หลายธุรกิจอาจจะถูกท้าทายจากการเข้ามาของ Digital Disruption จนต้องปรับตัวอย่างหนัก แต่ไม่ใช่สำหรับ วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เพราะเขามองว่า ดิจิทัล คือ โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะสร้างการเติบโตให้
“ด้วยจำนวนโรงหนังที่มีมากกว่า 2 แสนสกรีนทั่วโลก มันเป็นตลาดใหญ่ที่หนังต้องให้ความสำคัญ บวกกับ Business Model ที่ว่า หากหนังจะเข้าสตรีมมิ่ง ต้องรอไป 12-18 เดือน ทำให้เราไม่กระทบ และเมเจอร์เองก็ขายทั้งหนังและโฆษณาให้พวกสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ด้วย เราถึงบอกว่า ดิจิทัลไม่ได้ดิสรัปเลย”
อย่างไรก็ตาม วิชา ก็ยอมรับว่า ดิจิทัลและการเข้ามาของเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของคน ดังนั้น ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 25 ในปีนี้ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จึงประกาศนโยบาย Major 5.0 ออกมาสู้ ได้แก่
การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มในการให้บริการมากขึ้น เรียกว่า ‘วงการมีอะไรใหม่ ต้องมีที่เมเจอร์’ ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีต เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ก็ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การขายตั๋วผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ หรือ E Ticket มาถึง Mobile Ticket โดยจะซื้อผ่านแอปของเมเจอร์ ที่ในอนาคตจะถูกพัฒนาให้เป็น Super App มีการนำ AI และ ML มาใช้
รวมถึงการพัฒนานำเทคโนโลยีมาใช้ในโรงหนัง อาทิ โรงไอแมกซ์ จอยักษ์ 3 มิติ , โรง4DX , โรง Screen X ครั้งแรกในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้ระบบการฉาย 3 ทิศทาง ด้วยเครื่องฉายถึง 9 ตัว สร้างประสบการณ์ใหม่ของการดูหนังแบบ 270 องศา , โรง LED Cinema Screen ให้ดูหนังด้วยความละเอียดของจอภาพระดับ 4K คมชัดและสว่างกว่าโรงภาพยนตร์ทั่วไปถึง 10 เท่า , โรง Esports แห่งแรกในโลก และ Kids Cinema โรงหนังสำหรับเด็ก ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น Movie Experience
77 จังหวัดต้องมีโรงหนังของเมเจอร์
แกนต่อมา คือ ในปี 2015 ตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ครบ 77 จังหวัดในไทย จากปัจจุบันมีโรงหนังอยู่ใน 60 จังหวัด เข้าถึงในระดับอำเภอและตำบล โดยภายในสิ้นปี 2019 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีสาขารวมทั้งสิ้น 169 สาขา 810 โรง 183,958 ที่นั่ง แยกเป็น
– สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 46 สาขา 355 โรง 80,468 ที่นั่ง
– สาขาในต่างจังหวัด 115 สาขา 416 โรง 95,041 ที่นั่ง
– สาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง
ส่วนในปี 2020 ที่จะถึงนี้ มีแผนการลงทุนขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่องอีก 30 โรง อาทิ เมเจอร์ ซีนีมา โลตัส หาดใหญ่ สงขลา, เมเจอร์ ซีนีมา Mark 4 แพร่, เมเจอร์ ซีนีมา โลตัส พะเยา, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โลตัส นิคมบางกะดี ปทุมธานี, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โลตัส สมุทรปราการ, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ บิ๊กซี ยะลา, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ บิ๊กซี มหาชัย 2 สมุทรสาคร
เร่งผลิตหนังไทย สร้าง ‘Tollywood’
การยกระดับอุตสาหกรรมหนังไทยให้เทียบเท่ากับ Hollywood และ Bollywood เป็นอีกมิชชั่นที่ทางวิชาตั้งเป้าไว้ โดยเขาต้องการสร้างให้ไทย เป็น Tollywood (Thailand+Hollywood) ประเด็นสำคัญ คือ การเพิ่มจำนวนการสร้างหนังไทยในแต่ละปีให้มากขึ้น โดยเมเจอร์ จะมีทั้งลงทุนเองและร่วมลงทุนกับพาร์เนอร์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ภายในประเทศของหนังไทยให้เพิ่มเป็น 50% เทียบเท่ากับรายได้หนังต่างประเทศ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จากตอนนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 26%
รวมไปถึงผลักดันส่งภาพยนตร์ไทยออกขายไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเป้าหมายหลัก คือ จีน และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ พม่า, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์ ควบคู่ไปกับการส่งหนังไทยให้บริการบนสายการบิน อาทิ Thai Airways, Hong Kong Airlines, Oman Airlines, Emirates Airlines ฯลน และบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Netflix ซึ่งเป็นช่องทางทำให้หนังไทยมีตลาดสามารถเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น
“มันเป็นเรื่องต้องใช้เวลา แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้คนนิยมดูหนังไทย และการเจ้ามาอย่างดิจิทัล และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้เราสามารถขยายไปได้มากขึ้น ถึงบอกว่า ธุรกิจหนังกับโรงหนังไม่ถูกดิสรัป แต่เป็นโอกาสสร้างรายได้ใหม่ ๆ เพียงคุณต้องรู้ให้ทัน ทำให้เป็นเป็น”
ทั้งนี้ ทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ตั้งเป้ารายได้ปี 2019 ว่าจะเติบโตขึ้น 15% โดยผลประกอบการ 9 เดือนของปีนี้ทำรายได้ไปแล้ว 8,354 ล้านบาท ซึ่งเมื่อประเมินจากสถานการณ์ต่าง ๆ วิชาบอกว่า เป็นไปตามเป้าหมายแน่นอน