ผันแบรนด์ผ่านการคิดต่างกับ บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ – Apple และ Marketing Oops!

  • 73
  •  
  •  
  •  
  •  

คลิกที่วิดีโอ เพื่อชมย้อนหลัง

ความคิดสร้างสรรค์เกิดได้ทุกทีและตลอดเวลา แต่เราจะสามารถหยิบจับเอามาถ่ายทอดสื่อสารได้อย่างไร ก็เป็นอีกโจทย์ที่สำคัญของนักการตลาด คนสร้างแบรนด์ รวมไปถึงเหล่า Content Creator ต่างๆ ที่ตอนนี้บางคนอาจจะมองว่าเรื่องของไอเดียที่ว่ามันมีอยู่รอบตัวนั้น จริงๆ มันอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะค้นหาออกมาได้ เพราะอาจจะติดด้วยเรื่องประสบการณ์ หรือไม่รู้วิธีในการค้นหาไอเดียต่างๆ ได้อย่างไร

ดังนั้น เป็นโอกาสที่ดีมากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กิจกรรม Today at Apple ภายใต้ความร่วมมือของ Apple และ Marketing Oops! ได้เชิญสปีกเกอร์สาวคนเก่ง ที่เธอนอกจากจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่ใช้จริงและทำงานผ่านเทคโนโลยีของ Apple จริงๆ  มาเล่าประสบการณ์ในการสร้าง Inspiration ของตัวเองแล้วยังถ่ายทอดส่งให้คนรอบข้างด้วย รวมไปถึงวิธีในการค้นหาไอเดียสุดเจ๋งในการสร้างแคมเปญการตลาด เธอคนนั้นไม่ใช่ใครเลย เจ้าแม่บาร์บีคิวพลาซ่า ที่มีพลังบวกล้นเหลืออยู่ตลอดเวลา คุณบุ๋ม บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น (Chief Possible Marketing Officer CPMO) เธอจะมาเล่าประสบการณ์และพูดถึงการปลุกปั้นแบรนด์จนประสบความสำเร็จ ภายใต้หัวข้อ “สตูดิโอเสมือน: ผันแบรนด์ผ่านการคิดต่าง” รวมไปถึงจะมาสอนวิธีการใช้ iMovie เครื่องมือในการตัดต่อวิดีโอง่ายๆ ได้บน iPhone และ iPad ซึ่งเราขอสรุปใจความสำคัญให้ฟังดังนี้

 

 

คุณบุณย์ญานุช เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของตัวเองก่อนที่จะมาเป็นผู้บริหารฟู้ดแพชชั่น และขับเคลื่อนแบรนด์ปิ้งย่างดัง “บาร์บีคิวพลาซ่า” โดยเธอบอกว่า เติบโตมาจากสายเอเจนซี่มาก่อน โดยทำงานอยู่ที่ TBWA ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำให้ฝึกฝนไอเดียสร้างสร้างสรรค์ต่างๆ ต่อมาก็ได้มีโอกาสมาทำงานที่ KTC ซึ่งทำให้เราได้มีโอกาสทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งอย่างจริงจัง ก่อนที่จะมาเรียนรู้งานอีกด้านก็คือธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์กับบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่นฯ และล่าสุดก็คืออยู่ที่ “ฟู้ดแพชชั่น” ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของแบรนด์ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ซึ่งปีหน้าก็อยู่มาครบ 10 ปีแล้ว ล่าสุด ได้มาเป็นเพจของตัวเอง “คิดแบบบุณย์” โดยการเปิดโซเชียลมีเดีย เป็นเหมือนที่ปลดปล่อยอารมณ์อย่างหนึ่งแล้วเทิร์นให้มันเป็น Positive Thinking

 

ความลับ : “จุดเริ่มต้นของการเดินทาง”

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้น สำหรับคุณบุณย์ญานุช มีหลายสิ่งที่ทำให้คิดแตกต่างไปจากเดิม โดยจากภาพนี้ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่เธอถ่ายเอง เป็นภาพของทางเดินของพนักงานเข้าไปสาขาที่ห้างแห่งหนึ่งแถวรังสิต เธอกล่าวว่า ภาพนี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของตัวเอง โดยมองว่า ทุกสิ่งที่เราเห็นว่าสวยงามนั้นแต่บางครั้งจุดเริ่มต้นมันอาจจะเกิดจากความไม่เพอร์เฟ็คก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือก้าวข้ามไปให้ได้

