ท่ามกลางกลยุทธ์ ดึงคนดัง มาเป็นพรีเซนเตอร์ ที่แบรนด์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ล่าสุด foodpanda กลับเปิดตัว เปาเปา Brand Ambassador ที่เป็นคาแรคเตอร์พิงค์แพนด้า จากเอกลักษณ์สีชมพูของแบรนด์ foodpanda และสื่อถึงความน่ารักสดใส โดยคาแรคเตอร์เปาเปาเป็นผลงานจากครีเอทีฟทั่วเอเชียที่ร่วมกันวิจัยและออกแบบคาแรคเตอร์เปาเปา กับคอนเซปต์ที่มาจากโลกจินตนาการ สื่อถึงความน่ารัก สดใส เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน พร้อมกับคอนเซปต์เพศชาย มีนิสัยเป็นฟู้ดเลิฟเวอร์และชอบชอปปิ้ง และชื่นชอบพิซซ่าซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมของทั่วโลกและเป็นเมนูยอดนิยม Top 5 ของคนไทยด้วย
ประเด็นของความแตกต่างที่แบรนด์เลือกสร้างคาแรคเตอร์การ์ตูนขึ้นมาใหม่ แทนการเลือกศิลปิน นักแสดง มาเป็นตัวแทนของแบรนด์นั้น คุณอเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด ตอบว่า เปาเปาจะเป็นตัวแทนของ foodpanda ที่จะทำให้แบรนด์มีชีวิตชีวาจากคาแรคเตอร์ที่เข้าถึงง่าย สามารถสร้างความผูกพันธ์ระหว่างแบรนด์ และต่อยอดสู่การเป็น Brand Love ในกลุ่มผู้บริโภคท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดในธุรกิจ Food Delivery ซึ่งนอกจากความน่ารัก สดใส และสนุกสนานแล้ว คาแรคเตอร์เปาเปายังสะท้อนถึงอิสระในการใช้ชีวิตได้อย่างแตกต่างและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องพื้นที่สีเขียว ลดปัญหา Food Waste หรือแพ็กเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่าคาแรคเตอร์เปาเปาสามารถสะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรของ foodpanda ที่มีความเป็นสากลและให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน
แม้จะให้ความสำคัญกับคาแรคเตอร์ที่เหมากับแบรนด์ โดยเลือกสร้างคาแรคเตอร์เปาเปาขึ้นมาเอง แต่การทำตลาดของ foodpanda ก็จะมีการร่วมงานกับ Influencer อย่างหลากหลายต่อไป ขณะเดียวกันก็จะมองหา Real User เพื่อเป็น Influencer ในฐานะตัวแทน ที่รู้จักแบรนด์เป็นอย่างดีมาช่วยสื่อสาร และสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่น
นอกจากนี้ การมี Brand Ambassador ในรูปแบบของเปาเปา จะกลายเป็นตัวแทนที่สามารถอยู่กับแบรนด์ได้ในระยะยาวอย่างแท้จริง โดยไม่มีภาพสินค้าแบรนด์อื่นเข้ามาปะปน ขณะเดียวกัน ยังเอื้อต่อการสร้างกลยุทธ์ระยะยาวแก่แบรนด์ได้ง่ายกว่าการเลือกศิลปิน นักแสดง หรือ Influencer โดย เปาเปา ยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นหลายด้าน เช่น รูปลักษณ์ที่เป็นมิตร สนุกสนาน และมี Pandanese เป็นภาษาพูดของตนเอง เพื่อสะท้อนถึงการยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายทางสังคม
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยยังคงใช้งาน Food Delivery เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับบริการ Grocery ซึ่ง foodpanda ได้พัฒนา pandamart และ foodpanda shops ออกมาตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าด้วย โดยพบว่าเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งมีมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ foodpanda ยังมองถึงแผนธุรกิจระยะยาวในอีก 10 ปีจากปีด้วยว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการ รวมถึงสร้างความผูกพันในกลุ่มผู้บริโภคแบบ Cross Generation ส่งต่อความผูกพันจากรุ่นสู่รุ่น ได้การยอมรับการทุกวัยในครอบครัวอีกด้วย ซึ่ง เปาเปา ก็จะมีส่วนช่วยให้ foodpanda เข้าถึงกลุ่ม Gen X Gen Z ได้ง่ายขึ้นด้วย
จากสถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจ Food Delivery นั้น foodpanda ก็เปิดรับการแข่งขันอย่างเต็มที่ เพราะการแข่งขันทำให้แต่ละแบรนด์ต้องพัฒนาตนเองและทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่เช่นกัน โดยสถานการณ์ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เล่นถึง 5 – 6 ราย แต่ด้วยประสบการณ์นับ 10 ปีในประเทศไทยของ foodpanda ก็เชื่อว่าจะเป็นอีกจุดแข็งของแบรนด์ที่รู้จักและเข้าใจผู้บริโภค ส่วนการทำตลาดในประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น ก็จะมีความแตกต่างกับประเทศไทย เช่น ไรเดอร์มีจำนวนน้อย หรือความยากในการเป็น Top of Mind สำหรับผู้บริโภค เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายปี 2021 foodpanda มีไรเดอร์ในไทยกว่า 120,000 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้มหาศาล และเชื่อว่าในปี 2022 จำนวนไรเดอร์ก็จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับจำนวนร้านอาหารและร้านค้าในระบบ
ส่วนสถานการณ์เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา คุณอเล็กซานเดอร์ กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่ท้ายอย่ามาก ทำให้แบรนด์ได้กลับมาเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าว และกลับมาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนชุมชน ท้องถิ่น และคนไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านบริการของ foodpanda ต่อไป