วิเคราะห์เหตุผล ทำไม ‘GMM Grammy’ ถึงปั้นศิลปินเป็นแบรนด์ เพื่อร่วมวงแข่งขันใน ‘ธุรกิจขายตรง’

  • 355
  •  
  •  
  •  
  •  

หรืออาจเห็นความสำเร็จจากคู่แข่งอย่าง RS จึงทำให้ ‘GMM Grammy’ กระโดดเข้าสู่ธุรกิจขายตรงแบบ SLM (Single-Level Marketing) ภายใต้บริษัทใหม่ ‘GMM GOODS’ และได้เปิดตัวโปรดักท์แรกไปแล้ว นั่นคือ สินค้ากลุ่ม Beauty แบรนด์ ‘ออร่า-ทัย’ ของนักร้องชื่อดัง ‘ต่าย-อรทัย ดาบคำ’

การขยายธุรกิจเข้าสู่น่านน้ำใหม่นี้ หากลองวิเคราะห์แล้วมีเหตุผลน่าสนใจอยู่หลายข้อ คือ

– ตอบโจทย์การสร้าง ‘แม่น้ำสายใหม่’ สำหรับสร้างรายได้เพิ่มนอกเหนือจากธุรกิจบันเทิงที่ทำรายได้หลักให้บริษัท เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดย GMM Grammy มองว่า คุ้มที่จะลงทุน เนื่องจากธุรกิจขายตรงเป็นตลาดใหญ่ โดย ณ ตอนนี้มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท และเป็นธุรกิจที่เหมาะกับช่วงนี้ที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คนทำงาน ก็อยากทำขายตรงเป็นอาชีพเสริม ขณะที่คนว่างงาน ก็ต้องการยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้

– เป็นการใช้ และต่อยอด Asset สำคัญของบริษัท นั่นคือ ศิลปินที่มีอยู่ในมือกว่า 300 คนให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และการนำศิลปินมาปั้นเป็นแบรนด์ เพื่อสร้าง Star Product  ก็เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเห็นตัวอย่างความสำเร็จมากมาย อาทิ FENTY BEAUTY ของนักร้องดังระดับโลก ‘RIHANNA’ ,  Kylie Cosmetic ของ Kylie Jenner เป็นต้น

– การเข้าสู่ธุรกิจขายตรง ถือเป็นเสริมความแข็งแกร่งให้ GMM Grammy ในเรื่องช่องทางการขาย เพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้เป็น Omni-channel มากขึ้น  จากปัจจุบันที่ตอนนี้มีช่องทางโฮมชอปปิ้ง อย่าง  ‘O Shopping’ ที่ทาง GMM Grammy ร่วมทุนกับ CJ O Shopping จากประเทศเกาหลี หรือกรณีที่ GMM TV จับมือขายสินค้าให้กับ ‘มิสทิน’ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังเป็นการใช้ศักยภาพของบริษัทที่มีความหลากหลายของธุรกิจ ทั้งเพลง , อีเวนท์ , ทีวี และเมอร์ชัลไดซ์ ฯลฯ มาใช้เกิดประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนำมาใช้เป็นช่องการทำการตลาดส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่สำคัญ คือ การนำ Big Data ที่ธุรกิจภายในเครือมีอยู่มหาศาล มาต่อยอดหรือพัฒนา เพื่อเพิ่มยอดขายและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ

 

ขอโตจาก บ่อน้ำที่เรียกว่าแฟนคลับ’ และหัวใจ คือ Big Data

“ด้วยธุรกิจเรามีความหลากหลาย ทำให้มีข้อมูลว่า มีฐานแฟนกลุ่มไหนบ้าง จำนวนเท่าไร และเป็นแฟนใคร มีกำลังซื้อเป็นอย่างไร ซึ่งมาใช้ประโยชน์ได้ดีมาก และเห็นความสำเร็จมาแล้วจากธุรกิจโชว์บิสของเรา ที่นำ Big Data มาใช้แล้วได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและโตแบบสวนกระแสเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะนำมาใช้เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจขายตรงเช่นกัน” ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารบริษัท GMM GOODS กล่าวพร้อมเสริมว่า

ภาวิต จิตรกร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

การเข้าสู่ธุรกิจขายตรงของ GMM Grammy ใช้เวลาเตรียมการ 3 ปี โดยโมเดลธุรกิจ ทางศิลปินจะร่วมเป็นเจ้าของแบรนด์กับทางบริษัททำงานแบบร่วมหัวจมท้าย เป็นเจ้าของสินค้าจริง ๆ ไม่ใช่ Boss ไม่ใช่ Presenter และรายได้จะแบ่งจากผลกำไรที่ได้