นอกจากนี้ ยังเป็นภาพที่เป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้วางนโยบายหลายอย่างเพื่อไปปรับปรุงเรื่องการดูแลพนักงานให้ดีขึ้นด้วย และเป็นที่มาของการคิดในแบบองค์กรฟู้ดแพชชั่น นั่นก็คือ  Circle of Happiness “วงจรแห่งความสุข”

ส่วนตัวมีความเชื่อว่า “ความรัก” มันทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด หรือมากกว่าที่คนอื่นคิดด้วย ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้คิดว่า Circle of Happiness “วงจรแห่งความสุข” ในมุมธุรกิจมันคืออะไร อย่างเราคือธุรกิจบริการทำร้านอาหารหรือแม้แต่ธุรกิจอย่าง Apple ถ้าพนักงานมีความสุข มีความภูมิใจในความเป็น Apple ไม่ว่าลูกค้าจะเข้ามาถามกี่หมื่นคำถามเราก็พร้อมที่จะให้บริการด้วยความเต็มใจ แม้จะเป็นคำถามซ้ำๆ เดิมๆ แต่เราก็มีความสุขในการให้บริการ และเมื่อลูกค้าได้รับความสุขกลับไปจากการให้บริการของเรา ก็จะกลับมาซื้อสินค้าของเราอีกเรื่อยๆ องค์กรหรือบริษัทก็จะมีรายได้ แล้วเมื่อมีรายได้ที่ดีสิ่งนี้จะย้อนกลับมาในเรื่องการดูแลพนักงานได้อีกเช่นกัน นี่คือวงจรแห่งความสุขที่เราสร้างและคิดว่าองค์กรอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน

 

ความคิดแบบ Ownership และการทำ Branding

คุณบุ๋ม พูดเรื่องการทำงานและวิธีคิดแบบ Ownership ว่า มันคือความทุ่มเทในการทำงาน โดยทำงานให้มีความรู้สึกเหมือนว่าเราเป็นเจ้าของกิจการ ถ้าคิดแบบนี้เวลาเราทำงานเราก็จะทำงานอย่างทุ่มเทชนิดที่เกินจากเงินเดือนแน่นอน และส่วนที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของ “กำไรชีวิต” ที่เราจะได้ ส่วนตัวก็มักจะทำงานแบบนี้มาตลอด “คือจ่าย 100 เล่น 1,000,000”

ในมุมของการทำ Branding กับการทำงานที่ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ในช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปี เราก็ทำไว้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นช่วงสำคัญของการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าเราสะสมแต้มบุญไว้เยอะ เพราะเรื่องของการทำ Branding มันสำคัญมาก อย่างบริษัทระดับโลกที่ต้องยกให้เป็นองค์กรที่ทำ Branding ได้ดีคือ Apple

“การทำ Branding ที่ดีคือการทำทุก Touch Point ที่ลูกค้าสัมผัส”

เมื่อวิกฤตสร้าง ‘โอกาส’

สถานการณ์โควิด-19 ที่ปรับตัวกันสูงมาก แม้จะเป็นช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาที่เหนื่อยมาก แต่ก็เป็นสองปีที่เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมาก เหมือนการชาร์ตแบตที่ดีให้กับชีวิต

“ในช่วงที่เราทำอยู่เราอาจจะรู้สึกท้อหรือว่าเหนื่อย แต่เมื่อได้มองย้อนกลับไป เราจะรู้เลยว่า เราได้เดินมาไกลมากเลย”

#เปิดLiveขายของ

เราคิดว่าน่าจะเป็นบริษัทจำกัดแรกๆ ที่ Live ขายของ ซึ่งจุดนี้ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่อของการทำ Social Commerce

