เปิดเกมรุกรอบใหม่ ‘เมเจอร์’ ลงสนามธุรกิจ ‘Trading’ ประเดิมส่ง popcorn บุกทุกช่องทาง หวังพลิกการเติบโต

  • 776
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อตอนนี้ธุรกิจบันเทิง ไม่บันเทิงเท่าที่ควร  “เมเจอร์” จึงขอกระโดดลงไปในสนามธุรกิจใหม่อย่าง “Trading” ด้วยการประเดิมส่ง ‘popcorn’ เป็นสินค้าแรกก่อนจะขยายสู่กลุ่มอื่น ๆ อาทิ ไลเซนซิ่งฯลฯ และวางให้ธุรกิจใหม่นี้เป็น 1 ในกลยุทธ์ ‘3T’ ที่จะพลิกธุรกิจให้กลับมาเติบโตแบบ V Sharp

ก่อนหน้านี้ทางเมเจอร์ได้เริ่มนำ popcorn ไปขายนอกโรงหนัง ด้วยการร่วมกับ Food Delivery อย่าง Grab Food, foodpanda, LINEMAN, gojek ให้บริการ Popcorn To Go จัดส่ง popcorn จากโรงหนังไปให้ลูกค้าได้รับประทานทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งผลตอบรับถือว่า ดีมาก จากนั้นได้ขยายช่องทางการขายเข้าไปในอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น กีฬา, คอนเสิร์ต และ Pop To Go ในห้างสรรพสินค้า

มาถึงตอนนี้ได้ขยายไลน์สินค้า popcorn ด้วยการเปิดตัว “POPSTAR”   3 รูปแบบ คือ ป๊อปสตาร์ สแน็ค แบบซอง, ป๊อปสตาร์ ไมโครเวฟ รสชีส และ ป๊อปสตาร์พรีเมียม ทินแคน ป๊อปคอร์นพรีเมียมบรรจุกระป๋อง เพื่อรองรับเข้าสู่ธุรกิจใหม่ นั่นคือ Trading

สำหรับที่มาของไอเดียการเข้าสู่ธุรกิจนี้ มาจากช่วงโควิด-19 ที่ วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) มองว่า จะขายของในบ้านตัวเอง นั่นคือ โรงหนังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้าง new business ขยายสินค้าไปขายนอกบ้านของตัวเอง เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

 “ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผมค้นพบสัจธรรม คือ Nothing sure ไม่มีอะไรแน่นอน เมื่อคิดอะไรได้ ต้องกล้าลอง ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง เพราะต่อจากนี้ทุกอย่างเปลี่ยน ควบคุมไม่ได้ ถ้าทำอย่างเดิมไปไม่รอด ซึ่งธุรกิจ Trading เรามองเป็นโอกาสและจริง ๆ ทำไม่ยาก เพราะเราไม่จำเป็นต้องสร้างช่องทางขายเอง เพียงมีสินค้าดีและทำธุรกิจให้เป็น ”

ส่วนเหตุผลที่เลือก popcorn เป็นสินค้าตัวแรกของกลุ่มธุรกิจ Trading เพราะว่า

1.เป็นสินค้าขึ้นชื่อของเมเจอร์ในอันดับต้น ๆ แบบที่วิชาบอกว่า เมื่อพูดถึงเมเจอร์ คนจะนึกถึง popcorn

2.เป็นสินค้าที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างในปี 2562 ขาย popcorn อย่างเดียวและไม่ได้โฟกัสจริงจัง ยังสร้างรายได้ให้ถึง 2,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับกระแสตอบรับที่ดีมาก ๆ ในช่วงให้บริการทางเดลิเวอรี่ ทำให้มองว่า หากบุกอย่างเต็มที่น่าจะสร้างรายได้ให้มากขึ้น

โดยจากนี้สินค้า popcorn นอกจากจะวางขายในทุกสาขาของเมเจอร์ที่มีอยู่เกือบ 200 สาขา ในอนาคตจะไปวางจำหน่ายนอกโรงหนังให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงอยู่ระหว่างเจรจานำไปวางขายในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven

“ตอนนี้เราไม่ได้ขาย popcorn ให้คนดูหนังอย่างเดียว คนไม่ดูก็เป็นลูกค้าได้ เป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเรา โดยในปี 64 คาดว่า รายได้จาก popcorn จะเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือประมาณ 200 ล้านบาท ส่วน Trading ของเราสามารถทำได้หลากหลาย อย่างไลเซนซิงก็ทำได้ เพราะเราเองก็ถือลิขสิทธิ์อยู่หลายตัว”

วางกลยุทธ์ 3T พลิกการเติบโต

สำหรับวิชา โควิด -19 ไม่ได้เข้ามาดิสรัป แต่เป็น come and go มาแล้วไป และต้องขอบคุณโควิด-19 ที่มาสร้างประสบการณ์ ทำให้แข็งแรงและลุกมาทำอะไรใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตดังกล่าวทำให้ปีนี้เป็นปีที่ซีอีโอต่างมึนไปตาม ๆ กัน และทุกธุรกิจเจอผลกระทบไม่เหมือนกัน  อย่างเมเจอร์ช่วงแรกเขาไม่คิดว่า จะได้รับผลกระทบ เพราะเป็นการบริโภคภายในประเทศ และหนังเป็นความบันเทิงราคาถูกที่คนยังบริโภคอยู่