ส่วนเหตุผลที่เลือกรูปแบบ SLM (Single-Level Marketing) นั้น เพราะต้องการสร้างช่องทางใหม่ที่หลากหลายและแปลกใหม่ให้กับทาง GMM GRAMMY ต่างจากคู่แข่ง และนอกจากขายตรงแล้ว รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ตามเทรนด์ที่ได้รับความนิยม ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย Line@ , Facebook , อีคอมเมิร์ซ และผ่าน Call center

ขณะที่การเลือกศิลปินที่จะนำมาสร้าง Star Product , การเลือกประเภทโปรดักท์ , การวางราคา , วางแผนการขาย ฯลฯ ทั้งหมดมาจากการวิเคราะห์ Big Data ล้วน ๆ เริ่มต้นจากนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเลือกแฟนคลับที่มีความพร้อม ซึ่งพร้อมในที่นี้หมายถึงทั้ง ‘จำนวน’ และ ‘กำลังซื้อ’

ถัดมา เป็นการดูข้อมูลว่า ฐานแฟนดังกล่าวเป็นของศิลปินคนไหน โดยคนศิลปินคนนั้น ต้องมีตัวตนชัดเจน มีฐานแฟนคลับที่ต้องมีเกินหลักล้านขึ้นไป และเป็นกลุ่มแฟนที่มีความผูกพันกับศิลปินเหนียวแน่น จากนั้นถึงนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาว่า จะผลิตโปรดักท์อะไร ในเซ็กเม้นท์ไหน ให้เหมาะกับกลุ่มแฟนคลับและศิลปินที่วางไว้ ซึ่ง Star Product ที่ออกมานั้น ไลน์สินค้าจะต้องไม่ทับซ้อนกัน เพื่อเลี่ยงการแข่งขันกันเอง

“สิ่งที่แบรนด์หรือสินค้าต่าง ๆ ต้องการมากที่สุด คือ สร้างกลุ่มลูกค้าที่มีความจงรักภักดี และการที่ GMM Grammy มี Asset สำคัญนี้อยู่แล้ว ทำไมถึงจะไม่ทำ และเราเองเชื่อในพลังของ Fan Base marketing หรือบ่อน้ำแฟนคลับ ก็ทำให้เราโตได้แล้ว ไม่ต้องไปแข่งกับคนอื่น”

อย่างศิลปินที่นำมาปั้น Star Product คนแรก คือ ‘ต่าย-อรทัย’ ที่มีฐานแฟนคลับเป็นจำนวนมากและมีความพร้อมในเรื่องกำลังซื้อ ติด 1 ใน 5 ของศิลปินในเครือ GMM ที่มีอยู่กว่า 300 คน โดยมียอดผู้ติดตาม 5,500,000 Followers ใน Facebook , Instagram 600,000 Followers และ YouTube 720,000 คน บวกกับอยู่ในวงการมานานกว่า 20 ปี ทำให้กลุ่มแฟนมีความผูกพันเหนียวแน่น และพร้อมจะสนับสนุนทุกเรื่องไม่ว่า ต่าย-อรทัยจะทำอะไร

ส่วนศิลปินอีก 4 คนที่ติด 1 ใน 5 อันดับแรกเช่นเดียวกัน  ได้แก่ เบิร์ด-ธงไชย , ตูน บอดี้สแลม , เป๊ก-ผลิตโชค และ หนุ่ม-วงกะลา

ตั้งเป้ายอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทใน 3 ปี

“มีคำถามเหมือนกันว่า ทำไมไม่เริ่มด้วยพี่เบิร์ด-ธงไชย เรามองไว้เช่นกัน แต่ต้องการเดินในตลาดลูกทุ่ง เพราะเป็นฐานใหญ่ และมีกำลังซื้อ ที่สำคัญเมื่อวิเคราะห์ Big Data ในเชิงลึก พบว่า คุณต่ายมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และเป็นแฟนคลับที่มีความผูกพันไม่เฉพาะตลาดในไทย ยังมีในกลุ่ม CLMV ด้วย ทำให้เราจะขยายโปรดักท์ไปตลาดพวกนี้ เริ่มจากสปป.ลาวเป็นที่แรก”

ปัจจุบัน GMM Grammy มีศิลปินในสังกัดราว 300 คน ทางภากรบอกว่า มี 10% ที่มีศักยภาพในการปั้น Star Product และเข้ามาอยู่ในธุรกิจของ  GMM GOODS ได้ โดยปีหน้าจะเห็นศิลปินอีก 2 ราย ในเซ็กเม้นท์ของสินค้ากลุ่ม FMCG หรือกลุ่มสินค้าสุขภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่กำลังการสรุป

เป้าหมายของธุรกิจ ตั้งเป้าที่จะมีตัวแทนขาย 9,000 คน ในปีที่ 1 ก่อนจะเพิ่มเป็น 15,000 คนในปีที่ 2 และ 25,000 คน ในปีที่ 3 ปี ส่วนยอดขายตั้งเป้า 100 ล้านบาท ในปีแรก และไม่ต่ำ 500 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

 

 


  • 355
  •  
  •  
  •  
  •