#พี่ก้อนกระดาษ

เปิดไอเดียใช้พี่ก้อนกระดาษ มานั่งทานอาหารกับลูกค้า ในช่วงหลังจากที่ปลดล็อกดาวน์ในเหตุการณ์ระลอกแรก ซึ่งเกิดจากไอเดียง่ายๆ ที่นำของที่อยู่ในสต๊อกค้างไว้ ซึ่งตอนนั้นขายไม่ค่อยดีในวันเด็กมาสร้างวาลูใหม่ ในมุมใหม่ ซึ่งมันอาจจะไม่เวิร์คในตอนนั้น แต่เมื่อได้จับมาถูกช่วงถูกเวลาก็อาจจะประสบความสำเร็จได้ จากที่กลายเป็นสินค้าที่คนขายไม่ได้มาเป็นใครๆ ก็อยากจะได้เป็นจำนวนมาก

#ก้อนทัก

ไอเดียเกิดช่วงโควิดระลอก 3 ซึ่งเกิดจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราต้องทำแต่ธุรกิจ Dining ร้านอาหารเท่านั้น ซึ่งไอเดียนี้อันที่จริงมีมานานแล้วแต่ยังไม่ได้จังหวะเวลาที่ดีที่จะทำ จนได้พาร์ทเนอร์ที่น่ารักอย่าง “แสนสิริ” โดยได้สถานที่ไปจอดที่โครงการของแสนสิริ แล้วก็มีปั๊มน้ำมันด้วย โดยตอนนี้มีจุดจอดทั้งหมด 5 จุดแล้ว

#ตลาดนัดออนไลน์

ส่วนหนึ่งก็คือช่วยธุรกิจรายเล็กๆ อย่าง SME แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อศึกษา Social Commerce ในขณะที่คอนซูเมอร์ก็ได้มาซื้อของในราคาที่ถูกมาก เป็นของดีราคาถูก เป็นความวินวินทั้งสามมุมเลย หลังจากโปรเจ็คต์นี้ปรากฏว่าเราก็ได้ไอเดียดีๆ จากการทำ Social Commerce ในครั้งนั้นเลย เพราะความสำเร็จอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างยอดขายเลยก็ได้

#24DeliveryHub

เกิดช่วงโควิดระลอก 4 ที่ห้างต้องปิดหมด โหดมากสำหรับธุรกิจร้านอาหาร ทำให้เราต้องสู้และคิดแบบ Under Dog Spirit จนในที่สุดก็สามารถเปิดฮับได้ 24 สาขาภายใน 7 วัน ทำให้เราเรียนรู้เรื่องการทำ Supply Chain แบบใหม่เลย รวมทั้งทำให้เรียนรู้เรื่องการแก้ไขในสถานการณ์วิกฤตด้วย

#ข้าวกล่องแทนใจ

โปรเจ็คต์นี้ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเส้นทางสร้างรายได้มากมาย แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการทำ Supply Chain เส้นใหม่อีกเช่นกัน มันเกิดจากการที่มีเสียงเรียกร้องว่าอยากซื้อข้าวบาร์บีคิวไปแจกคนช่วงโควิด เป็นการศึกษาการยิงออร์เดอร์เข้าโรงงาน แล้วให้โรงงานเป็นตัวผลิตสินค้าออมาขายไปตามออร์เดอร์เลย ซึ่งเราอยากลองศึกษาเส้นทางตรงนี้ว่าเป็นอย่างไร เป็นคนละรูปแบบของเส้น Supply Chain ของการทำร้านอาหาร

#น้ำจิ้มบาร์บีคิว

น้ำจิ้มบาร์บีคิวในตำนาน ของบาร์บีคิวพลาซ่า เป็นหนึ่งโปรดักส์ที่ทุกคนเรียกร้องมากอีกเช่นกัน ซึ่งครั้งแรกที่ทำถึงกับระบบล่มเลย 140,000 ข้อความใน 20 นาที ซึ่งการทำสิ่งนี้ก็ทำให้ได้เรียนรู้อีกเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการวางระบบแพล็ตฟอร์ม

#ยืมคืนกระทะไม่ต้องล้าง

การยืมคืนกระทะแบบไม่ต้องล้าง เป็นความคิดที่เกิดจากการมองจากฝั่งของ Consumer เข้ามา ที่เขาอาจจะไม่ชอบล้าง แม้แต่ร้านค้าปิ้งย่างทั่วไปก็ยังทำได้ เราก็ต้องทำได้ และตอนนี้ก็กำลังจะขยับเปิดบริการทั่วประเทศในเร็วๆ นี้

