ในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี ในการเข้ามาช่วย เพื่อให้สอดคล้องกับ วิถีชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน ที่ผนวกรวมเทคโนโลยีเข้ามาไว้อยู่ในชีวิตประจำวัน หากแต่หลายธุรกิจ ยังไม่พร้อม ในการรับมือกับเทคโนโลยีเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความเข้าใจในเทคโนโลยี หรือความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี
หลายธุรกิจ จึงใช้วิธีจับมือเป็นพันธมิตร กับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่ปัญหาก็คือ บริษัท เหล่า นั้น เชี่ยวชาญเทคโนโลยี ที่ตัวเองถนัด แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีอื่นๆ ๆได้อย่างไร้รอยต่อ นั่นจึงเป็นที่มา ของการเป็นโซ่ข้อกลาง ในการเชื่อมโยงเทคโนโลยี ต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้เครือข่าย ที่รวดเร็วที่สุด และดีที่สุดในประเทศไทย กับองค์กรที่หลายคนไว้ใจภายใต้ชื่อ AIS
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ชี้ให้เห็นว่า ในอดีตใครก็ตามที่มีพื้นที่ดินแดนมากที่สุดผู้นั้นได้ครองโลก นั่นจึงทำให้เกิดสงครามล่าอาณานิคมเพื่อขยายแผ่นดินของตัวเอง ในยุคต่อมาใครที่ครอบครองเหล็กมากที่สุดคนนั้นได้ครองโลก นั่นจึงทำให้ยุคนั้นอุตสาหกรรมต่างๆ ถือกำเนิดขึ้น
แต่ในโลกยุคปัจจุบัน ใครที่สามารถครอบครองข้อมูล (DATA) ไว้ได้มากที่สุด คนนั้นจะได้ครองโลก AIS เชื่อว่าข้อมูลเหล่านั้นถือเป็นจุดสำคัญ (Backbone) ในการทำธุรกิจ ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างโดนใจและเข้าถึง นั่นเป็นเพราะว่าสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น จากในอดีตที่คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงมีราคาระดับมากกว่าพันล้านบาท แต่ประสิทธิภาพเหล่านั้นกลับเทียบไม่ได้กับสมาร์ทโฟนราคาถูกที่สุดในยุคปัจจุบัน
จากข้อมูลพบว่า ประชากรบนโลกนี้มีอยู่ประมาณ 7,500 ล้านคน ซึ่งในปัจจุบันมีคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ประมาณ 4,000 ล้านคน เกินกว่า 50% ของประชากรโลกที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ โดยมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนถึงประมาณ 5,000 ล้านคน ขณะที่ในประเทศไทยมีประชากรเกือบ 70 ล้านคน โดยสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ประมาณ 57 ล้านคน ขณะที่มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนอยู่ที่ประมาณ 48 ล้านคน ซึ่งในความเป็นจริง หมายเลขโทรศัพท์มีการใช้ถึงประมาณ 90 ล้านเลขหมาย นั่นเป็นเพราะปัจจุบันหนึ่งคนมักจะมีการใช้ซิมเบอร์มือถือมากกว่า 1 เบอร์ขึ้นไป
“สาเหตุที่คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายในปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะสมาร์ทโฟนไม่ใช่เครื่องมือติดต่อสื่อสารอีกต่อไป หากแต่สมาร์ทโฟนยังมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ สามารถใช้ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานและซื้อของ เป็นต้น ในอดีตซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีเมมโมรี่ขนาด 1GB มีราคาอยู่ที่ 1 ล้านบาท ขณะที่ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนมีเมมโมรี่ไม่ต่ำกว่า 256GB นั่นเท่ากับว่า สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน หากนำย้อนกลับไปในอดีตจะมีมูลค่าถึง 256 ล้านบาท”
ตัวอย่างของประเทศที่มีการใช้สมาร์ทโฟนสวนทางกับความเป็นจริงของประเทศ อย่างประเทศคองโกที่เรียกได้ว่าประชากรยากจน แต่คนจำนวนมากในประเทศคองโกมีการใช้สมาร์ทโฟนสูงในระดับที่หลายประเทศเทียบไม่ติด นั่นเป็นเพราะว่า สมาร์ทโฟนช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกมากยิ่งขึ้น ในหลายประเทศที่ธุรกิจไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพให้ธุรกิจเหล่านั้น สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะสมาร์ทโฟนอยู่ติดตัวตลอดเวลาแทบจะ 24 ชั่วโมงหรืออาจจะอยู่ใกล้ชิดมากกว่าคนที่เรารักด้วยซ้ำไป
“พฤติกรรมคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องยอมรับว่าเกิดจาก 2 สิ่ง นั่นคือ Smart Device หรืออุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้อย่างหลากหลายอย่างสมาร์ทโฟน และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ช่วยเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน มีการกล่าวกันว่า ในอดีตอังกฤษเป็นผู้สร้างนวัตกรรมและโรงงานจำนวนมาก ส่งผลให้อังกฤษสามารถเป็นผู้นำโลก ในยุคต่อมาสหรัฐฯ มีระบบการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม จนเกิดเป็นหลักสูตร MBA นั่นจึงทำให้สหรัฐฯ สามารถเป็นผู้นำโลก แต่ในยุคปัจจุบัน ใครที่มีแพลตฟอร์มดีที่สุดมากที่สุด คนนั้นจะได้เป็นผู้นำโลก”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เกิดธุรกิจใหม่ๆ โดยที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากธุรกิจเดิมๆ ยกตัวอย่างเช่น Uber ธุรกิจแท็กซี่สาธารณะ แต่กลับไม่มีรถยนต์เป็นของ Uber หรืออย่าง Alibaba ที่เป็นแหล่งสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่จำเป็นต้องมีห้างสรรพสินค้าของตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดจากการใช้เทคโนโลยีนำมาสร้างเป็นแพลตฟอร์ม แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีโอกาสล้มหายตายจากไปภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น
นั่นเพราะ AIS เชื่อว่าในปี 2020 จะเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ VR เป็นต้น วิกฤตด้านเทคโนโลยีทำให้บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่อาจจะถูกเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา Disrupt ก็เป็นได้ โดยผู้เชี่ยวชาญจากสแตมฟอร์ด ชี้ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีอย่าง AI IoT และ Blockchain จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ AIS ยังเชื่อว่า น่าจะมีเทคโนโลยีอีกหลายอย่าง ที่มีความสำคัญอย่าง AR, VR, Robotics เป็นต้น
“ด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงทำให้เชื่อได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ ธุรกิจเก่า ธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากเทคโนโลยีมาแล้ว อาจจะถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าในอนาคต ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผมได้ไปพบปะกับบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่ Silicon Valley ไม่ว่าจะเป็น Apple, Facebook, Google ทั้งหมด ล้วนแต่ กำลังจับประเด็นการปรับตัวในอนาคตอยู่ที่ 2 เรื่องสำคัญ”
โดยเรื่องแรก จะทำอย่างไรถึงจะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า นั่นจึงชี้ให้เห็นว่า 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ก็พยายามที่จะหลีกหนีการถูกเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา Disrupt นั่นจึงทำให้บริษัทใหญ่ๆ ต่างขยับตัวเพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามา อีกประการหนึ่งคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถดึงคนดีและคนเก่งอยู่กับองค์กร นั่นจึงทำให้องค์กรใหญ่ๆ พลิกโฉมภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นมุมพักผ่อนหรือโซน Drink Bar เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้พนักงานที่ดีและเก่งอยู่กับองค์กรได้อย่างยาวนาน
“แล้วองค์กรก็จะต้องหาทางพัฒนาเพื่อรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร เพื่อให้คนเก่งและคนดียังคงอยู่ในองค์กร เพราะองค์กรจะเจริญเติบโตขึ้นมาได้ต้องมีคนดีและคนเก่งอยู่ในองค์กร นั่นจึงชี้ให้เห็นถึงทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน ที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”
