เช็คมาตรการ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ว่า พร้อมและเข้มแค่ไหน หากรัฐบาลประกาศให้เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับการผ่อนปรนให้เปิดบริการอีกครั้งในการคลายล็อกดาวน์กิจการและสถานที่เฟส 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้
หลังจากห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล เพื่อควบคุมและดูแลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งนับตั้งแต่ปิดให้บริการทางห้างสรรพสินค้าต่างพยายามออกมาตรการในการดูแลและป้องกันการระบาดสำหรับสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งภาครัฐและลูกค้าเห็นว่า ตัวเองมีความพร้อมในการเปิดให้บริการท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
โดยเฉพาะเวลานี้ที่มีกระแสข่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลเตรียมจะประกาศผ่อนปรนให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เราจึงชวนไปดูสิว่า แต่ละห้างพร้อม และมีมาตรการเข้มข้นแค่ไหน
เดอะมอลล์ จัดเต็ม 10 มาตรการหลัก 100 มาตรการย่อย
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะมอลล์ , เอ็มโพเรียม , เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน ได้เตรียม 5 มาตรการหลัก 34 มาตรการย่อย สำหรับลูกค้า และ 6 มาตรการเสริม 66 มาตรการย่อยสำหรับ 5 กลุ่มธุรกิจ รวมแล้ว 100 มาตรการ โดยกลยุทธ์หลัก คือ มาตรการสร้าง TMG TOUCHLESS SOCIETY หรือสังคมไร้สัมผัส และมาตรการคัดกรองเข้มงวด ตั้งแต่เข้าศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า อาทิ
-มาตรการ TOUCHLESS RETAIL ยกตัวอย่างเช่น TOUCHLESS FACILITIES หรือบริการไร้การสัมผัส อาทิ TOUCHLESS PARKING การสแกนเพื่อจอดรถผ่านแอพลิเคชั่นแบบไม่ต้องรับบัตร, WORRY-FREE WAITING AREAในห้างสรรพสินค้า, บริการกดลิฟท์ทุกตัวให้กับลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องสัมผัสลิฟท์เอง, จัดพนักงานบริการเปิด – ปิดประตูศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
บริการช้อปปิ้งแบบไร้เงินสด หรือ TOUCHLESS PAYMENT ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น E-WALLET , บริการชำระผ่าน APPLICATION รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน สามารถรับชำระเงิน ผ่าน ALIPAY , WECHAT PAY , UNIONPAY APPLICATION เป็นต้น
-มาตรการคัดกรองที่เข้มงวด ลูกค้าทุกคนจะมีการ (CHECK IN-OUT) เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังในด้านความปลอดภัยทุกคนที่จะเข้าห้างฯ และ ศูนย์ฯ โดยทั้งหมดต้องลงทะเบียนและให้ข้อมูลส่วนตัว ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.ผ่านแอปฯ M CARD หรือผ่านแอปฯ EM AR สามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว โดยกดปุ่ม EM CHECK IN เพื่อลงทะเบียนผ่านระบบได้ทันที (เฉพาะที่ ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์) 2.ผ่าน QR CODE หรือ LINE @THE MALL GROUP สามารถสแกน QR CODE และลงทะเบียนผ่านระบบได้ทันที และ 3. ลงทะเบียนยื่นบัตรประชาชน พร้อมให้ข้อมูลที่จำเป็นกับเจ้าหน้าที่ อาทิ ชื่อและเบอร์ติดต่อ หรือที่พักใน PASSPORT ในกรณีที่เป็นชาวต่างชาติ
-มาตรการลดความแออัด (PHYSICAL DISTANCING) คือ ขั้นตอนการจัดการและจัดระเบียบพื้นที่ทั้งในห้างฯ, ศูนย์ฯ และร้านค้าทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด มีการเว้นระยะห่างทางสังคมในทุกพื้นที่ โดยจำกัด 1 คน ต่อ 5 ตร.ม. รวมถึงจัดพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ากลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ, ผู้พิการ หรือสตรีมีครรภ์ ให้ได้รับความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงมากที่สุด
