เป็นข่าวกันสดๆ ร้อนๆ กรณีทีมงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของเฟซบุ๊คตรวจพบพฤติกรรมผิดปกติ และ “สั่งปิด” 12 แอคเคานท์ และ 10 เพจที่เปิดในประเทศไทย ด้วยข้อหามีพฤติกรรมอำพรางตัวตน ทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ปลุกปั่น และสร้างความแตกแยก
ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการเป็นข่าว ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อเพจ และแอคเคานท์ที่ถูกดึงลง จนทำให้หลายฝ่ายลากเข้ามาสู่ดราม่าการเมืองไทย
แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น ที่น่าสนใจ คือ ไม่ใช่เฉพาะแค่แอคเคานท์ที่เปิดในไทยเท่านั้นที่ถูกลงดาบในครั้งนี้ เพราะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทางเฟซบุ๊คได้ลงดาบกับแอคเคานท์ “ล็อตใหญ่” ในประเทศอื่นด้วย
โดยสรุปตัวเลขจำนวนแอคเคานท์ที่ถูก “ดึงลง” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 294 แอคเคานท์, 1509 เพจ, 32 กลุ่ม และอีก 5 อินสตาแกรมแอคเคานท์ ใน 4 ประเทศ คือ ไทย, รัสเซีย, ยูเครน และ ฮอนดูรัส
จากการชี้แจงของ คุณนาธาเนียล ไกลเชอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายความปลอดภัยไซเบอร์ของ Facebook สำนักงานใหญ่ ผ่านวิดีโอคอลล์กับผู้สื่อข่าวในประเทศไทยรวมถึง Marketing Oops! เขาอธิบายว่า เหตุการณ์ที่ตรวจจับทั้ง 4 เครือข่ายนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เพียงแต่มี “พฤติกรรม” คล้ายกันในเรื่องการอำพราง “ปลอมแปลงตัวตน” และมีการทำงานอย่างเป็น “เครือข่าย” เพื่อ “วัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง” โดยพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ในทางเทคนิคของเฟซบุ๊ค เรียกว่า Coordinated Inauthentic Behavior หรือ “CIB”
“เราทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจจับ และยับยั้งกิจกรรมในลักษณะนี้ เนื่องจากเราไม่ต้องการให้บริการของเราถูกใช้ในทางไม่ถูกต้องหรือหลอกลวงผู้อื่น จึงเป็นเหตุผลให้เราทำการลบเพจและแอคเคานท์รวมถึงกลุ่มที่ต้องสงสัยเหล่านี้” คุณนาธาเนียล กล่าว
เขาอธิบายถึงวิธีการทำงานของทีมงานว่า จะใช้ระบบตรวจจับอัตโนมัติ เพื่อสอดส่องแอคเคานท์ที่ปลอมแปลงตัวตน ตรวจดูความผิดปกติ และจะส่งข้อมูลมายังทีมงานให้ทำการสืบสวนสอบสวนต่อในเชิงลึก โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเคสนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัท องค์กรที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงเอ็นจีโอ เพื่อหาเบาะแสเพิ่มเติม
เขายืนยันว่า เพจหรือแอคเคานท์ทั้งหมดที่ถูกปิด ไม่ได้เป็นเพราะ “เนื้อหา” ที่โพสต์ขึ้นไป แต่เป็นเพราะ “พฤติกรรม” ที่ผิดปกติ
สำหรับ เพจ และ แอคเคานท์ในไทย ซึ่งถูกสั่งปิดไปทั้งสิ้น 12 แอคเคานท์ และ 10 เพจ เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น พบการโยงใยเป็นเครือข่าย โดยมีเป้าหมายในไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
เครือข่ายนี้ เริ่มตั้งแต่การสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอม และมีการซื้อบูสต์เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ (โพสต์เป็นภาษาอังกฤษ) รวมถึงนำทางคนอ่านหรือผู้ติดตามไปสู่ “เว็บไซต์หนึ่ง” ที่แสร้งทำเป็นเว็บข่าวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
จากการเปิดเผยบน facebook newsroom ที่เฟซบุ๊คใช้เพื่อนำเสนอข่าวสารนั้น ได้ให้ข้อมูลว่า เครือข่ายเล็กๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ติดตามรวมกันราว 38,000 แอคเคานท์นี้ จะมีการนำเสนอเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ บางโพสต์จะติดแฮชแท็ก #Thailand และมีการแชร์เรื่องราวและความคิดเห็นที่สร้างความแตกแยกเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมืองไทย ปัญหาของคู่ขัดแย้งระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น จีน-อเมริกา รายงานเหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกง รวมถึงมีเนื้อหาวิพากษ์กลุ่มแอคทิวิสต์ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
