“รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นเทรนด์ที่มาแรงในหลาย ๆ ประเทศ และมีการตื่นตัวทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับในไทย ซึ่งมีหลายองค์กร ในหลายธุรกิจประกาศงดใช้ถุงพลาสติกและงดใช้โฟมอย่างจริงจัง อาทิ แคมเปญของห้างร้านต่างๆ ที่ประกาศลดการใช้พาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงงดให้ถุงพลาสติก 100% และเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน แต่สำหรับร้านค้าทั่วไปยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยที่ใช้บรรจุภัณฑ์แบบกล่องกระดาษ เนื่องจากมีราคาต้นทุนที่สูงกว่าโฟม
เพื่อเป็นการปลุกกระแสในระดับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว เอสซีจี (SCG) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานรณรงค์โครงการ “ถนนข้าวสารรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมใจงดใช้โฟม และถุงพลาสติก” ขอความร่วมมือลดการใช้พลาสติกและโฟมบริเวณถนนข้าวสาร
“ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ใช้เพียงการขอความร่วมมือเพียงอย่างเดียว คงต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร ถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน” วิมล จันทร์เทียร ผู้อำนวยการแบรนด์บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ในธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี กล่าว พร้อมเสริมว่า
ภาพรวมการลดใช้พลาสสิกในกลุ่มธุรกิจรีเทลเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่สำหรับร้านค้าทั่วไปเมื่อเทียบสัดส่วนทั้งประเทศยังคงมีการตื่นตัวค่อนข้างน้อย ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่ผู้ประกอบการทั่วไปยังไม่เปิดรับมากนัก คือ
- ปัญหาด้านราคาบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเยื่อธรรมชาติมีราคาที่สูงกว่าโฟมและพลาสติก เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูง ซึ่งการจะลดต้นทุนได้นั้นต้องพึ่งกำลังการผลิตที่สูง เน้นใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และลดจำนวนการใช้แรงงานคนลง โดยเฉลี่ยแล้วหลอดดูดจากเยื่อธรรมชาติมีราคาต่อหลอดอยู่ที่ 0.7 บาท ขณะที่หลอดพลาสติกมีราคาอยู่ที่ 0.18 บาท
- ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายจริงจังเกี่ยวกับการลดใช้พลาสติกอย่างชัดเจน โดยแผนการลดจำนวนการใช้พลาสติกจะเริ่มชัดเจนภายในปี 2565 ตามประกาศของภาครัฐ
- จุดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีจำนวนน้อย หาซื้อยาก
สำหรับการเลือก ‘บริเวณพื้นที่ถนนข้าวสาร’ เป็นจุดโปรโมท ก็เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งสตรีทฟู้ดที่ขึ้นชื่อของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีการใช้พลาสติกและกล่องโฟมค่อนข้างสูง ซึ่งการลงพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจ จะช่วยลดปริมาณขยะลงได้ค่อนข้างมาก
ส่วนแผนสำหรับลดจำนวนการใช้พลาสติก คือ
- เพิ่มพื้นที่ร้านขายบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย เฟสท์ บริเวณพื้นที่ใต้อาคารบัดดี้ ถนนข้าวสาร
- มีส่วนลดให้พ่อค้าแม่ค้าให้จำนวน 10% กระตุ้นการเข้าถึง
- สร้างกิจกรรมลุ้นรางวัล เมื่อซื้อบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย เฟสท์
อย่างไรก็ตาม ถนนข้าวสาร ไม่ใช่พื้นที่แรกที่ SCG ต้องการสร้างให้เป็นสตรีทฟู้ดปลอดพลาสติก เพราะก่อนหน้านี้ได้จับมือกับชุมชนตลาดต่างๆ อาทิ ตลาดหัวมุม ตลาดรังสิต และตลาดนัดรถไฟรัชดา ซึ่งผลตอบรับที่ได้ก็ถืออยู่ในเกณฑ์ แต่ต้องอาศัยการปลุกระดมในลักษณะผู้นำร้านค้าเพื่อเป็นตัวแทนสร้างความเปลื่นแปลง