แต่สุดท้ายเมื่อต้องปิดให้บริการจากการล็อกดาวน์ประเทศ ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2563 ขาดทุนเป็นพันล้านบาท หลังจากไม่เคยขาดทุนเลยตลอดของการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้น ในปีนี้จึงเป็นปีที่ท้าทาย และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของธุรกิจโรงหนังรวมถึงอุตสาหกรรมหนังว่าจากนี้ไปการดำเนินธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งการรับมือของเมเจอร์ในปี 2564 จะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 3T ประกอบด้วย

T ตัวแรก Thai Movie – ที่ผ่านมาในช่วงวิกฤตโควิด-19 หนังไทยกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่ช่วยให้ธุรกิจโรงหนังผ่านวิกฤตมาได้ เพราะตลาดโรงหนังโลกขาดหนังฮอลีวูดเพราะเลื่อนฉาย โดยหนังไทยช่วงที่ผ่านมามี 3 เรื่องที่ทำให้ตลาดกลับมาคึกคัก ได้แก่ “มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ” ที่สามารถตอบโจทย์คนดูทางภาคใต้ทำรายได้ไป 43 ล้านบาท , “อีเรียมซิ่ง” ซึ่งตอนนี้กวาดรายได้ไปแล้ว 200 ล้านบาท และ “อ้ายคนหล่องลวง” ที่ทำรายได้ติดลมบนอยู่ ณ ขณะนี้

ภาพที่เกิดขึ้น ทำให้เมเจอร์เปลี่ยนแนวคิดใหม่หันมายืนบนขาตัวเอง แทนที่จะหวังพึ่งคนอื่น จึงให้ความสำคัญกับหนังไทยมากขึ้นในรูปแบบครบวงจร เป็นทั้งผู้สร้าง Local Film และผู้ฉาย เพื่อสร้างหนังไทยให้เป็น Local Content ที่แข็งแรง สามารถส่งออกไปขายยังตลาดกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดโลกได้ หรือก้าวสู่ Tollywood (Thailand+Hollywood) of The World ที่คนทั่วโลกรู้จักนอกเหนือจากฮอลลีวูด และบอลลีวูดในอินเดีย

โดยปี 2564 บริษัทผลิตหนังไทยในเครือเมเจอร์ 6 ค่าย ได้แก่ M PICTURES, M๓๙, Transformation Film, CJ MAJOR Entertainment, TAI MAJOR และ รฤก โปรดักชั่น จะมีการผลิตหนังไทยในทุกโมเดลทั้งลงทุนเอง ร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศ ประมาณ 20-25 เรื่อง ใช้งบลงทุนราว 350-400 ล้านบาท และทุกเรื่องจะลงในสตรีมมิ่ง

“สตรีมมิ่งกำลังมาแรง และส่วนใหญ่เป็น Big player ทั้งสิ้น ซึ่งตอนนี้ทุกค่ายพยายามมองหาคอนเทนท์ที่จะมาฉาย และอยากได้ความ excusive คนที่ผลิตคอนเทนท์จึงได้เปรียบใช้เป็นสะพานสร้างรายได้เข้าถึงผู้ชม เราไม่ได้มองสตรีมมิ่งเป็นคู่แข่ง”

T ตัวที่ 2 Technology – การโฟกัสเทคโนโลยี เป็นหนึ่งใน Pillar ของเมเจอร์ที่ทำมาต่อเนื่องภายใต้นโยบาย Major 5.0 ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มในการให้บริการและตอบไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น โดยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีลอนช์ super app ใหม่เพื่อเป็นช่องทางการขายตั๋วผ่าน Mobile Ticketing 100% และมีความฉลาดขี้นในการทำ personalization มากกว่าเดิม ตลอดจนการพัฒนาเข้าสู่ Cashless Cinema เป็นต้น

ส่วน T สุดท้าย ก็คือ Trading การสร้าง new business ที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว

จากกลยุทธ์ 3T บวกกับหนังฮอลีวู้ดที่ยืนยันจะกลับมาฉายปกติ โดยมีระดับบ็อกซ์บัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ที่คาดว่าจะทำเงิน อาทิ Black Widow, Godzilla VS Kong, Fast & Furious 9, Mission : Impossible 7, Spider-Man Sequel, The Matrix 4 ฯลฯ และการขยายสาขาเพิ่มเติมในต่างจังหวัด 8 สาขา 24 โรง และสาขาในกัมพูชา อีก 2 สาขา จำนวน 6 โรง จากปัจจุบันมีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งหมด 172 สาขา 817 โรง สาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง จะทำให้เมเจอร์ในปี 2564 เติบโตแบบ  V Sharp ซึ่งเห็นแนวโน้มแล้วน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย

“เมเจอร์ผ่านวิกฤตมาหมดแล้ว เพียงขอให้มีหนังฉายเราเชื่อว่า รายได้จะกลับมา เพราะตัวเลขช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่า ยังคงมีคนดูหนัง ทำให้รายได้เราเริ่มกลับมา รวมกับการปรับตัวของเราหลาย ๆ อย่าง ส่วนถามว่า เป้าหมายที่วางไว้ท้าทายหรือไม่ ผมก็ว่ามันท้าทาย เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่เราต้องสู้ ถ้าไม่สู้ก็ไม่รอด”


  • 776
  •  
  •  
  •  
  •