-มาตรการสุขอนามัยเชิงรุก อาทิ การจัดให้มีระบบถ่ายเทอากาศภายในอาคารมากกว่า 10 เท่าต่อชั่วโมง (10 ACH) และทำการอบฆ่าเชื้อระบบปรับอากาศส่วนกลางเป็นประจำทุกคืนด้วยรังสี UV ซึ่งนับเป็นมาตรการความปลอดภัยที่เข้มข้นไปอีกขั้นที่จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อโรคและถ่ายเทอากาศได้เป็นอย่างดี
-มาตรการเฝ้าระวังติดตาม คือ พนักงานทุกคน รวมถึง พนักงานร้านค้า และพนักงานคู่ค้า ต้องมีบันทึกข้อมูลประวัติสุขภาพ รวมถึง ลูกค้าและผู้เข้ามาใช้บริการทุกคน ต้องลงทะเบียนและให้ข้อมูลที่จำเป็นก่อนเข้าห้างฯ และ ศูนย์ฯ ทุกครั้ง เพื่อจะสามารถ มีข้อมูลและติดตามได้ในกรณีที่มีความจำเป็น
เซ็นทรัล ชู 5 หัวข้อคุมเข้ม
บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล เปิดเผยว่า ถ้ารัฐบาลประกาศผ่อนปรนให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ ห้างเซ็นทรัล ก็พร้อมจะเปิดให้บริการทั้ง 23 สาขาทั่วประเทศอีกครั้ง ในคอนเซ็ปต์ ‘ห้างเซ็นทรัล สะอาด ปลอดภัย อุ่นใจ เสมือนอยู่บ้าน’ ภายใต้ 5 หัวข้อคุมเข้ม ได้แก่
1.“ปลอดภัยสูงสุด” (Central is…Safe)
-พนักงานต้องสวมหน้ากากอนามัย และ Face Shield ตลอดเวลา ขณะปฏิบัติงาน และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังบริการ
-ตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานทุกคน ทุก 3 ชั่วโมง
-มีระบบติดตาม (Tracking) ข้อมูลลูกค้าที่มาใช้บริการ รวมถึงพนักงานที่เข้ามาปฏิบัติงานที่ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
2.“เคร่งครัด คัดกรอง” (Central is…Screening)
-ให้บริการตรวจวัดอุณหภูมิ และบริการเจลแอลกอฮอล์ ก่อนเข้าห้างฯ ให้กับลูกค้าและพนักงาน ทุกคน หากมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ และแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที
-ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย
-คัดกรองความเสี่ยงของพนักงานทุกคนก่อนกลับเข้ามาปฏิบัติงาน โดยให้พนักงานทำแบบประเมินตนเองผ่านลิงก์ หรือคิวอาร์โค้ดที่บริษัทฯ กำหนด หากพบความเสี่ยง พนักงานจะต้องปฏิบัติตามแนวทางการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน รวมทั้งหมั่นตรวจสอบอาการตนเองสม่ำเสมอ ฯลฯ
3.“สะอาด ปลอดภัย ไร้กังวล” (Central is…Clean)
-สินค้าที่จำเป็นต้องสัมผัสกับลูกค้าโดยตรง อาทิ ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ เสื้อผ้า รองเท้า หรือแผนกเครื่องครัว ต้องนำสินค้าที่ลองหรือสัมผัสแล้ว ไปฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งทำความสะอาดภายในห้องลองด้วยการฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งหลังใช้บริการ
-ปูผ้าหุ้มพรม บริเวณประตูทางเข้า-ออก ห้างฯ พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และเปลี่ยนผ้าวันละ 2 รอบ หรือบ่อยครั้งตามความเหมาะสมของแต่ละสาขา
-ติดตั้งเครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วย UVC แบบอัตโนมัติที่ราวบันไดเลื่อนห้างเซ็นทรัล (บางสาขา)
-ทำความสะอาดห้องน้ำทุก 30 นาที และติดตั้งเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรคบนฝาสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ
-ทำความสะอาดในจุดที่ลูกค้าสัมผัสมากด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อโรคทุกครึ่งชั่วโมง อาทิ ราวบันไดเลื่อน ที่จับประตู และปุ่มกดลิฟต์ ฯลฯ
-ทำความสะอาดบัตรจอดรถและบัตรศูนย์อาหาร ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนและหลังการใช้งานทุกครั้ง
4.“เว้นห่าง อย่างห่วงใย” (Central is…Distancing)
