เวลานี้หลายบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเริ่มทำตลาดกับ Gadget ที่เกี่ยวข้องกับ Power Nap หรือการ “งีบหลับสั้นๆ” ในเวลากลางวันในสถานที่ทำงานเพื่อเพิ่ม Productivity ให้มีมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีอย่าง Sleep Pod ที่เริ่มมีออกมาให้เห็นกันมากขึ้นในรูปแบบต่างๆกัน
นวัตกรรมเหล่านี้ต่างวางกลุ่มเป้าหมายไปที่สำนักงาน co-working space ต่างๆที่มองว่า Power Nap ที่มีคุณภาพ จะสามารถช่วยให้พนักงานหรือคนทำงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Koyoju Plywood บริษัทที่ทำหลากหลายธุรกิจและหนึ่งในนั้นคือการผลิตไม้อัดขายก็พัฒนา “Giraffenap” หรือห้องขนาดเล็กที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถ “ยืนหลับ” ได้แบบเดียวกับยีราฟ โดย Giraffenap นี้สามารถรองรับ “ศีรษะ” “คาง” และ “ฝ่าเท้า” เพื่อให้สามารรถหลับได้อย่างสบาย นอกจากนี้ไม่กินพื้นที่ เหมาะสำหรับสำนักงานที่มีพื้นที่จำกัด
Koyoju Plywood เปิดเผยว่าบริษัทศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย Hokkaido และพันธมิตร พบว่าอุปกรณ์ Giraffenap สามารถช่วยให้ผู้ใช้งาน Power Nap ได้อย่างน้อย 30 นาทีโดยไม่ทำให้ “หลับลึก” ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถกลับมาทำงานได้อย่างสดชื่นหลังตื่นนอนอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ใช้งานจะใช้ Giraffenap งีบหลังราว 15-20 นาทีเท่านั้นเพื่อลดความอ่อนล้าและความเครียด
บริษัท Koyoju ผู้พัฒนา Giraffenap ซึ่งมีขนาดเล็กใช้พื้นที่เพียงครึ่งหนึ่งของเตียง 3 ฟุต เตรียมที่จะเปิดตัว Giraffenap ในเดือนมกราคมปี 2024 ในราคาราว 3 ล้านเยน หรือราว 720,000 บาท โดยวางกลุ่มเป้าหมายเป็นสำนักงาน โรงพยาบาล สนามบินและอื่นๆ
นอกจากนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบริษัท E-offiece บริษัทให้บริการพื้นที่ Co-Working Space ยังจับมือกับบริษัท Comotize บริษัทจากเมืองโยโกฮามา ให้บริการ EnergyPod ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Metronaps จากสหรัฐอเมริกา ใน Co-Working Space โดยอุปกรณ์นี้จะช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด และกล้ามเนื้อหลังด้วยท่าทางการนอนที่ยกขาขึ้นเล็กน้อย
EnergyPod ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อการนอนในช่วงเวลาราว 20 นาที เพิ่มความสามารถในการรับรู้และสมาธิให้เพิ่มขึ้นได้ อุปกรณ์ยังมาพร้อมกับ Headphone ที่จะช่วยเล่นเพลงที่ช่วยผล่อนคลาย มีพื้นที่เป็นโดมในส่วนครึ่งตัวบนเพื่อสร้างพื้นที่กึ่งส่วนตัวและช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น ในขณะที่เบาะนอนจะสั่นเบาๆเพื่อปลุกให้ตื่นเมื่อครบเวลา โดยค่าบริการ E-office จะอยู่ที่ 600 เยนหรือราว 145 บาทต่อชั่วโมง ส่วนค่าบริการ EnergyPod จะอยู่ที่รอบละ 1,500 เยนหรือราว 363 บาท
ผู้ให้บริการ EnergyPod ระบุว่า การงีบหลับด้วยอุปกรณ์เหล่านี้นอกจากจะช่วยเพิ่ม Productivity ในการทำงานแล้วยังช่วยแก้ปัญหาให้กับคนที่อยากจะนอนแต่กลัวว่าจะถูกมองว่า “ขี้เกียจ” ได้ ผู้ใช้งานสามารถหันมาใช้อุปกรณ์นี้ได้โดยไม่ต้องกังวล
นอกจากอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ช่วยงีบหลับในเวลากลางวันแล้ว ยังมีอุปกรณ์ขาดเล็กอย่าง Dreamlight Heat Lite ผลิตโดยบริษัท Weatherly Japan เป็นอุปกรณ์ “ปิดตา” ที่สามารถคงอุณหภูมิ 40 องศาเอาไว้ได้ สามารถกันแสงลอดเข้าสู่ดวงตาเพื่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพแม้จะอยู่ในที่ทำงานก็ตาม
เทรนด์การนอนกลางวันเพื่อ Productivity นี้สอดคล้องกับ ผลสำรวจจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น ที่พบว่าเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมากลุ่มตัวอย่างที่ทำแบบสำรวจมากถึง 40% รู้สึกง่วงนอนในเวลากลางวัน นั่นจึงเป็นโอกาสให้บรรดานายจ้างที่ต้องการป้องกันอาการง่วงของพนักงานสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อช่วยพนักงานได้งีบหลังเพิ่ม Productivity ในการทำงานได้
ที่มา Nikkei Asia