ท่ามกลางความวุ่นวายของกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ ใครหลายคนต่างก็บ่นว่าเต็มไปด้วยมลพิษทางกายภาพและมลพิษทางความคิด ทั้งความเครียด ความกดดัน จนแทบจะหาพื้นที่อิสระที่จะปลดปล่อยจินตนาการทางศิลปะแทบไม่ได้เลย
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ใจกลางกรุงเทพฯ ย่านเอกมัย ที่จอแจไปด้วยร้านอาหารและผับบาร์มากมาย ลึกเข้าไปสุดซอยภายในคอมมูนิตี้มอลล์ Acmen Complex ตั้งอยู่ระหว่างซอยเอกมัย 13-15 ยังมีพื้นที่เล็กๆ ที่รอให้คุณมาปลดล็อคจินตนาการ ความคิด และไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ ภายใต้ชื่องานสุดชิคว่า FREEFORM FESTIVAL 2017
FREEFORM FESTIVAL 2017 คือ เทศกาลที่เปลี่ยนอาคารโรงเรียนเก่า โรงเรียนโรจน์เสรี ซึ่งปิดการใช้งานมากว่า 20 ปี ให้เป็นพื้นที่ที่ให้คนเมืองได้ใช้เวลาร่วมกันผ่านงานศิลปะต่างๆ และเป็นพื้นที่ที่คนในครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเทศกาลนี้เริ่มต้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
และด้วยไอเดียของการเชิญชวนให้ผู้คนมารวมตัวกันสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ร่วมกัน ก็ตรงกับแนวคิดของ #WECULTURE ของ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการอินสไปร์สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนมาร่วมมือกันสร้างชุมชนที่น่าอยู่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จึงตัดสินใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน FREEFORM FESTIVAL ในปีนี้
ทั้งนี้ อนันดาฯ ซึ่งมีจุดยืนเรื่องการเป็น Urban Living Solutions ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาชีวิตคนเมืองได้จัดพื้นที่ในแนวความคิดของ “เรือนไทย” ซึ่งเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่คิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ Living solution ที่เข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของผู้อยู่อาศัย โดยสะท้อนปัญหาและจัดแสดงไอเดียชิ้นงานต้นแบบที่อาจเป็นคำตอบของคนเมืองในรูปแบบ Temporary Structure Installationซึ่งเกิดจากการผสมผสานดีไซน์อันทันสมัย และการไม่ยึดขนบเดิมๆ เข้ากับแก่นของเรือนไทยที่ยกใต้ถุนสูง เปิดรับลม ตอบโจทย์ตามสภาพอากาศและภูมิประเทศ มีความยืดหยุ่น สามารถต่อเติมปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลายตามลักษณะของสังคมไทย กลายเป็น Living Solutions ของคนไทยอย่างแท้จริง
ดังนั้น วันนี้เราจะพาคุณไปทัวร์เรือนไทยของอนันดาฯ ซึ่งเราขอเรียกอย่างง่ายว่า “บ้านอนันดา”
บ้านอนันดา
สำหรับ “บ้านอนันดา” นั้น ถูกแบ่งออกเป็นเรือนต่างๆ 8 ส่วนด้วยกัน ตามรูปแบบของเรือนไทย พร้อมกับสอดแทรกปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ไว้ในรูปแบบที่แหวกแนวและคาดไม่ถึง ภายใต้ชื่อ “คบเด็กสร้างบ้าน”
หอนอนและห้องปลดทุกข์
หอนอนและห้องปลดทุกข์ (เว็จ) คือพื้นที่ที่สะท้อนถึงปัญหามลพิษของเมืองหลวง ที่เต็มไปด้วยอากาศเสียและความเครียด เรือนนี้จึงนำเสนอทางออกของปัญหาทั้ง 2 ในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน ได้แก่
- URBAN HERTZ (หอนอน) รู้หรือไม่ เสียงช่วยคลายเครียดได้นะ
สมองของคนเราเป็นเหมือนวิทยุที่ทำงานได้ไม่ดีเวลาที่คลื่นผิดปกติ เช่น เวลาเครียด แต่ถ้าเรารู้สึกสงบ มีสมาธิ สมองของเราก็จะมีคลื่นความถี่อีกแบบหนึ่ง ดังนั้น จะเกิดอะไรถ้าเราใช้คลื่นความถี่ (Frequency) มาช่วยจูนคลื่นสมอง (Brainwave) ทำให้เกิดผลตามที่ต้องการ เช่น คลายเครียดทำให้นอนหลับ หรือช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น ดังนั้น Urban Hertz จึงเป็นการพักผ่อนนั่งเล่น นอนเล่น บนเปลญวน เป็นการจูนคลื่นสมองให้ผ่อนคลายไปกับเสียงเพราะๆ ในงาน รวมทั้งยังมีกลิ่นของพันธุ์ไม้ป่าต่างๆ ที่ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายและนอนหลับได้ง่ายขึ้นบริเวณชั้นสองของเรือนอีกด้วย
- URBAN LUNG (ห้องปลดทุกข์) ป่าในเมืองเป็นไปได้ไหม?
เป็นการตั้งคำถามว่าทำไมเวลาจะปลูกต้นไม้ต้องไปป่าหรือต้องหาพื้นที่กว้างๆ ในการปลูก ทั้งๆ ที่ต้นไม้ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไร สามารถใช้พื้นที่เล็กๆ ในการปลูกได้ แถมในเมืองก็ยังมีพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรอีกมากมาย เช่น ใต้ทางด่วน ตึกร้าง เราควรจะนำพื้นที่เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ดีกว่าหรือไม่?
นอกจากตั้งคำถามและชักชวนให้ปลูกต้นไม้แม้จะมีพื้นที่เล็กๆ แล้ว ก็ยังมีกิจกรรมที่เรียกว่า “ยิงกระต่าย เด็ดดอกไม้” โดยเป็นเกมยิงปืนหนังสติกใส่กระต่ายกระดาษ โดยมีของรางวัลเป็นกระถางต้นไม้เล็กๆ เก็บกลับบ้านไปได้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของเรือนเป๊ะ
หอนก Glow in the Dark
เป็นการสะท้อนปัญหาเรื่องความปลอดภัยตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะตรอก ซอกซอยต่างๆ มีมุมมืดที่กลายเป็นจุดอันตรายมากมาย ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่เสี่ยงในการก่ออาชญากรรมมากถึง 217 จุด ตามตรอกซอกซอยที่เปลี่ยวมืด ดังนั้น จะมีทางไหนได้บ้างที่เราจะเตือนคนให้รู้ถึงจุดอันตรายต่างๆ และทำให้กรุงเทพฯ ปลอดภัยกว่าเดิม โดยไม่ต้องรอพึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงอย่างเดียว
ที่หอนี้สร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบที่น่ารัก ดูไม่น่ากลัว โดยทำออกมาคล้ายบ้านต้นไม้ที่สามารถปีนขึ้นไปชมนกด้านบนได้ โดยที่ทางลงเป็นสไลเดอร์ให้เด็กๆ ได้ลื่นไถลลงมาสร้างความสนุกสนานในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนปัญหาสังคมที่เราห่วงใยในชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้ เพื่อให้ผู้คนเกิดความตระหนักให้ช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้แก่กันและกันนั่นเอง
เรือนครัว Rope Slinging Food Stall
ปัญหาแผงลอยบนทางเท้ากรุงเทพฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตกที่ยังหาทางแก้ไม่ได้เสียที ดังนั้น ด้วยความซุกซนของไอเดียจึงเกิดเป็นการหาทางออกแบบสนุกว่า ถ้าเราแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย โดยให้มัน ‘ลอย’ ได้จริงๆ จะเป็นอย่างไรนะ
เป็นไอเดียการเล่นกับคำว่า แผงลอย โดยทำให้มัน ‘ลอย’ ได้จริงๆ แล้วใช้วิธีการชักรอกขายของแทน เช่นเดียวกับที่เรือนครัวตรงนี้ ที่ทำเป็นพื้นที่ขายแสน็คของกินเล่น ที่สินค้าอยู่ด้านบน เวลาจะซื้อจะขายก็ใส่เงินในถัง แล้วแม่ค้าด้านบนก็จะชักเงินขึ้นไปก่อนจะหย่อนถังกลับมาเป็นสินค้าที่คุณสั่งซื้อ ซึ่งถ้านำไอเดียแบบนี้ไปใช้กับการแก้ปัญหาแม่ค้าแผงลอยริมทางเท้า ก็จะไม่มีปัญหาการใช้พื้นที่ทางเดินเท้าเป็นพื้นที่ขายของ ไม่ต้องเบียดบังคนเดินเท้าให้หนีลงไปเดินบนถนนเสี่ยงอันตรายอีกต่อไปแล้ว แม้จะเป็นไอเดียที่ไม่ได้จริงจังอะไร แต่ก็หวังที่จะไปจุดประกายความคิดบางอย่างให้คนอื่นๆ ได้ต่อยอดไอเดียและร่วมแก้ปัญหาแผงลอยบนทางเท้าอย่างจริงจังต่อไปได้
หอนั่ง Junk Fishing
อีกหนึ่งเรือนที่นำเสนอปัญหาซ้ำซากของเมืองหลวง นั่นคือปัญหา “ขยะ” ทราบหรือไม่ว่าคนกรุงเทพฯ สร้างขยะวันละ 4.2 ตัน! แล้วขยะเหล่านั้นก็ถูกทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ จนล้นเมืองและนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วม จึงเกิดการตั้งคำถามว่าเราจะช่วยลดปัญหาขยะนี้ได้อย่างไร พร้อมกับสร้างจิตสำนึกในการทิ้งขยะให้กับผู้คน
