ช่วงต้นปีแบบนี้หลายบริษัทใหญ่ก็ต่างออกมาประกาศแผนธุรกิจกันอย่างคึกคัก เช่นเดียวกันกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่มีคุณกฤษณ์ จันทโนทก นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ก็ออกมาประกาศวิสัยทัศน์ “Digital Bank with Human Touch” เดินหน้าสู่การเป็น “Digital Bank” แบบเต็มตัว พร้อมกับประกาศเป้าหมายสู่การเป็นธนาคารผู้ให้บริการความมั่งคั่งอันดับ 1 และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้ไร้รอยต่อในทุกช่องทาง
คุณกฤษณ์ เปิดเผยว่า SCB ยังคงความแข็งแกร่งในการให้บริการแบบครบวงจร หรือ Universal Bank โดยในเวลานี้ครองความเป็นผู้นำตลาดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ อันดับหนึ่งในสินเชื่อที่อยู่อาศัย อันดับหนึ่งในธุรกิจ Bancassurance นอกจากนี้ ยังเป็น Top 3 ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อลูกค้ารายย่อย และทางด้านการบริหารความมั่งคั่ง รวมทั้งยังเป็น Top 3 ธนาคารที่มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันทางเงินมากที่สุดในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากวิกฤตโควิด-19 เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กำลังเร่งพลิกฟื้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาคธนาคารจะต้องมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เท่าเทียม รวมถึงมองหาโอกาสในการช่วยให้ลูกค้าธนาคารทุกกลุ่มได้มีความมั่งคั่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนบนจุดแข็งของธนาคาร เพื่อตอบรับกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นจึงนำไปสู่ก้าวต่อไปของ SCB ที่จะพัฒนาองค์กรให้เป็น “ธนาคารที่ดีขึ้น” อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดยุทธศาสตร์ซึ่งเป็น “ดาวเหนือนำทางธุรกิจ” ภายใต้แผน 3 ปี ประกอบด้วย 3 เรื่องหลักคือ
1.ปรับองค์กรให้เป็นธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มตัว
คุณกฤษณ์ ระบุว่า เหตุผลที่ต้องเดินหน้าสู่ดิจิทัลเนื่องจาก การที่ธนาคารได้ผ่านช่วง digital disruption ที่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาแข่งขันในภาคการเงินนั้น แล้วพบว่ามีเพียงไม่กี่รายที่สามารถทำกำไรได้ ในขณะที่ ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง ด้วยฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งและมีจุดเด่นทางด้านบริการที่ชัดเจนมากกว่า ขณะเดียวกันแนวโน้มการใช้งานดิจิทัลของคนไทยปัจจุบันอยู่ในระดับสูง มีการใช้แอปพลิเคชันการเงินเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และประมาณ 94% ของคนไทยเข้าถึงบริการทางการเงิน และมีความต้องการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น SCB จึงต้องยกระดับบริการไปสู่ Digital Bank อย่างเต็มตัว มอบบริการครบวงจร ปรับ Process การทำงานให้มี Automation มากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าอย่างเต็มที่
2. เป็นเจ้าตลาดด้านการบริหารความมั่งคั่ง
คุณกฤษณ์ ระบุว่า SCB มีรากฐานบริการด้านบริหารความมั่งคั่งที่แข็งแกร่ง ขณะที่หลังจากวิกฤตโควิดฟื้นตัวกระแสความมั่งคั่งกลับคืนมาจึงเป็นโอกาสให้ธนาคารเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอบริการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร ไม่เพียงแต่เฉพาะต่อยอดความมั่งคั่งทางด้านทรัพย์สินส่วนบุคคคลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจของลูกค้า ทั้งการขยายธุรกิจ การระดมทุนรูปแบบต่างๆ หรือการขยายลงทุนในต่างประเทศ ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าองค์กร ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่ธนาคารมอบให้ ซึ่งถือเป็นการขยายความมั่งคั่งให้ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดย SCB จะมีโครงการ Digital Wealth ที่จะนำ Data มาสร้างข้อเสนอแบบ Hyper-personalized offer ด้วย
3.ยกระดับประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง
CEO ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย ด้วยว่า SCB ตั้งเป้ายกระดับประสบการณ์ในการให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อแบบ End to End ทั้งในโลกดิจิทัลและโลกความจริง ซึ่งส่วนนี้เป็นหัวใจของ Digital Bank with Human Touch คือ ประสบการณ์ที่ดี ณ จุดให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารที่มีอย่างหลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่องทางที่คุ้นเคย โดย SCB ตั้งเป้าเป็นธนาคารอันดับหนึ่งในใจลูกค้าทุกกลุ่มภายในปี 2025
4.ตั้งเป้าหมายท้าทายพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2566 คุณกฤษณ์ ระบุว่า ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการขยายพอร์ตสินเชื่อควบคู่กับการรักษาคุณภาพ โดยตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อประมาณไม่เกิน 5% และสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 40% อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจรตามแผน 3 ปี ในปี 2568 ธนาคารมีเป้าหมายจะลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ต่ำกว่า 40% รวมถึงการเป็นอันดับ 1 wealth wallet share พร้อมผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green Finance) เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตามเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (ESG) และก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าทุกกลุ่มในปี 2025 ด้วย
เรียกได้ว่าในปี 2023 นี้การแข่งขันของบรรดาธนาคารใหญ่ๆคงจะดุเดือดไม่น้อย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มพลิกฟื้นขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับกลุ่มคนชั้นกลางระดับกลางถึงบนที่หันมาสนใจการลงทุนมากขึ้น และกลายเป็นเป้าหมายของ SCB ในการทำตลาด Wealth Management ในปีนี้และอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าแต่ละธนาคารจะ มีกลยุทธ์อะไรที่จะคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นในเวลานี้กันอีก