ในยุคนี้ที่ Influencer Marketing เฟื่องฟู และกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง โดยเมื่อปี 2019 พบว่า ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 4.5 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามความแรงและการโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ , บริการจัดส่งพัสดุ และฟู้ดส์ เดลิเวอรี่ ที่นิยมใช้ Influencer มาทำการตลาด
ส่วนในปี 2020 การตลาดดังกล่าวจะร้อนแรงขึ้นมากแค่ไหน และมีเทรนด์อะไรที่น่าสนใจ ทาง ‘สุวิตา จรัญวงศ์’ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) ได้มาอัพเดทข้อมูลให้ฟัง ซึ่งเราขอสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
– 87% ของนักช้อป คือ คนที่เห็นรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อ โดยตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเมื่อปี 2019 เพิ่มขึ้นจาก 68% ในปี 2018 นั่นสะท้อนให้เห็นว่า การเห็นรีวิวของ Influencer มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
– แม้จะรู้ว่าเป็นการรีวิวจากการจ้าง แต่ 60% ของผู้บริโภคก็ยังเต็มใจดูและเชื่อ เพราะเวลามีการรีวิว Influencer จะใช้ profile ของตัวเองที่เป็นข้อมูลจริง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น เหมือนเวลาเพื่อนบอกเพื่อน
– 51% ของบริษัทที่ใช้ Influencer จะมีการใช้ Marketing automation เพื่อประสิทธิภาพในการกำหนดกลยุทธ์และประเมินผล ดังนั้นจึงเป็นการเตือนนักการตลาดและบริษัทโฆษณาว่า นอกจากครีเอทีฟแล้ว จำเป็นต้องมี AI ซึ่งถือเป็น Marketing automationg เข้ามาร่วมในวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ด้วย
-เทรนด์ที่น่าสนใจตอนนี้ คือ การใช้ influencer ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสาย Mass อย่างท่องเที่ยว และบิวตี้ แต่กลายเป็น Niche ด้วยการใช้ Micro influencer ที่ลงลึก เช่น ด้านการเงิน , การเที่ยวคนเดียว หรืออะไรเก๋ ๆ ที่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น ซึ่งเทรนด์นี้เพิ่งเห็นเมื่อปีที่ผ่านมา
-Influencer กลายเป็น O2O Tools ที่ผนวกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยระดับ celeb ที่มีคน follower ระดับหมื่นหรือแสนขึ้นไป จะทำหน้าที่สร้างกระแสความน่าสนใจและสร้างภาพลักษณ์ ส่วนการดึงลูกค้าเข้าร้าน หรือเกี่ยวกับการขาย จะเป็นหน้าที่ของ Micro influencer เพราะนอกจากรีวิว ยังมีการเพิ่มในการให้ส่วนลด และโปรโมชั่นต่าง ๆ ซึ่งสุวิตาบอกว่า วิธีนี้เวิร์คมาก ๆ
“การเลือกใช้ Influencer ตอนนี้ไม่ได้ดูแค่ยอด follower แต่ต้องดูเปอร์เซ็นต์ของการ engagement และ click to rate คือ ต้องวัดผลได้ชัดเจน และมีความเป็นมืออาชีพ เพราะตอนนี้ทั้ง Influencer และคอนเทนท์ มีจำนวนมาก fake news ก็เยอะ เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่รับรีวิวสินค้าที่สุ่มเสี่ยงต่อกฏหมาย”
รู้หรือไม่ Influencer ในแต่ละสื่อทำหน้าที่แตกต่างกัน
นอกจากรู้จักเลือกใช้ Influencer ให้เหมาะสมกับสินค้าและแคมเปญแล้ว การเลือกสื่อที่ใช้ก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ
หากต้องการสร้างเทรนด์หรือกระแส ต้องใช้ Twitter
หากต้องการสร้างการสื่อสาร ต้องเลือกใช้ Facebook
หากต้องการสร้างอิมเมจ และยอดขาย ต้องใช้ Instagram
โดยการสร้างอิมแพคของแคมเปญหรือสินค้า ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้เฉพาะ celeb หรือ Influencer เบอร์ใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่สามารถใช้ Micro influencer หลาย ๆ คนมาทำแคมเปญร่วมกัน ที่เรียกว่า ‘กองทัพมด’ ก็สามารถสร้างพลัง share of voice ได้
เช่น แคมเปญพลังงานสะอาด ที่ใช้ Micro influencer จำนวน 5,000 คน สร้าง #พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ และยิงคอนเทนท์ต่อเนื่องไป 4-5 วัน จนสร้างแรงกระเพื่อมติดเทรนด์ทวิตเตอร์ได้ เป็นต้น
เศรษฐกิจไม่ดี แนวโน้ม Influencer ยิ่งโต
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจในปีนี้ที่ดูไม่เอื้ออำนวยมากนัก จนทำให้หลายต่อหลายธุรกิจกังวลต่อการเติบโต แต่สำหรับวงการ Influencer แล้ว สุวิตาบอกว่า เห็นสัญญาณบวกถึงการใช้มากขึ้น โดยพบว่า 75% ของนักการตลาดจะมีการใช้งบกับ Influencer Marketing เพิ่มขึ้นชัดเจน ด้วยการโยกงบมาร์เก็ตติ้งส่วนอื่น อาทิ พีอาร์ อีเวนท์ และโฆษณา
“Micro Influence ราคามีตั้งแต่หลักร้อยบาทไปถึงหลักพันบาท หากถามความคุ้มค่า เราลงทุนใน Micro influencer 1 บาท จะได้คืน 7 บาท ขณะที่ celeb เรทราคามีตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงแสนบาท หากลงทุน 1 บาท ได้คืน 50 สตางค์ แต่ข้อได้เปรียบ คือ จะได้เรื่องของภาพลักษณ์ ซึ่งประเมินค่าได้ยากและเป็นสิ่งที่ Micro influencer ทำให้ไม่ได้ ดังนั้นการใช้ influencer Marketing จึงเป็นเรื่องของกลยุทธ์ที่ต้องวางให้เหมาะสม”