จากมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ได้ยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะใน 13 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารต้องกลับมางดให้บริการการนั่งทานในร้านและหากร้านอยู่ในห้างก็จำเป็นต้องปิดให้บริการ เริ่มวันที่ 20 ก.ค.นี้เป็นต้นไป แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า จากการระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้ที่ยาวนานและรุนแรง จนต้องยกระดับมาตรการควบคุมได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านประเภทให้บริการนั่งทานในร้าน (Full Service) เช่น สวนอาหาร ร้านอาหาร Buffet ร้านอาหาร Fine Dinning ซึ่งมีรายได้มากกว่า 70% มาจากช่องทางดังกล่าว รวมถึงมีข้อจำกัดในการปรับตัว
ขณะที่ร้านอาหารกลุ่มอื่น อาทิ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) และร้านอาหารข้างทาง (Street food) มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการสูงกว่าจะได้รับผลกระทบลดหลั่นกันลงไปตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลต่อความมั่นใจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะลดลง โดยแบ่งออกการประเมินไว้ 2 กรณี ได้แก่
กรณีพื้นฐาน ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว ธุรกิจร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถกลับมาเปิดให้บริการนั่งในร้านได้ตามปกติ การใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะทยอยกลับมา ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 5.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท ติดลบ 13.5%)
กรณีเลวร้าย ความเสี่ยงการระบาดของโควิดที่อาจจะมีการกระจายตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีความล่าช้าและสร้างผลกระทบในระยะกลางกับผู้ประกอบการร้านอาหาร กรณีนี้จะทำให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 หายไป 7 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท ติดลบ 17.3%
แม้ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านอาหารจะพยายามปรับตัวอย่างสุดความสามารถ และภาครัฐได้มีการออกนโยบายช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ผลกระทบต่อเนื่องที่สะสมได้สร้างความบอบช้ำอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
ในระยะต่อไปภาครัฐอาจมีความจำเป็นในการที่จะควบคุมการระบาดของโรคโควิดเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า เช่น เจรจาในเรื่องค่าเช่าพื้นที่และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค การเข้าถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงหลักเกณฑ์การชดเชยที่มีต่อผู้ประกอบการและกลุ่มลูกจ้างที่ชัดเจนและครอบคลุมทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของธุรกิจ