มิจฉาชีพมีหนาว “Meta” เผยนโยบายและวิธีรับมือปัญหาภัยหลอกลวงบนออนไลน์ด้วย Generative AI

  • 28
  •  
  •  
  •  
  •  

รู้หรือไม่ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลกในการใช้โมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งมีการโดนหลอก 700 คดีต่อวัน ครึ่งหนึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับออนไลน์ (ข้อมูลจากกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์) เห็นได้ชัดว่าปัญหาโลกออนไลน์ถือเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่ทุกคนมักคาดไม่ถึง ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของโลกแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยผู้คนส่วนใหญ่มักจะถูกกลลวงต่าง ๆ แล้วตกเป็นเหยื่อด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ

ทำให้ Facebook ประเทศไทย จาก Meta จัดบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชนและร่วมพูดคุยกับหน่วนงานภาครัฐในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์” รวมถึงแบ่งปันนโยบายและแนวทางล่าสุดในการสร้างความปลอดภัยให้กับธุรกิจและผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญเสริมทักษะด้านดิจิทัลผ่านแคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand

คุณเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นในประเด็นของปัญหาภัยบนโลกออนไลน์ว่า ความปลอดภัยบนโซเชียลเป็นโจทย์ยากสำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ในปัจจุบันสแกมเมอร์ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน เงินทุนสนับสนุน และการทำงานเป็นระบบเพื่อหลอกลวงผู้คน 

โดยปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แพลตฟอร์มเดียว แต่สแกมเมอร์ยังแฝงตัวในทุกพื้นที่ออนไลน์ ลุกลามไปถึงการปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์มด้วย เมตาจึงต้องพัฒนา ปรับปรุงเทคนิค และติดตามพฤติกรรมบนโลกออนไลน์อย่างใกล้ชิด รวมถึงพัฒนาเครื่องมือ ฟีเจอร์ และโซลูชันต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากปัญหาบัญชีปลอม และพฤติกรรมแปลก ๆ ออกไป 

เมตายังได้เปิดเผยข้อมูลของเดือนธันวาคม 2565 ยังได้ดำเนินการลบเนื้อหา (โพสต์) ที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านโพสต์ และในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ได้เดินหน้าลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook โดย 98.8% ซึ่งถูกตรวจพบ และลบออกไปผ่านเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้

5 วิธีการคัดกรอง เพื่อตรวจจับภัยลวงออนไลน์ จาก Meta

Meta ใช้เทคนิคการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Meta ประกอบด้วย 5 วิธีดังนี้

  • ใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta
  • ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง
  • ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ
  • จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
  • ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ

ผู้บริโภคควรรู้ ทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยจากมิจฉาชีพ 

มาตรฐานการโพสต์โฆษณาใหม่ของเมตา ช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจมั่นใจได้ว่าโฆษณาบนแพลตฟอร์มของเมตามีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย มาตรฐานการโพสต์ดังกล่าวกำหนดให้โฆษณาต้องเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดเท่านั้น เพื่อป้องกันการหลอกลวงและการสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค รวมถึง AI ในการตรวจจับ หากโฆษณาใดละเมิดมาตรฐานการโพสต์ จะไม่ได้รับอนุมัติเด็ดขาด

ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta กล่าวเสริม เราใช้กระบวนการตรวจสอบที่หลากหลายเพื่อตรวจจับและจัดการกับโฆษณา บัญชี และผู้ดูแลที่อาจละเมิดนโยบาย โดยตรวจสอบโฆษณาแต่ละชิ้นอย่างละเอียด รวมถึงพฤติกรรมของนักโฆษณา และอาจจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการโฆษณา เรายังมองหาวิธีปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบอยู่เสมอรวมถึงวิธีช่วยให้ผู้คนรายงานโฆษณาที่ละเมิดนโยบาย

นอกจากนี้ เมตา ยังแนะนำเคล็ดลับในการป้องกันตนเองจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและโฆษณาปลอม เช่น ตรวจสอบตัวสะกดของเนื้อหาโฆษณา หรือตรวจสอบว่าโฆษณานั้นเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของแบรนด์หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เคล็ดลับเหล่านี้ไม่เพียงช่วยปกป้องผู้บริโภคจากการฉ้อโกง แต่ยังสนับสนุนร้านค้าที่มีความโปร่งใสอีกด้วย

 