#LicensingPartnership

มันเกิดจากการคิดที่ว่า เราจะหารายได้เพิ่มได้อีกทางไหนบ้าง เป็นการหามุมมองใหม่จากสิ่งที่มี จนเรามามองว่าเราเองก็ลงทุนไปกับ “พี่ก้อน” มาสคอตของเราเยอะมาก แล้วเราจะสามารถหารายได้จากตรงนี้ได้บ้างไหม พอคิดแล้วก็ลงมือทำเลย ตั้งเป้าหารายได้จาก “พี่ก้อน” ให้ได้ 10 ล้านบาท ซึ่งในตอนแรกทุกคนยังสงสัยว่าจะทำได้อย่างไร แต่สุดท้ายก็ทำสำเร็จปิดปลายปีก็ได้ 10 ล้านปลายๆ นับเป็นหนึ่งในความภูมิใจที่เราก็สามารถทำได้ พร้อมกับที่ตอกย้ำถึงความเชื่อหนึ่งของเราเลยว่า “ถ้าคิดว่ามันทำได้มันก็ต้องทำให้ได้” จนตอนนี้ก็มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์มากมายนการทำ Licensing Partnership ไม่ว่าจะเป็น แสนสิร  ห่านคู่  After You เป็นต้น

Inspiration การสร้างแรงบันดาลใจที่แตกต่าง

ในมุมของคุณบุ๋ม แปลงคำว่า “แรงบันดาลใจ” ก็คือ แรงอะไรที่มันขับเคลื่อนทำให้ใจเราทำอยากทำสิ่งนั้น การทำงานที่ผ่านมาทำให้ได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้นว่า เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เราคาดไว้เสียอีก ดังนั้น ถ้าทุกคนสามารถหาได้ว่า แรงอะไรที่มันจะทำให้ใจและกายเกิดไฟในตัว หากวันหนึ่งเราจากไป เราก็อยากให้คนจดจำเราในแบบที่ดี ว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจ

 

5 วิธีคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ แบบ “บุณย์ญานุช”

  1. คิดจากคำถาม เพราะเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับชีวิต และแต่ละคำถามมันเหมือนการ Connecting the dot ไม่แน่ว่าอาจจะทำให้ค้นพบอะไรใหม่ๆ และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นอยากให้ทุกคนได้ฝึกตั้งคำถามและหาคำตอบ
  2. คิดจากปัญหา หรือการคิดจาก Pain Point โดยเฉพาะ Apple หลายๆ ผลิตภัณฑ์ก็คิดจากจุดนี้
  3. คิดนอกกรอบ จำเป็นไหมที่จะต้องเป็นแบบนั้น อันนี้เป็นจุดตั้งต้นที่เราเริ่มคิดนอกกรอบ ว่าถ้าเราทำแบบไม่เหมือนใคร มันจะสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจได้ไหม หรือสร้างประโยชน์อะไรให้สังคมได้ไหม
  4. คิดจากความเข้าใจ อันนี้คิดในมุมของความเข้าใจลูกค้า หรืออยากดูแลพนักงานก็ต้องคิดในมุมของพนักงาน “ลองเอารองเท้าเขามาใส่เราก็จะเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไร”
  5. คิดข้ามธุรกิจ ในมุมนี้ก็อาจจะเป็นการที่เราไปมองมุมธุรกิจอื่นๆ อย่างเวลาคิดอะไรไม่ออกก็อาจจะมาแอบดูว่า Apple เขาคิดอย่างไร เขาปล่อยโปรดักส์ตัวนี้เพราคิดอะไร การคิดแบบ Cross Industry ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมของเขาอาจจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราปรับมาอยู่ในหมวดธุรกิจของเราก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ว้าวไปเลยก็ได้

ทั้งนี้ คุณบุ๋มยังทิ้งท้ายไว้ว่า การลงมือทำก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราเพียงแต่คิดแต่ยังไม่ลงมือทำ ไอเดียต่างๆ ที่เราตั้งเอาไว้ก็ไม่มีทางเกิดได้จริง ดังนั้น คิดแล้วลงมือทำเลยก็จะไปถึงเป้าหมายได้อย่างแน่นอน.


  • 73
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!