-จำกัดจำนวนคนเข้าห้างฯ ไม่เกิน 1 คน ต่อ 5 ตร.ม. โดยมีระบบในการนับที่เคร่งครัด
-กำหนดจุดเว้นระยะห่าง ทุกประตูทางเข้า-ออก และทุกจุดให้บริการ อาทิ เคาน์เตอร์แคชเชียร์ เคาน์เตอร์บริการลูกค้า จุดเข้าคิวห้องน้ำ จุดแลกซื้อ จุดรอลิฟต์ บันไดเลื่อน ร้านและศูนย์อาหาร
-สำหรับภาชนะต่างๆ ในห้องเลาจน์ อาทิ แก้วน้ำ และช้อน เปลี่ยนเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง
-จัดให้มีพื้นที่ติดต่อของบุคคลภายนอก และพนักงานรับส่งอาหาร โดยจัดทำป้าย และสติ๊กเกอร์การเว้นระยะห่าง รวมทั้งทำความสะอาดตามรอบที่กำหนด
-กำหนดทางเข้า-ออกของลูกค้า โดยใช้คนละข้างของประตู
-ทำฉากกั้นใส (Window Shield) ที่เคาน์เตอร์บริการลูกค้า และบนโต๊ะรับประทานอาหาร (Table Shield) ในร้านและศูนย์อาหาร
5.“ลดเสี่ยงจากสัมผัส” (Central is…A Touchless Experience)
-ส่งเสริมการชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง หรืออีเพย์เมนต์ แทนการชำระเงินสด
-กรณีลูกค้าชำระเงินสด ทั้งธนบัตรและเหรียญที่ได้รับจะแยกไว้เพื่อนำไปฆ่าเชื้อโรคโดยการอบโอโซน และเงินที่ทอนให้ลูกค้าจะมีการใส่แผ่นรองเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง
สยามพิวรรธน์ ใช้คอนเซ็ปต์ Innovative Health & Safety
บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าไอคอนสยาม , สยามพารากอน , สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ชูยุทธศาสตร์สุขอนามัยและและความปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ (Innovative Health & Safety) ครอบคลุมใน 3 มิติหลัก ประกอบด้วย
1.ยุทธศาสตร์สุขอนามัยของพนักงานผู้ให้บริการ
คัดกรองก่อนทำงานและติดตามเข้มงวดทุกวัน , รักษาอนามัยป้องกันตนเองเคร่งครัด สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า
2.ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของศูนย์การค้า
ทำความสะอาด Deep Clean ก่อนศูนย์เปิดในทุกพื้นที่ , คัดกรองและรักษาความสะอาดเข้มงวดทุกจุด , ลดความแออัด และรักษาระยะห่างเพื่อสุขอนามัย , จัดมาตรการสำหรับพนักงานรับส่ง สินค้า Delivery Man
3.ยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นใจสูงสุดของลูกค้าผู้ใช้บริการ
ผสานเทคโนโลยีปรับพฤติกรรมรูปแบบการใช้ชีวิต New Normal , ป้องกันตนเอง ลดการสัมผัส ส่งเสริมการใช้ Cashless หรือ E-Payment ในการชำระค่าบริการต่างๆ , บริการสำหรับลูกค้าต้องการการดูแลพิเศษ
โรบินสัน วางแผนแม่บท 5 ข้อ คุมเคร่งครัด
ด้าน โรบินสัน ได้วาง “แผนแม่บท 5 ข้อ” ที่มีความชัดเจนและต้องปฏิบัติจริง ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้า และพนักงานทุกคน ครอบคลุม 5 แกนหลัก ได้แก่ (1) การคัดกรองเข้มงวด, (2) ลดความแออัด, (3) ติดตามให้มั่นใจ, (4) สะอาดทุกจุดในเชิงรุก และ (5) ลดการสัมผัส
นอกจากนี้ทางโรบินสันได้ออกจดหมายแจ้งแผนการยกระดับมาตรการความสะอาด และความปลอดภัยเชิงรุก รวมถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการไปยังพันธมิตรทางการค้า คู่ค้า และร้านค้า เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในระหว่างการเตรียมความพร้อมและรอคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด เกี่ยวกับการปลดล็อคเปิดให้บริการ ตามแผนงานของรัฐบาล ด้วย
มาตรการที่ออกมาทั้งหมด ทางผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ต้องการประกาศให้เห็นถึงความพร้อมในการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนจะได้เปิดในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 นี้หรือไม่ ต้องรอผลสุปจากการประชุมใหญ่ของ ศบค. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เสียก่อน