ประเทศไทยเพิ่งเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 3 ซึ่งมีการอนุญาตให้กิจการและกิจกรรมหลาย ๆ ประเภทกลับมาเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกหลังจากต้องปิดไปนาน รวมถึง “โรงภาพยนตร์” ซึ่งหมายความว่า โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่มีสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ยาวนานในย่านสยามสแควร์อย่าง “สกาลา” จะต้องกลับมาพร้อมให้บริการอีกครั้งหลังจากเงียบเหงามาหลายเดือน แต่กลับมีกระแสข่าวว่า “สกาลายุติการให้บริการ” ลงแล้ว
ต้นเหตุของข่าวดังกล่าว คาดว่ามาจาก “ชมรมวิจารณ์บันเทิง” ซึ่งโพสต์ข้อความผ่าน Facebook Page ว่า “ข่าวยืนยัน โรงภาพยนตร์สกาลา ภายใต้การบริหารของเครือ APEX ยุติการให้บริการ” ทั้งยังระบุว่า “มาลุ้นกันต่อว่าสถาปัตยกรรมอันสวยงามของสกาลาจะต้องถูกทุบทิ้ง หรือเป็นแค่การเปลี่ยนผู้บริหาร เหมือนกับโรงภาพยนตร์ข้าง ๆ กัน อย่างลิโด” ซึ่งในเวลาต่อมาโพสต์ดังกล่าวได้หายไปจาก Facebook Page หลังจากโพสต์เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 3 มิ.ย.
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก Facebook “Nirodha Ruencharoen” เจ้าของตำแหน่งสุดยอดแฟนพันธุ์แท้รางวัลออสการ์ ซึ่งโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันว่า “โรงภาพยนตร์เริ่มกลับมาเปิดให้บริการตามปกติตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. แต่ สกาลา โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนโรงสุดท้ายของกรุงเทพฯ ที่ตั้งตระหง่านกลางย่านสยามสแควร์มายาวนานกว่า 40 ปี ปิดตัวถาวรแล้ว เหลือแค่ใช้จัดกิจกรรมฉายหนังรอบพิเศษจนกว่าสัญญาเช่าพื้นที่จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ #FarewellScala”
แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีรายละเอียดใด ๆ ออกมาเพิ่มเติม เพื่อยืนยัน หรือปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่ก็สร้างความเสียดายแก่บรรดาคอภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจาก สกาลา ไม่ได้มีจุดเด่นแค่การเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน แต่ยังมีเรื่อง “คุณค่าทางสถาปัตยกรรม” และ “การให้บริการอย่างยาวนาน” อีกด้วย
ย้อนเส้นทาง “สกาลา” โรงภาพยนตร์ที่เป็นมากกว่าสถานที่ฉายหนัง
– หากย้อนประวัติศาสตร์ของ สกาลา จะพบว่าเปิดให้บริการมาตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2512 เท่ากับว่าพื้นที่แห่งนี้อยู่คู่ย่านสยามสแควร์มานานเกือบ 51 ปีแล้ว
– ความโดดเด่นที่ชัดเจนของสกาลา คือ การออกแบบ ซึ่งว่ากันว่าเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก ทั้งบันไดขนาดใหญ่ โคมไฟระย้าขนาดยักษ์ รวมถึงปูนปั้นแบบลอยตัวที่สื่อถึงความบันเทิงของเอเชีย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของโรงภาพยนตร์แห่งนี้
– ที่ตั้งของโรงภาพยนตร์สกาลา เป็นพื้นที่ของ “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ดังนั้น การดำเนินธุรกิจภายใต้เครือ “APEX” ของโรงภาพยนตร์สกาลา จึงเป็นการ “เช่า” ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่แต่อย่างใด
– รูปแบบการดำเนินธุรกิจของโรงภาพยนตร์สกาลา ไม่ได้มีเพียงการฉายภาพยนตร์อย่างเดียว แต่ยังเปิดให้ผู้สนใจสามารถ “เช่าใช้พื้นที่” เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วย
– ประเด็นที่คนส่วนใหญ่ “คาดกัน” ว่าเป็นต้นเหตุให้ สกาลา ต้องปิดตัว คือ ค่าเช่า ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการอ้างอิงสัญญาปี 2559 ว่า ตั้งแต่ปี 2562 สกาลาจะต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้น 5% แน่นอนว่าท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 “รายจ่ายสูงขึ้น” และ “สวนทางกับรายได้” อาจเป็น “ชนวนเหตุ” สำคัญ
– ตามสัญญาเช่าพื้นที่สกาลาจะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 แต่หากข่าวยุติให้บริการของสกาลาเป็นจริง นั่นจะทำให้ ตำนานโรงภาพยนตร์แห่งนี้จบลง ก่อนเวลาถึง 6 เดือนทีเดียว