จากวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศของโลก ที่มีต้นเหตุจากหลาย ๆ กิจกรรม ซึ่งแม้ว่าวงการบันเทิงจะไม่ใช่อุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม แต่ Netflix ในฐานะผู้ให้บริการสตรีมมิ่งความบันเทิงระดับโลก ก็ไม่ละทิ้งความรับผิดชอบต่อสังคมในส่วนนี้ โดยประกาศเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ว่ามีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ ภายในช่วงสิ้นปี 2022
โดยสถิติจากปี 2020 พบว่า Netflix ได้ปล่อยคาร์บอนเป็นปริมาณ 1,100,000 เมตริกตัน ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งมาจากการผลิตผลงานภาพยนตร์และซีรีส์ที่เป็นแบรนด์ Netflix ทั้งในส่วนที่ได้บริหารจัดการโดยตรง และที่ผ่านบริษัทผู้ผลิตภายนอก รวมถึงเนื้อหาของ Netflix ที่ให้สิทธิ์ใช้งาน ส่วนอีก 45% มาจากการดำเนินงานขององค์กร เช่น อาคารสำนักงาน และสินค้าที่จัดซื้อ เช่น สินค้าที่จัดซื้อสำหรับการตลาด ขณะเดียวกัน อีก 5% ก็มาจากการใช้บริการระบบคลาวด์และเครือข่ายเนื้อหาเพื่อบริการสตรีมมิ่ง
3 ขั้นตอน สู่ Net Zero + Nature
แม้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจาก Netflix จะไม่ได้สูงเทียบเท่าที่มาจากอุตสาหกรรมอื่น แต่ Netflix ก็เอาจริงเอาจังกับการเปิดพื้นที่ให้นักเล่าเรื่องได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับโลกและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ รวมถึงแผนการลดปริมาณมลพิษให้เหลือศูนย์ พร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในชื่อ Net Zero + Nature โดยจะดำเนินงานใน 3 ขั้นตอน คือ
ลดการปล่อยมลพิษ
ลำดับแรก เริ่มต้นด้วยการลดปริมาณการปล่อยมลพิษภายในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และลดการปล่อยมลพิษในส่วนที่ 1 และ 2 (หรือมลพิษทางตรงและทางอ้อม) ลง 45% ภายในปี 2030 ตามแนวทางริเริ่มในการกำหนดเป้าหมายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
รักษาแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีอยู่
เมื่อช่วงสิ้นปี 2021 ในกรณีที่มีการปล่อยมลพิษภายในองค์กรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมถึงมลพิษในส่วนที่ 3 (หรือมลพิษทางอ้อมอื่น ๆ ) Netflix จะทำการชดเชยด้วยการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่จะป้องกันไม่ให้มีการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเริ่มด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น ป่าเขตร้อน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเป้าหมายในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
กำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ
ภายในสิ้นปี 2022 จะดำเนินการกำจัดการปล่อยมลพิษในส่วนที่เหลือทั้งหมดให้เป็นศูนย์ โดยดำเนินการลงทุนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติที่สำคัญ มุ่งสู่สถานะการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านทางโครงการต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูพื้นที่ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน และคุณภาพดิน ที่นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านอื่น ยังช่วยจับและกักเก็บคาร์บอนอีกด้วย
160 ล้านครัวเรือนทั่วโลก ต้องได้เข้าถึงคอนเทนต์ความยั่งยืน
นอกจากแผนงานต่าง ๆ Netflix ยังต้องการเป็นส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความยั่งยืนแก่ผู้คน โดยในปี 2020 มีผู้คนจาก 160 ล้านครัวเรือนทั่วโลกเลือกรับชมภาพยนตร์หรือซีรีส์อย่างน้อย 1 เรื่องทาง Netflix ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ เช่น โลกของเรา: Our Planet ซีรีส์สารคดีที่มีผู้ชมกว่า 100 ล้านครัวเรือนนับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนเมษายน 2019 ก่อนจะคว้ารางวัลมาได้จากหลายเวที รวมถึงรางวัลเอมมี่ไพรม์ไทม์ 2 รางวัล ภายใต้เนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์และการพึ่งพากันและกันระหว่างระบบต่าง ๆ บนโลกและสิ่งมีชีวิตนานาชนิด หรือ บทเรียนจากปลาหมึก: My Octopus Teacher ภาพยนตร์สารคดีที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ หลังจากคว้ารางวัลมาจากเวทีอื่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นต้น