ถือเป็นเรื่องเด่นวานนี้ (วันที่ 23 พ.ค. 2562) เมื่อ Starbucks ขายสิทธิ์ (License) ในการบริหารร้าน Starbucks ในประเทศไทยให้กับบริษัทย่อยในเครือไทยเบฟฯ ของ เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดิ์ “เจ้าสัวเบียร์ช้าง” สร้างความตื่นเต้น ผสมกับความตื่นกลัวเล็ก ๆ สำหรับสาวกสตาร์บัคส์ชาวไทย ว่าต่อไปรสชาติและมาตรฐานบริการจะยังเหมือนเดิมไหม
ขณะที่แฟนคลับสตาร์บัคส์บางคนยังน้อยใจและสงสัยว่าเหตุใดจู่ ๆ Starbucks ซึ่งอุตสาห์บริหารร้านในประเทศไทยเองมานานกว่า 20 ปีจึงยอมเปลี่ยนมือให้คนอื่นมาดูแลร้านแทน
สำนักข่าว Bloomberg วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า …. เป็นไปตามนโยบายของ Kevin Johnson ซีอีโอของ Starbucks ที่ต้องการโฟกัสที่ตลาดที่เป็นยุทธศาสตร์หลัก (Strategic Markets) ของบริษัทประกอบด้วยตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่สร้างมูลค่าให้กับบริษัทมากเป็นอันดับ 1 และแน่นอน!! ตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญและขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 แต่เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
ที่สำคัญคือ ตลาดจีนเป็นตลาดที่แข่งขันรุนแรงมาก หลังจากสตาร์ทอัพร้านกาแฟที่มีอายุแค่เพียงสองปี อย่าง Luckin ประกาศว่าจะ “ล้มแชมป์” ในตลาดจีน อย่าง Starbucks ให้ได้ … และเพียงไม่นาน แบรนด์น้องใหม่ก็ก้าวขึ้นมาเป็น “เบอร์สอง” ในตลาดจีน พร้อมกับหลากกลยุทธ์ที่ทำให้ Starbucks ต้องสะดุ้งสะเทือนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุด คือการเข้าตลาดหุ้น NASDAQ โดยมีเป้าหมายใหญ่ข้อแรกคือ เอาชนะ Starbucks ในตลาดจีนให้ได้
เพราะตลาดจีนใหญ่มาก Starbucks จึงต้องให้ความสำคัญ
จากภาพดังกล่าว จะเห็นว่าการบริโภคกาแฟของคนจีนยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เมื่อเทียบกับการบริโภคกาแฟของคนในประเทศอื่น ๆ ซึ่งมุมมองเชิงศักยภาพตลาดกาแฟในประเทศจีนที่มีมหาศาลนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารของทั้ง Luckin และ Starbucks รวมถึงแบรนด์กาแฟชื่อดังเจ้าอื่น ล้วนเห็นตรงกัน
นอกจากนี้ จากข้อมูล Filing ของ Luckin ยังมีการคาดการณ์อีกว่า มูลค่าตลาดกาแฟจีนในปี 2019-2021 ซึ่งว่ามีโอกาสเติบโตถึง 113,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 5.22 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 4.62 บาท/หยวน ณ วันที่ 23 พ.ค. 2562) ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
Starbucks ไม่อาจประมาทแบรนด์หน้าใหม่จากจีนที่ชื่อ Luckin
Marketing Oops! เพิ่งนำเสนอเรื่องของแบรนด์กาแฟน้องใหม่สัญชาติจีนที่ชื่อ Luckin Coffee เมื่อไม่นานมานี้ ถ้าอยากรู้ว่า แบรนด์น้องใหม่นี้สร้างความปั่นป่วนให้กับ Starbucks ในตลาดจีนอย่างไร สามารถอ่านได้ที่ จับตา Luckin หลัง IPO ยกระดับศึกร้านกาแฟจีน…สู่สงคราม “ช้างชนช้าง”
ทั้งนี้ ทีมงานได้สรุปข้อมูลเปรียบเทียบของ 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ในตลาดจีน มาให้ดูตามตารางข้างล่างนี้
นอกจากนี้ ทาง Bloomberg ยังได้เปรียบเทียบการเติบโตของทั้ง Luckin และ Starbucks ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจ ดังในภาพแรก ซึ่งประกอบด้วย การเติบโตของรายได้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของทั้ง 2 แบรนด์
แต่ประเด็นที่สำคัญคือ Bloomberg ต้องการนำเสนอให้เห็นว่า แบรนด์กาแฟน้องใหม่อย่าง Luckin ที่ชูกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยใช้โมเดล Pick-up & Delivery Service กำลังทำให้แบรนด์ที่ลุยตลาดกาแฟในจีนมา 20 ปี ต้องหันมาปรับตัวสู้ในโมเดลเดียวกัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและการเติบโตในตลาดกาแฟจีนไว้ให้ได้
ถ้ามองตัวเลขที่นำเสนอนี้ ก็จะพอเข้าใจได้ว่า เหตุใด Starbucks จึงต้องเพ่งสมาธิและทุ่มทรัพยากรไปที่ตลาดจีน….
ใครเลยจะเชื่อว่า สตาร์ทอัพที่อายุยังไม่ถึง 2 ปี จะสร้างแรงสั่นคลอนต่อบัลลังก์ของ Starbucks ได้ขนาดนี้ … สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ไปคือ Endgame ของสงครามครั้งนี้จะเป็นอย่างไร Luckin จะเปลี่ยนศึกตลาดกาแฟจีนให้กลายเป็น “สมรภูมิช้างชนช้าง” หรือสุดท้ายแล้ว จะมี “สองยักษ์” แบ่งเซ็กเมนต์ (Segment) แล้วแยกกันโตในตลาดจีน …
ขณะที่สาวก Starbucks ก็อาจจะต้องจับตาว่าจะมีประเทศต่อไปท่ีจะถูกขายสิทธิ์บริหารร้าน Starbucks อีกหรือไหม่ ส่วนสาวก Starbucks ประเทศไทย ก็คงต้องลุ้นว่าภายใต้การบริหารร้านของผู้ดูแลคนใหม่ จะมีนโยบายอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือไม่ …แต่กลุ่มที่น่าจะลุ้นที่สุดตอนนี้ คงเป็นพนักงาน Starbucks
ข้อมูลอ้างอิง Bloomberg1, Bloomberg2