ดังนั้น ณ หอแห่งนี้ก็มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้กับเราเช่นเคย ด้วยการร่วมกับศิลปินที่ชื่อดัง “อานนท์ ไพโรจน์” (ANON) ในการใช้วัสดุจากขยะตามที่ต่างๆ นำมาพันด้วยเทปแล้วแปลงร่างให้กลายเป็นเก้าอี้ที่ดูแปลกตา จนแทบจำเค้าเดิมไม่ได้ว่านี่คือสิ่งไร้ค่ามาก่อน โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะทำเก้าอี้ให้ได้ 100 ชิ้น ตามคอนเซ็ปต์ 100 ชิ้น 100 แชร์ (เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า Chair และ Share) เรียกว่าเป็นการรีไซเคิลที่แนว อาร์ทสุดๆ ไปเลย
เรือนเก็บของ Storage Sale
ปัญหาขยะล้นเมือง ยังคงถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง แต่วิธีในการนำเสนอการแก้ปัญหา ณ เรือนเก็บของแห่งนี้แตกต่างจาก หอนั่ง ไปอีกรูปแบบหนึ่ง
ความหมายของขยะที่เรือนเก็บของนี้ คือสิ่งที่ยังใช้งานได้ดีอยู่แทบจะ 90% ดังนั้น สิ่งที่จะแก้ปัญหาของข้าวของล้นเต็มบ้าน แทนที่จะทิ้งก็นำไปบริจาค หรือนำมาขายเป็นสินค้ามือสองก็ได้ นี่จึงเป็นที่มาของการสร้างเรือนเก็บของนั่นเอง
และที่เรือนนี้ยังได้ร่วมกับเพจ YARKSELL เพจแลกเปลี่ยนสินค้าและขายของมือสองที่สนับสนุนแนวคิดเปลี่ยนของล้นบ้านทำให้มีมูลค่า แถมยังลดขยะให้กับสังคมอีกด้วย
ลานเสรี The Future of Energy
อาจจะเรียกได้ว่าพื้นที่ตรงนี้คือพื้นที่บทสรุปของทุกๆ เรือน คือการที่ตั้งคำถามให้กับผู้ที่มาร่วมงานทุกคนว่า หากวันหนึ่งพลังงานหมดไปจากโลกจะทำอย่างไร และมีพลังงานไหนบ้างที่ไม่มีวันหมด พลังงานที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของทุกอย่างบนโลก พลังที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของทุกๆ ปัญหา ไม่ใช่พลังงานจากแสงอาทิตย์ ไม่ใช่พลังงานนิวเคลียร์ พลังที่ว่านั้นก็คือ “พลังของพวกเราทุกคน” นั่นเอง
ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ร่วมตรงกลางของเทศกาล ที่จะใช้ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เปิดอิสระเสรี แลกเปลี่ยนทางความคิดได้อย่างเต็มที่ หรือจะเขียนข้อความฝากเอาไว้ว่า #WECULTURE ในแบบของคุณจะทำอะไรอย่างไรให้กับสังคมได้บ้าง
และนอกเหนือจากเรือนไทยของอนันดาฯแล้ว ภายในงานยังเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหารอร่อยๆ หรือแม้แต่พื้นที่ปลดปล่อยพื้นที่ทางศิลปะมากมาย เหมาะกับทั้งคนหนุ่มสาวมาเดินเล่นเสพย์งานศิลปะ หรือคุณพ่อคุณแม่พาลูกๆ มาเสริมสร้างจินตนาการทางศิลปะความคิดสร้างสรรค์ก็ได้ เพราะทั้งชั้น 1 และชั้น 2 ก็จะมีการจัดแสดงศิลปะของศิลปินไว้หลากหลายคอนเซ็ปต์มากมาย
อนันดาฯ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ไม่ได้พัฒนาเพียงแค่อสังหาฯ ทว่า เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ในยุคแห่งการสื่อสารที่เปิดกว้างทางความคิดและการทำงานร่วมกัน (Collaboration) อนันดาฯ จึงอยากชวนกลุ่มคนเมืองรุ่นใหม่ เข้ามาสัมผัสถึงปัญหาของคนเมือง กระตุกต่อมความคิดด้วยไอเดียที่เป็นคำตอบของปัญหาต่างๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ดั่งไอเดีย #WECULTURE เพื่อร่วมกันค้นหา Urban Living Solutions ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
และนอกจากเดินชมนิทรรศการและงานแสดงงานศิลปะต่างๆ แล้วยังมีเวทีเปิดทางความคิด ได้แก่ Ten Talk ซึ่งจะมาพูดคุยปัญหาคนเมืองจาก 10 Guest speaker คนละ 10 นาที รวมทั้งการประกวด Urban film festเป็นโครงการประกวดหนังสั้น ซึ่งจะแสดงผลงานและประกาศผล ในวันสุดท้ายของงาน Freeform Festival 2017 คือวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ดังนั้นรีบหน่อยนะคะ ติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook Freeform Festival