ใครๆ ก็เป็น KOL ได้ แต่ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดและสร้างเม็ดเงิน สรุปประเด็นจากเวที Creative Change 2025

  • 5
  •  
  •  
  •  
  •  

ในงาน Open House & Synergy Talk: Creative Change 2025 โดย BrandThink งานทอล์คเปิดบ้านที่ชวนสื่อมวลชนและพาร์ทเนอร์มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในโลกครีเอเตอร์ ธุรกิจ และภาพยนตร์ มีประเด็นน่าสนใจจากเซสชั่น Influencer Changes ที่ว่า ยุคนี้ใครๆ ก็เป็น KOL ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างเม็ดเงิน สร้างรายได้ และอยู่รอดได้อย่างมีมูลค่าในตัวเอง ไปฟังคำตอบกัน 

ทำคอนเทนต์ตามเทรนด์ได้ แต่ต้องหาความต่าง และสร้างคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่น – คุณเติ๊ด เทพลีลา (ภูถิรพัฒน์ อ่องศรี)

ตอนนี้ทุกคนเป็น KOL ได้ แต่สมมุติเราเปิด short platform ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น TikTok YouTube หรือ Reel มันมีความเป็นเทรนด์สูงมาก หมายความว่าเราเห็นคนทำอะไรเหมือนๆ กันเลย แต่แค่เปลี่ยนคน ซึ่งตอนนี้ได้อยู่ แต่พอไปเรื่อยๆ ด้วยความที่ไม่มีความแตกต่าง ผมว่ามันเหมือนฟองสบู่ เดี๋ยวมันจะแตก ซึ่งแต่ละเทรนด์ก็สั้น แล้วเปลี่ยนไปเทรนด์อื่น 

ผมเชื่อว่าถ้าเราจะเป็น KOL ที่หาเงินได้ และเป็นอาชีพจริงๆ ต้องแตกต่าง พี่เหว่งพูดบ่อยมาก การที่เราต้อง Niche ต้องมีความสนใจในเรื่องหนึ่ง ถึงกลุ่มเราจะไม่ได้เป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่โต แต่เหนียวแน่น ซึ่งเราเห็นตัวอย่างมาหลากหลายมาก ที่เขาเหนียวแน่นและอยู่มายาวนาน โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งเทรนด์ตลอดเวลา 

จริงๆ เทรนด์ก็ดี ถ้าเราเริ่มกระโดดมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วทำตามเทรนด์บ้าง มันเหมือนเป็นการเปิดการมองเห็นให้คนเข้ามาในจักรวาลเรา แต่พอเข้ามาในจักรวาลเราแล้ว ในนั้นเรามีอะไร หรือว่าเราแค่ทำไปตามเทรนด์เหมือนคนอื่นตลอดเวลาร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่อง อย่างนั้นก็คงจะไม่รอด

เราจะเป็นส้มแบบไหนในแผงส้มที่เหมือนๆ กันในตลาด – คุณเหว่ง เทพลีลา (ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์) 

เดี๋ยวนี้ใครก็ลงคลิปได้ มียอดวิวเป็นหลักล้าน แต่จะให้มันคงที่แบบนั้นโดยเอนเกจดีสม่ำเสมอ มันยากมากเหมือนกัน เพราะปัจจุบันคอนเทนต์เยอะมาก คนดูก็เบื่อเร็ว บางทีโผล่มาแป๊ปเดียวก็สไลด์ทิ้ง อะไรที่จะทำให้เขาอยู่ดูได้ บางทีมันเป็นแบบที่เติ๊ดบอกคือ ทำคอนเทนต์ซ้ำๆ เหมือนๆ กันตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งตัวตนไม่ออก พอตัวตนไม่ออกก็เหมือนส้มในตลาด ส้มเหมือนกันทั้งแผง แต่เราเป็นส้มแบบไหน เราเป็นส้มสีชมพูหรือเปล่า ที่ทำให้คนเห็นในแว้บแรก สะดุดตาที่สุดในกลุ่มคอนเทนต์ แล้วส้มลูกนั้นเขียนหน้ายิ้มด้วยหรือเปล่า แล้วแกะชิมแล้วหรือยัง 

ผมว่ามันคือความแตกต่างตรงนี้มากกว่าที่ทำให้ดูโดดเด้งขึ้นมาได้ เราต้องเข้าใจตัวเอง และต้องสื่อสารกับคนที่เป็นทาร์เก็ตกรุ๊ปแบบตรงไปตรงมา แล้วเขารู้จักเราจริงๆ หลายๆ ครั้งน้องๆ ที่เป็นดารานักแสดงหรือว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นไอดอล เขาอยากจะโดดลงมาในวงการที่เป็น KOL หรือเป็นครีเอเตอร์ เขาพยายามอยู่ แต่บางคนแตะไม่ถึงจุดนั้นสักที เป็นเพราะว่าน้องๆ อาจจะเป็นโมเดลที่ถ่ายภาพสวย แต่คนที่ดูน้องยังไม่รู้จักน้องเลยว่าน้องชอบกินอะไรแบบไหน ยังไม่รู้จักนิสัยน้องบางอย่างที่น้องสามารถเปิดเผยได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดทุกอย่าง แต่ถ้าเขารู้จักเราในระดับหนึ่ง ความใกล้ชิดระหว่างคนดูกับตัวเขาจะซิ้งค์กัน แล้วเขาจะเริ่มรักเรามากขึ้น เราจะเริ่มรักเขามากขึ้น จะเกิดความผูกพันและเป็นคอนมูนิตี้ที่เหนี่ยวแน่นมากขึ้น 

