทั้งด้านการแพทย์ ควรที่จะเสริมสร้างศักยภาพความรู้ทางด้านการบริหารไว้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในการ Transformation 4.0”
ในตอนท้าย คุณนายชาติชาย พยุหนาวีชัย นายกสมาคมนิสิตเก่า เอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้นำคนสำคัญของนิสิตเก่า MBA ก็ให้ความเห็นถึงเรื่องการดึงศักยภาพของเหล่านิสิตเก่า MBA CU ให้รวมพลังกัน โดยกล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 35 ปี หลักสูตร MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมฯ จัดกิจกรรมฉลองความสำเร็จ มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ นิสิตเก่าดีเด่นในงาน 35th MBA CU Anniversary and Reunion 2017 โดยได้ทำการคัดเลือกนิสิตเก่าทุกรุ่นที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติโดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมและประเทศมารับรางวัลเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับคน MBA ต่อไป
“นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้อง ซึ่งสมาคมฯ มีความมุ่งหวังที่จะปลุกกระแสให้นิสิตเก่า MBA ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมร่วมกัน การรวมตัวกันก็จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเทศไปสู่การทรานส์ฟอร์เมชั่นสู่สังคม 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลได้ และเรามุ่งหวังที่จะเป็น ต้นแบบให้กับสมาคม MBA อื่นๆ เพราะไม่ใช่แค่การทำประโยชน์เพื่อมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่เราจะทำเพื่อสังคมจะเปิดกว้าง เป็นต้นแบบให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม เราจะเชิญนิสิตเก่าทุกๆ ท่านมาร่วมกันพัฒนาประเทศด้วยกัน เพราะมั่นใจว่าทุกคนมีความพร้อมทั้งศักยภาพและความรอบรู้อยู่แล้ว”
ครบรอบ 35 ปีของการเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น 35 ปีที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพของการผลิตบุคลากรระดับหัวกระทิสู่สังคม อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การรวมตัวของกลุ่มคนชั้นนำของประเทศ โดยเฉพาะนิสิตเก่าของ MBA CU เพื่อร่วมกันทำสิ่งดีๆ ตอบแทนสังคม น่าจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้สามารถนำพาประเทศ ก้าวไปสู่โลกดิจิทัล 4.0 ได้อย่างมั่นคง และทัดเทียมนานาชาติได้อย่างแน่นอน
สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ จากสมาคมนิสิตเก่า เอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่นี่ www.mbachulaalumni.com/ , www.facebook.com/mbachulaalumni/