เห็นพาดหัวแล้วเชื่อว่า หลายคนต้องคิดว่า ยังมีเพจเจอร์อยู่ในโลกนี้อีกเหรอ?
คำตอบก็คือใช่ เช่นที่สหรัฐอเมริกา และอังกฤษก็ยังมีใช้กันอยู่ เช่น ในวงการแพทย์ที่คงจะคุ้นๆ กันอยู่บ้างในหนังภาพยนตร์ที่จะเห็นคุณหมอพกเพจเจอร์ไว้กับตัวเวลามีเหตุฉุกเฉินก็ตามตัวกันผ่านเพจเจอร์นี่แหละ
แต่น่าเสียดายสุดๆ สำหรับญี่ปุ่นที่เป็นประเทศล่าสุดที่ต้องโบกมือลาเพจเจอร์อย่างเป็นทางการไปเมื่อเที่ยงคืนสิ้นเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจาก Tokyo Telemessage Inc. ผู้ให้บริการเพจเจอร์รายสุดท้ายของญี่ปุ่นถึงคราวต้องยกเลิกการให้บริการไปในที่สุด
ย้อนหลังกลับไปก็นานถึง 50 ปีเลยทีเดียว ที่ชาวญี่ปุ่นได้รู้จักกับเพจเจอร์ โดยครั้งหนึ่งมันเคยเป็นอุปกรณ์สุดฮิตที่วัยรุ่นญี่ปุ่นแทบทุกคนต้องมี จนกระทั่งโทรศัพท์มือถือเข้ามาแทนที่วิทยุติดตามตัวเครื่องจิ๋ว ความนิยมการใช้เพจเจอร์ก็ลดถอยลง
ที่ผ่านมา เหลือผู้ใช้กลุ่มหลักๆ อยู่ไม่มาก เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล เนื่องจากต้องการความมั่นใจในสัญญาณ เพราะการส่งข้อความแต่ละครั้ง ย่อมหมายถึงเหตุฉุกเฉินที่พลาดไม่ได้โดยเด็ดขาด ซึ่งการส่งสัญญาณของเพจเจอร์นั้นมีความเสถียรกว่าคลื่นโทรศัพท์มือถือในยุคนั้น
นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นเด็กซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือ ก็จะเป็นท่าน สว. ทั้งหลายที่ยังคุ้นเคยกับการใช้งานอยู่
ส่วนวัยรุ่นน่ะเหรอ..ลืมไปได้เลย หลายคนไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อของเจ้าเครื่องวิทยุติดตามตัวนี้เสียด้วยซ้ำ
แต่ถ้าย้อนกลับไป สมัยที่เพจเจอร์เป็นไอเท็มสุดคูลของวัยรุ่นญี่ปุ่นนั้น มันได้สร้างวัฒนธรรมย่อยที่มีแต่วัยรุ่นเท่านั้นที่จะรู้กัน
วัยรุ่นญี่ปุ่นยุค 90 จะมีโค้ดลับในการส่งข้อความกันสุดครีเอท เช่น การส่งข้อความเป็นตัวเลขว่า “33414” ในภาษาญี่ปุ่นสามารถออกเสียงได้ว่า “samishiiyo” หมายถึง “ฉันเหงา”
หรือถ้าส่งข้อความเป็นหมายเลข “999” ก็จะแปลว่า “ขอบคุณ” เพราะ “เลข 9 สามตัว” อ่านแบบญี่ปุ่น คือ “san” แปลว่า 3 ส่วน kyū หมายถึงเลข 9 เมื่อมารวมกัน ก็จะได้ความหมายว่า “ขอบคุณ” แบบญี่ปุ่นๆ หรือ “sankyū” นั่นเอง
จากความนิยมที่พีคสุดๆ มีผู้ใช้บริการรวมทั้งหมดเป็นหลักสิบล้านคนในอดีต เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนผู้ใช้บริการก็ลดน้อยลง จนผู้ให้บริการเริ่มทยอยปิดบริการไป แม้กระทั่งรายใหญ่อย่าง NTT Docomo Inc. ก็ยังยกเลิกบริการไปตั้งแต่กว่าสิบปีที่แล้ว
เหลืออยู่ก็เพียง Tokyo Telemessage ที่พยายามยืนหยัด โดยแม้จะลดพื้นที่การให้บริการเหลือเพียงเขตโตเกียว บริเวณใกล้เคียงไซตามะ จังหวัดชิบะ และคานางาวะ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ต้องหยุดให้บริการในที่สุด เพราะจากที่เคยมีผู้ใช้สูงสุดถึง 1.2 ล้านคนเมื่อปี 1996 มาในปัจจุบันกลับเหลือผู้ใช้ราวๆ 1,500 รายเท่านั้น จึงไม่คุ้มค่าที่จะให้บริการต่อไป
จึงเป็นอันว่า ชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย ได้เวลาโบกมือลาเจ้าเพจเจอร์เครื่องจิ๋วไปในที่สุด
และเพื่อให้สมกับการเป็นดินแดนสุดคาวาอี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่ย่านอากิฮาบาระ ก็ได้มีการจัดพิธีเล็กๆ เปิดให้คนได้เข้ามาร่วมไว้อาลัย วางดอกไม้และโค้งคำนับ โดยเฉพาะไม่ลืมโค้ดสำคัญนั่นก็คือ ตัวเลข “1141064” ที่หมายความถึง Ai shiteiru หรือ “ฉันรักคุณ” เพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาดีๆที่คุณปู่เพจเจอร์เคยเคียงข้างชาวญี่ปุ่นมานานถึง 50 ปีนั่นเอง
Source : japantimes, soranews24