ขณะที่ AIS มองถึงความเปลี่ยนแปลง โดยหากมองในมุมขององค์กร สิ่งที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงมีทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน นั่นคือด้าน Core Business จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ดิจิตอลเข้ามาในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ในกระบวนการผลิตที่ในอนาคตอันใกล้นี้หุ่นยนต์จะเข้ามามีส่วนอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิต ซึ่งหากองค์กรไม่ปรับตัว เมื่อถึงวันที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ องค์กรนั้นจะถูกหุ่นยนต์ Disrupt ในแบบที่ตั้งตัวไม่ทัน
“นอกจากนี้ธุรกิจใดที่ต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ในด้านของการสื่อสารกับลูกค้าจำเป็นต้องใช้ดิจิตอลเข้ามาช่วย แม้จะมีร้านค้าใหญ่โตหรือสวยงามเพียงใด แต่ในยุคปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเข้ามาที่ร้านค้าทุกอาทิตย์หรือทุกวัน แต่การที่มีระบบดิจิตอลในการสื่อสารกับลูกค้า (Interface) ที่ดีจะช่วยให้ลูกค้าอยู่กับเราได้ทุกวินาที และด้านสุดท้ายคือการหา Business Model ใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยดึงให้ลูกค้ากลับมาอยู่กับองค์กร ยกตัวอย่างเช่น Uber ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายแต่มีขนาดใหญ่ระดับโลก”
ส่วนในมุมมองของผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคมีเทคโนโลยีอยู่ในมือ ผู้บริโภคจะเกิดความรู้สึกเป็นปัจเจกชนหรือส่วนตัวมากขึ้น องค์กรจึงต้องทำการแบ่ง Segmentation ของลูกค้า เนื่องจากลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งการใช้ การสื่อสารในรูปแบบเดิมที่เป็นการหว่าน ไม่สามารถใช้ได้แล้วในยุคปัจจุบัน นั่นจึงทำให้ในมุมของผู้บริโภคมี 3 เรื่องที่องค์กรต้องเรียนรู้
“การใช้ Big Data ถือเป็นเรื่องสำคัญ จะช่วยทำให้องค์กรรู้จักลูกค้าในแต่ละ Segment ได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ มีความต้องการที่แตกต่างกัน หรือผู้ชายผู้หญิง คนทำงานที่อยู่ต่างจังหวัดกัน ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน Big Beta จะช่วยให้องค์กรเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ได้อย่างเข้าถึง และเข้าใจ”
ไม่เพียงแต่การต้องรู้จักลูกค้าเท่านั้น หากแต่องค์กรยังต้องสร้างความแตกต่างระหว่างคู่แข่งให้ได้เห็นอย่างชัดเจน ผ่านการใช้นวัตกรรม และด้านสุดท้ายคือความรวดเร็ว เนื่องจากองค์กรต้องคิดเสมอว่า คู่แข่งเองก็มีข้อมูลผู้บริโภค คู่แข่งเองก็มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างความแตกต่าง หากแต่ธุรกิจองค์กรที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถส่งผ่านนวัตกรรมเหล่านั้นด้วยความรวดเร็ว ก็จะสามารถเข้าถึงและครองใจผู้บริโภคได้มากกว่า
“ในเรื่องของความเร็ว ผมขอยกตัวอย่างแอปพลิเคชัน LINE ที่ทุกท่านรู้จักและใช้กันมานาน แต่เชื่อหรือไม่ว่าในอดีตมีแอปพลิเคชันที่แทบจะเรียกได้ว่าดีกว่า LINE อย่าง Cacao แอปฯ การสื่อสารเช่นเดียวกับ LINE แต่มีเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่า โดยในยุคแรก LINE สามารถทำได้เพียงแค่การพิมพ์สื่อสาร แต่ Cacao สามารถส่งสติ๊กเกอร์ที่เคลื่อนไหวได้ ทว่า LINE เปิดตัวให้ใช้บริการก่อน Cacao นั่นทำให้ LINE เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค แม้เทคโนโลยีจะด้อยกว่า Cacao ก็ตาม”
เรื่อง Digital Disruption ในเมืองไทย ต้องยอมรับว่าพูดกันมาประมาณ 4 ปีที่แล้ว แต่เพียงช่วงระยะเวลา 4 ปี คำว่า Digital Disruption และ Digital Transformation กำลังกลายเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจองค์กรในประเทศไทยให้ความสำคัญอันดับต้นๆ