AI เครื่องมือที่จะช่วยรับมือเบื้องต้นจากภัยร้ายออนไลน์

AI ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายด้าน รวมถึงการต่อต้านภัยร้ายออนไลน์ โดยสามารถช่วยรับมือเบื้องต้นจากภัยร้ายออนไลน์ได้หลายวิธีดังนี้

  • การกรองเนื้อหา AI สามารถใช้ในการกรองเนื้อหาที่เป็นอันตราย เช่น เนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เนื้อหาที่ส่งเสริมความรุนแรง หรือเนื้อหาที่หลอกลวง
  • การระบุตัวตน AI สามารถใช้ในการระบุตัวตนของผู้กระทำความผิดออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้
  • การตอบสนองอัตโนมัติ AI สามารถใช้ในการตอบสนองต่อภัยร้ายออนไลน์โดยอัตโนมัติ เช่น การบล็อกเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย การลบโพสต์ที่เป็นอันตราย หรือการส่งข้อความเตือนไปยังผู้ใช้

AI จะช่วยเราประเมินว่าบัญชีไหนมีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหลอกลวง เจ้าของบัญชีจะไม่สามารถใช้ได้จนกว่าต้องดำเนินการยืนยันตัวตนให้เสร็จสิ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือแสดงตัวตนอันเป็นเท็จ หากเจ้าของไม่ผ่านการตรวจสอบ หรือทีมงานพิจารณาว่ามีการละเมิดนโยบาย บัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้จะถูกลบออกทันที

 

Meta ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อผู้บริโภค

เมตา ประเทศไทย ยังได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงดีอีเอส, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, หน่วยงานภาครัฐ, นักวิชาการ และภาคประชาสังคม 

ดร. เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะหน่วยงานพันธมิตร ให้ข้อมูลว่า ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการหลอกลวงทางด้านการเงิน และการลงทุนนับเป็นปัญหาที่ดีอีเอสให้ความสำคัญ และมุ่งเน้นการทำงานในเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

กระทรวงดิจิทัล ได้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่บังคับกฎหมาย หน่วยงานภาคเอกชน และบริษัทเทคโนโลยี เช่น เมตาเพื่อช่วยกำจัดมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเสริม เราอยากให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอเมื่อมีปฏิสัมพันธ์หรือทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะใช้แพลตฟอร์มหรือช่องทางไหน เพราะว่าอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบันมีการพัฒนากลลวงเพื่อการหลอกล่อที่ซับซ้อนและอำพรางได้แนบเนียนมากขึ้น ปัจจุบันทางตำรวจไซเบอร์ได้เปิดสายด่วน 1441 เพื่อขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแจ้งเบาะแสได้

คุณอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจากเมตา กล่าวถึง การรับมือปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์ด้วย Machine Learning ว่าทางเมตามีการแบ่งปันข้อมูลกับกระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานอื่น ๆ ในการจัดการเนื้อหาที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็วที่ทางกระทรวงได้แจ้งข้อมูลเข้ามา รวมถึงการสร้างการตระหนักรู้ และแคมเปญการให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถรู้เท่าทันกลลวงและรู้วิธีการรายงานเนื้อหาเข้ามาได้ ทำให้การตรวจหา และไล่ลบบัญชีที่มีการตรวจพบว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นอันตราย หลอกลวงหรือละเมิดกฎอยู่เป็นประจำ และด้วยเทคโนโลยี Machine Learning และ AI ก็ทำให้เราสามารถตรวจพบเนื้อหาเหล่านั้นก่อนที่ผู้ใช้อื่นๆ จะได้เห็นด้วย” 

นอกจากนี้ยังมีแคมเปญ StayingSafeOnline ที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่ชาวไทยเกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมอีคอมเมิร์ซ สแกมความปลอดภัย และการหลอกลวงแบบฟิชชิง รวมถึงภัยบนโลกออนไลน์อื่น ๆ ด้วยการเปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้ และวิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่ให้บริการเป็นภาษาไทย

ภายในสัปดาห์นี้จะมีการเปิดตัวซีรีส์วิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่มีชื่อว่า “ถอดรหัสสแกม” (Decode Scam) ผ่านเพจเมตา ประเทศไทย บน Facebook เพื่อสอนให้ผู้คนรู้จักกับภัยลวงบนโลกออนไลน์ที่มีหลากหลายประเภท พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอีกด้วย

 

 


  • 28
  •  
  •  
  •  
  •