ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าวคราวการถูกแฮกข้อมูล โดยเฉพาะการแฮกข้อมูลเพื่อนำมาเรียกค่าไถ่ (แถมเรียกเป็นเงินดิจิทัลเพื่อหลีกเลี่ยงการติดตามและตรวจสอบอีกด้วย) ซึ่งในระดับองค์กรอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ที่มีข้อมูลรั่วไหลออกไปจำนวนมาก แต่สิ่งที่หลายคนต้องทราบองค์กรขนาดใหญ่มักจะมีผู้เชี่ยวชาญในการดูแลและแก้ไขปัญหา รวมถึงระบบที่ช่วยลดรุนแรงของสถานการณ์ ทำให้บางครั้งข้อมูลที่รั่วไหลไปเป็นข้อมูลทั่วไปที่แทบไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
แต่สำหรับคนทั่วไป หากถูกเจาะข้อมูลแน่นอนว่าเป้าหมายส่วนใหญ่คือเรื่องเข้าถึงตัวตนของคนนั้นเพื่อปลอมตัวให้เข้าถึง “การเงิน” และหากเจาะเข้าระบบการเงินไม่ได้ ก็ต้องเรียกค่าไถ่ข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งปราการป้องกันที่สำคัญคือ Password แต่เพราะพฤติกรรมหลายคนที่เน้นความสะดวกสบาย เลยนิยมตั้ง Password ชุดเดียวกันแต่ใช้กับทุกที่ ซึ่งหมายความว่าเมื่อถูกเจาะ Password ได้ ทุกๆ ที่ใช้ Password นั้นจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมื่อไม่มีอะไรมาป้องกัน แถมคนส่วนใหญ่นิยมใช้ Password ง่ายๆ เพื่อให้สะดวกในการเข้าใช้งาน อาทิ 000000, 123456, 987654
นอกจากเรื่องของภัยคุกคามแล้ว การใช้งานก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเสี่ยงให้เกิดขึ้น สำหรับผู้ใหญ่น่าจะเข้าใจและรู้จักพฤติกรรมความเสี่ยงต่างๆ แต่สำหรับเด็กๆ เยาวชนที่ทุกวันนี้ใกล้ชิดเทคโนโลยีมากกว่าผู้ใหญ่ ยังไม่เข้าใจพฤติกรรมความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านเทคโนโลยี และการใช้ชีวิตในสังคม เช่น การล่อลวง การละเมิดสิทธิ และการถูกกลั่นแกล้ง (Bully) ประกอบกับในหลักสูตรการศึกษายังไม่มีการบรรจุการสอนวิธีใช้งานเทคโนโลยีที่เหมาะสมลงไปในบทเรียน
นั่นจึงทำให้ Google จัดงาน Safer with Google ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Google for Thailand ตอกย้ำการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้งานในทุกผลิตภัณฑ์ พร้อมประกาศความสำเร็จจากโครงการ Be Internet Awesome ที่ได้ฝึกอบรมครูและนักเรียนไปแล้วถึง 1.5 ล้านคน ทั่วประเทศ และเปิดตัว “Internet Awesome Parents” ซึ่งเป็นชุดวิดีโอคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในด้านความปลอดภัยทางออนไลน์แบบต่างๆ ซึ่งงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของ Google ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Leave no Thai Behind” เดินหน้าในการช่วยลดช่องว่างดิจิทัลและช่วยให้คนไทยทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในโลกดิจิทัล
โดย Google ได้ย้ำถึงความมุ่งเน้นด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยและให้ผู้ใช้เป็นผู้ควบคุมการตั้งค่าต่างๆ ด้วยตนเอง โดย Google มีเครื่องมือที่สามารถควบคุมความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่หลากหลาย เช่น การตรวจสอบความปลอดภัย (Security Checkup) ฟีเจอร์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชี Google, เครื่องมือจัดการรหัสผ่าน (Password Manager) ฟีเจอร์สำหรับจัดการรหัสผ่านซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยคุณสร้าง บันทึก และจัดการรหัสผ่านได้อย่างง่ายดาย รวมไปถึงการค้นหารหัสผ่านที่ปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับทุกบัญชีของคุณบนโลกออนไลน์
รวมถึงอีกหนึ่งฟีเจอร์ การตรวจสอบความเป็นส่วนตัว (Privacy Checkup) ที่สามารถช่วยตรวจสอบความเป็นส่วนตัวและผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวที่เหมาะกับตนเองได้เอง ไม่เพียงเท่านี้ Google ยังมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยได้อย่าง Family Link ที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถบริหารจัดการเวลาการใช้งานเทคโนโลยีของเด็ก รวมไปถึงการตรวจสอบแอปฯ ที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ และ YouTube Kids ที่เป็นแหล่งรวมคอนเท้นต์วิดีโอที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อป้องกันคอนเท้นต์ที่ไม่เหมาะสมมาสู่เด็กๆ ได้
นอกจากนี้ Google ยังได้เปิดตัว “Internet Awesome Parents” ซึ่งเป็นชุดวิดีโอ 6 ตอนที่อยู่ภายใต้หลักสูตร Be Internet Awesome ที่ Google ได้เปิดตัวไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยเนื้อหาของแต่ละตอนจะเป็นการแนะนำผู้ปกครองให้รู้เท่าทันต่อปัญหาด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์แบบต่างๆ การเลี้ยงดูบุตรหลานในยุคดิจิทัล และการพูดคุยกันในครอบครัวในส่วนของ Digital Wellbeing เพื่อช่วยในการแบ่งเวลาสำหรับออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงการใช้เครื่องมือและแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์เพื่อช่วยให้สมาชิกในครอบครัวท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและควบคุมไลฟ์สไตล์ดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น
โดยทาง Google เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะแก่เด็กไทยด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กๆ ท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น เมื่อต้นปีที่แล้ว Google ได้จัดกิจกรรมโรดโชว์ “Be Internet Awesome” ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยสอนเด็กๆ เกี่ยวกับพื้นฐานสำคัญของการเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลและความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กๆ ออกไปท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ
ไม่เพียงเท่านี้ หลักสูตร Be Internet Awsome ยังมีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ปกครอง และเกม Interland สำหรับเด็กๆ อีกด้วย ปัจจุบันมีครูและนักเรียนที่ผ่านการอบรมหลักสูตร “Be Internet Awesome” ไปแล้วถึง 1.5 ล้านคน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ Google ได้อัปเดตให้ครอบคลุมหัวข้อใหม่ๆ สำหรับครูอาจารย์ และ “Internet Awesome Parents” เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับ Digital Wellbeing และเรื่องความปลอดภัยในโลกดิจิทัล และทำความเข้าใจเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยให้สมาชิกในครอบครัวท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย
โดยเรื่องของความปลอดภัยจากภัยคุกคามและพฤติกรรมความเสี่ยงจากการใช้งาน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ Google ให้ความสนใจและพร้อมจะที่นำเสนอวิธีการป้องกัน รวมไปการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันภัยคุกคามต่างๆ ที่ปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น หลากหลายรูปแบบและมีึวามรวดเร็วซับซ้อนมากขึ้น