‘ชัด เชื่อ เชนจ์’ – คุณแท็ป จาก FUME HOUSE (ดวิษ ประภายนต์)

ผมพูดในมุมคนที่ทำกลยุทธ์และเป็นแบรนด์ที่เคยเลือก KOL ผมว่ามี 2-3 คำที่จำเป็น อย่างแรกคือคำว่า ‘ชัด’ ผมว่าอย่างที่ใครๆ ก็บอก พอมันทำเหมือนๆ กันหมดเลย เวลาเราดูเรารู้ว่ามันหาจุดร่วมไม่ได้ว่า ไอ้ความชัดของคุณคืออะไร เที่ยวก็เที่ยวกันหมด แต่คำถามคือความชัดนี้มันคือแบบไหนที่จะทำให้ follower เขาเกิดคำที่สองคือคำว่า ‘เชื่อ’ ผมว่าวันนี้ความสำคัญที่สุดเลยในหลายๆ ช่องที่มันเพอร์ฟอร์มแล้วมันยังอยู่ได้ แล้วมันสามารถจะไดรฟ์คอนเวอร์ชั่นได้ คือ แฟนเบสเขาเชื่อ มันความบีลีฟคอนเนคชั่นบางอย่างกับช่องนี้ว่าเราเป็นพรรคพวกเดียวกัน เราเชื่อเหมือนเขา เราคิดเหมือนเขา เราชอบเขา แล้วเวลาเขาชวนมาทำอะไร มันก็จะเกิด synergy ได้ง่ายกว่าการที่เป็นแค่คอนเทนต์ที่ทำให้คนดูแต่ไม่เกิดความเชื่อร่วมกัน 

คำสุดท้ายผมเอาเข้าธีมงานเลย คือ ‘เชนจ์’ ปัจจุบันพอไซเคิลมันเปลี่ยนเยอะ ผมว่าทุกวันมันเกิดคอนเทนต์ใหม่ตลอดเวลา ถ้าเรายังทำท่าแบบเดิมๆ เราคิดว่าวันนี้เราชัดที่สุดแล้ว เราเชื่อแล้ว มันอาจจะภายในไม่กี่วันก็หมดอายุแล้วหรือเปล่า ผมจะมองเป็นสามคำนี้มากกว่า เป็นคอนเซ็ปต์ประมาณหนึ่งว่า มันน่าจะเป็นอนาคตของวงการ

บางครั้งแบรนด์ก็อยากได้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์จริงๆ – คุณโจ จากมาม่า (เพชร พะเนียงเวทย์)

ผมพูดในฐานะคนใช้อินฟูเอนเซอร์ ผมเป็นแบรนด์ที่แมสมาก มาม่าทุกคนก็รู้อยู่ คือเราใช้เอเจนซีเป็นเรื่องปกติ แต่พอผมโดดลงมาเองปุ๊ป เราได้คุยตรงกันอินฟลูเอนเซอร์หลายท่าน ทุกคนบอกว่า อ้าว อยากได้อย่างนี้เหรอ ทำไมตอนที่ผ่านเอเจนซีมันเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมบอกผมก็ไม่รู้

คือผมบอกว่า มาม่า คุณจะทำอะไรก็ได้ ทำไปเลย เพราะมาม่ามันแมสมาก ทำอะไรออกไปมันต้องโดนสักคน แต่ว่าผมต้องการความต่าง ผมพาอิ้งค์ (วรันธร) ไปออกรายการ Buff Talk ผมก็คิดว่าทำไมต้องเอาสินค้าไปตั้งอยู่ข้างหลัง หรือไปตั้งอยู่ข้างหน้า ผมก็บรีฟว่าจะอะไรก็ได้ ผมไม่ขอเห็นมาม่า แล้วอิ้งค์มีสินค้ากี่ตัวพูดได้ทุกยี่ห้อเลย ไม่ต้องพูดถึงมาม่าอย่างเดียว เขาบอกผมก็เพิ่งเคยเจอลูกค้าอย่างพี่นี่แหละ ผมอาจจะแปลก แต่ผมแค่รู้สึกว่าถ้าผมจะขายตรง ก็ขายตรงๆ ไปเลย แต่ถ้าเกิดผมจ้างอินฟลูเอนเซอร์ ผมเข้ามาหาอินฟลูเอนเซอร์แล้ว ผมอยากได้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ คือผมไม่อยากจะบอกอินฟลูเอนเซอร์ว่าให้ทำแบบนั้นแบบนี้สิ เอาแบบที่คุณเป็น เพราะผมไม่ใช่คุณ คุณทำเลย


  • 5
  •  
  •  
  •  
  •