แต่อย่างที่บอกในข้างต้น คือ ประเด็นของการตรวจจับไม่ใช่ “เนื้อหา” ที่โพสต์ แต่เป็นพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นการโยงใยเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
สำหรับเคสของไทย เมื่อสืบสวนลงลึก ก็ได้สาวไปถึง “บุคคล” ที่มีตัวตนจริงในที่สุด ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีถิ่นฐานในประเทศไทยจริง และมีความเชื่อมโยงกับ “New Eastern Outlook” วารสารที่ทางเฟซบุ๊คอ้างว่า ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณโดยรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งตั้งอยู่ในมอสโคว
ยิ่งเมื่อดูเปรียบเทียบกับอีก 3 เหตุการณ์ที่ คุณนาธาเนียล ได้นำมาเปิดเผยพร้อมกันนี้ ซึ่งประกอบด้วย
- การตรวจจับและทำการลบ “18 บัญชี, 9 เพจ และ 3 กลุ่ม” ที่มีพฤติกรรม CIB ที่มีต้นกำเนิดในรัสเซีย และมีเป้าหมายโฟกัสไปที่ประเทศยูเครน
สำหรับกลุ่มนี้ ผู้คนที่อยู่เบื้องหลังการกระทำนี้ได้สร้างตัวตนปลอมๆ ขึ้นมา ทั้งตัวตนที่ไม่มีอยู่จริง ไปจนถึงการนำผู้ที่เสียชีวิตแล้วมาสร้างแอคเคานท์ขึ้นใหม่ โดยทีมงานตรวจพบว่า เหล่าแอคเคานท์ปลอมๆ เหล่านี้ได้โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและข่าวสารในประเทศยูเครน โฟกัสที่ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน รวมถึงการวิพากษ์วิจารณรัฐบาลยูเครน
นอกจากนี้ยังพบว่า เครือข่ายนี้พยายามสร้างความนิยมให้กับเนื้อหา (มีการซื้อบูสต์โพสต์) และเช่นกัน คือ “นำทางผู้คนไปสู่เว็บไซต์ที่อยู่นอกเฟซบุ๊ค” โดยช่วงเวลาที่ตรวจพบ เป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งในประเทศยูเครน
- การตรวจจับและทำการลบ “83 บัญชี, 2 เพจ, 29 กลุ่มในเฟซบุ๊ค และอีก 5 แอคเคานท์อินสตาแกรม” ที่มีต้นกำเนิดในรัสเซีย และภูมิภาคลูฮันสก์ในประเทศยูเครน โดยมีเป้าหมายโฟกัสไปที่ยูเครน
เครือข่ายที่ตรวจพบนี้ เป็นการใช้บัญชีปลอมเพื่อเลียนแบบตัวตนของสมาชิกภายในกองทัพทหารในประเทศยูเครน จัดการกลุ่มบนแพลตฟอร์มโดยแสร้งทำเป็นชุมชนทหารจริงๆ และเช่นเคย คือ “นำทางไปสู่เว็บไซต์นอกเฟซบุ๊ค”
เครือข่ายนี้ เน้นการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับประเทศยูเครนและภูมิภาคลูฮันสก์ โดยผู้ดูแลเพจและเจ้าของบัญชีผู้ใช้มักจะโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับข่าวการเมืองและข่าวท้องถิ่นบ่อยครั้ง รวมถึงประเด็นความขัดแย้งด้านกองทัพทหารในภูมิภาคตะวันออกของประเทศยูเครน บุคคลที่มีชื่อเสียง และนักการเมืองชาวยูเครน เป็นต้น
- การตรวจจับและทำการลบ “181 บัญชี และ 1,488 เพจ” ที่มีต้นกำเนิดในประเทศฮอนดูรัส และมีกลุ่มเป้าหมายในประเทศ
สำหรับเครือข่ายนี้ ได้มีการใช้บัญชีปลอมและสร้างเพจที่มีหน้าตาเหมือนโปรไฟล์ผู้ใช้งานทั่วไป โดยใช้ชื่อปลอมและภาพสต็อก เพื่อแสดงความคิดเห็นและกระจายเนื้อหาที่ “สนับสนุนประธานาธิบดีของประเทศ”
ถึงแม้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าวจะพยายามปกปิดตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา แต่การตรวจสอบของทีมงานเฟซบุ๊ค ได้ค้นพบว่าการกระทำบางส่วนได้มีความเชื่อมโยงกับบุคคลที่ดูแลโซเชียลมีเดียให้กับประธานาธิบดีของฮอนดูรัส
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะพอชัดเจน และหายดราม่ากันขึ้นมาได้ว่า เพจหรือแอคเคานท์ที่ถูกปิดไป ไม่ได้มีเป้าหมายโดยตรงกับการเมืองไทยเป็นหลัก โดยถึงแม้ คุณนาธาเนียล จะไม่ได้ชี้ชัดว่า ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน แต่ถ้า “ตั้งใจอ่าน” ก็น่าจะพบความเชื่อมโยงด้วยตัวเองได้อย่างแน่นอน!