หลักคิดและการให้คุณค่ากับการทำงานมีวิวัฒนาการอยู่แทบจะตลอดเวลา สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากตัวแปรมากมายที่เกิดขึ้นจากกาลเวลาที่หมุนไปข้างหน้าและตัวแปรที่ใหญ่ที่สุดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มุมมองของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อการทำงาน ทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ๆตามมามากมาย
หนึ่งในเทรนด์ที่เกิดขึ้นและกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งก็คือ Quiet Ambition เทรนด์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคน Gen Y ไล่ไปจนถึง Gen Z ที่มีมองมองกับการเติบโตในสายอาชีพที่แตกต่างออกไปไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งสูงก็ได้ แต่ต้องการงานที่ตอบสนองคุณค่าและความต้องการส่วนตัว แตกต่างออกไปจากคนในยุค Gen X หรือ Baby Boomer ที่มองการก้าวถึงตำแหน่งสูงๆตอบสนองเป้าหมายขององค์กรได้ก็คือความสำเร็จ
Quiet Ambition คืออะไร?
ความหมายของ Quiet Ambition เป็นขั้วตรงข้ามกับความทะเยอทะยานในสายอาชีพแบบเก่าที่ต้องการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง มีเป้าหมายสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร แต่ Quiet Ambition คือ “การทำงานหนักที่ไม่ได้มองถึงองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่มองไปถึงความฝันหรือการตอบสนองความต้องการส่วนตัวด้วย”
พูดง่ายๆก็คือคนที่มี Quiet Ambition จะเติบโตในสายอาชีพในแบบที่เหมาะกับชีวิตของตัวเองมากกว่าเหตุผลอื่นๆ เรียกว่าเป็นมุมมองที่มีต่อความก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนยุคใหม่ที่มี Quiet Ambition เลือกที่จะไม่รับตำแหน่ง “หัวหน้า” ที่แม้จะมีค่าตอบแทนสูงแต่ก็มีความเครียดมากกว่า หันมาเลือกที่จะพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีขึ้นและลึกยิ่งขึ้นแทน หรือเลือกทำงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายบางอย่างที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรือตำแหน่ง
ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมการทำงานบางส่วนก็มองว่า Quiet Ambition เป็นอีกมุมมองของความทะเยอทะยาน ที่สำหรับบางคนแล้วความทะเยอทะยานไปสู่ความสำเร็จอาจเป็นแค่เรื่องเล็กๆอย่าง การเราสามารถปิดคอมพิวเตอร์แล้วไม่คิดถึงเรื่องงานเลยตลอดช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้ หรือสำหรับบางคนอาจเป็นการทำงานเพื่อสะสมเงินให้ได้ตามเป้าหมายหรือเป็นแค่การได้เข้าไปทำงานกับบริษัทที่หวังไว้ก็เป็นความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน
Quiet Ambition ไม่เท่ากับ “ไร้ความทะเยอทะยาน”
Quiet Ambition คือมุมมองที่มีต่อการเติบโตที่แตกต่างออกไป แต่ไม่เท่ากับ ไร้ความทะเยอทะยาน ซึ่งรูปแบบของคนที่มี Quiet Ambition ก็เช่นการเป็นคนที่ พร้อมจะมีส่วนร่วมในทีมแต่ไม่อยากเป็นคนที่โดดเด่นหรือเป็นคนที่เป็นตัวหลักในการแสดงความคิดความเห็นในทีม คนกลุ่มนี้จะเลือกที่จะก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างสม่ำเสมอและเน้นที่คุณภาพของงานมากกว่าการแสดงออกว่าทำงานหนัก มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลง และก็ให้คุณค่าของการเติบโตในสายอาชีพไปพร้อมกับการสร้างสมดุลในชีวิตความเป็นอยู่
Psychological Safety คือสิ่งสำคัญ
Quiet Ambition แน่นอนว่าอาจส่งผลกระทบกับองค์กรที่อยากให้พนักงานมองเป้าหมายความสำเร็จขององค์กรเป็นสำคัญ นอกจากนี้อาจจะส่งผลกระทบให้ขาดผู้นำในองค์กรเนื่องจากเทรนด์ Quiet Ambition ไม่ต้องการรับตำแหน่งหัวหน้ามากเท่ากับยุคก่อน สิ่งที่องค์กรจะทำได้เพื่อรับมือกับเทรนด์นี้ก็คือการสร้าง “สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้นในที่ทำงาน” หรือ “Psychological Safety” หรือการมีบรรยากาศที่ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะ พูดในสิ่งที่คิดและรู้สึก กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับองค์กร รวมถึงกล้าที่จะออกไอเดียโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือเผชิญผลกระทบเชิงลบตามมาในภายหลัง
การมี Psychological Safety จะทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถพูดคุยหารือกันได้อย่างเปิดใจถึงวัฒนธรรมองค์กร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและได้ปรับตัวเข้าหากันได้มากขึ้นทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายนายจ้างก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ลูกจ้างรู้สึกได้ว่าเป็นแนวทางที่รองรับกับเทรนดืใหม่ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับฝั่งลูกจ้างที่ก็ต้องปรับตัวและทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรเช่นกัน
โดยเฉพาะในฝั่งขององค์กรที่จะต้องพร้อมที่จะตอบคำถามสำคัญๆจากฝั่งลูกจ้างหรือพนักงานยุคใหม่ที่จะต้องการเหตุผลในการทำงานที่มากกว่าแค่ “ค่าตอบแทน” เพียงอย่างเดียวแต่จะต้องมีเหตุผลอื่นๆเช่น “งานเหล่านั้นให้อะไรกับชีวิตเขา” “งานนั้นส่งเสริมการเติบโตในสายอาชีพของเขาอย่างไร” หรือ “งานนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้อื่น กับชุมชน หรือกับโลกใบนี้อย่างไร” สิ่งเหล่านี้องค์กรต้องเป็นฝ่ายที่ให้คำตอบที่ดีให้ได้ และนี่ก็คือ Quiet Ambition เทรนด์ใหม่ที่องค์กรต้องปรับตัวตาม