“กว่าจะเป็น วี สืบศักดิ์” เบื้องหลังผู้ก่อตั้ง Vcommerce จาก Underdog สู่นักปั้นแบรนด์มืออาชีพ ผลักดัน Nana Fruit แบรนด์คนไทยเพื่อเกษตรกรไทย

  • 19.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

ใครเลยจะรู้ว่าเด็กน้อยในถิ่นกันดารที่ฝันอยากจะเป็นนักร้องนักดนตรีร็อค อย่างบอดี้สแลมและซิลลี่ฟูล เรียนไม่เก่ง เกือบไม่จบ และใครๆ ต่างก็มองข้าม สู่การเป็นเจ้าของบริษัท Vcommerce บริษัทคอนซัลท์ธุรกิจออนไลน์ โด่งดังในแวดวงธุรกิจเครื่องสำอางและความงาม จะพลิกผันตัวเองจาก Underdog สู่การเป็นนักปั้นต่างๆ ได้สำเร็จในวัยเพียงแค่ 30 ปี

v1

และหลังจากอยู่เบื้องหลังการสร้างแบรนด์ต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จมากมาย วี สืบศักดิ์ ลิ่วลักษณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Vcommerce ที่ปรึกษาธุรกิจออนไลน์ให้กับแบรดน์เครื่องสำอางและคลินิคความงาม ตัดสินใจขอเป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนสังคมด้วยการสร้างแบรนด์ของตัวเอง เพราะธุรกิจของเขาไม่ได้เน้นไปที่การสร้างผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งก็เน้นการคืนกำไรสู่สังคม และสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอีกด้วย กลายเป็นอีกหนึ่ง Social Enterprise ที่น่าสนใจยิ่งของไทย ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า Nana Fruit จำหน่ายผลไม้อบแห้งนานาชนิด ที่รับวัตถุดิบผลไม้จากชาวไร่โดยตรงส่งขายทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้กำลังมาแรงในตลาดออนไลน์อย่างมาก

และวันนี้ Marketing Oops! จะมาล้วงลึกเคล็ดลับความสำเร็จจากการสร้างแบรนด์ของ “วี สืบศักดิ์” ตั้งแต่การเป็นผู้อยู่เบื้องหลังให้แบรนด์ดังต่างๆ จนมาถึงการผลักดันแบรนด์ของตัวเองที่ทำตามความฝันส่วนตัวว่าจะมุ่งมั่นช่วยเหลือชาวไร่ชาวสวนยกระดับให้คนในท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้

v2

วี สืบศักดิ์ ลิ่วลักษณ์ ชายหนุ่มอารมณ์ดีเดินมาพร้อมรอยยิ้มและนัยน์ตาหยีแสดงความเป็นคนไทยเชื้อสายจีนอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าบอกว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นคนใต้ เกิดที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส คงไม่มีใครเชื่อแน่ๆ วี เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งยังเด็กให้เราฟังคร่าวๆ ว่า เรื่องที่คิดจะมาทำงานด้านธุรกิจค้าขายไม่เคยอยู่ในหัวแม้แต่น้อยเลย แต่จับพลัดจับพลูต้องมาเรียนสายธุรกิจเพราะแค่ว่าไปเป็นเพื่อนยืนต่อคิวกับเพื่อนข้างบ้าน

“ผมเรียนจบคณะ Management of Technology สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (เอสไอไอที) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการไปสมัครแบบไม่ตั้งใจจริงๆ เพราะความจริงแล้วอยากจะเรียนเอกดนตรีด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นบ้ากีตาร์มากๆ อยากเป็นแบบบอดี้สแลม เป็นซิลลี่ฟูล อะไรแบบนี้ แต่ว่าพอดีที่เพื่อนข้างบ้าน เรียนเก่ง เลยมาชวนสอบธรรมศาสตร์กับมหิดลอินเตอร์ ผมซึ่งอยู่บ้านนั่งดูคอนเสิร์ตอยู่ แม่ก็คิดว่าไหนๆ ก็ไม่ได้ทำอะไรจะได้มีเพื่อนไปช่วยเข้าคิวต่อแถวกันด้วย”

v3

เด็กเกเรสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต

คุณวี ยังเล่าต่อด้วยว่า แม้ว่าพอเข้ามาเรียนแล้วก็ยังไม่ได้ตั้งใจเรียนอีก ปี 2 ยังคิดที่จะไปประกวดดนตรีกับเพื่อนอยู่เลย จนมาทราบปัญหาทางบ้านจากพี่ชายว่าพ่อแม่เป็นหนี้สินติดแบงก์อยู่ 10 ล้านบาทจะไม่มีปัญญาจ่ายค่าเทอมอยู่แล้ว ทำให้เราได้คิดว่าจะมาเรียนไปวันๆ แล้วอยู่หอแพงๆ กินข้าวแพงๆ กับเพื่อนอินเตอร์ไม่ได้แล้ว ค่าเทอมเราเทอมหนึ่งก็ 2 หมื่นกว่าบาท คงไม่ไหวแน่ๆ ก็เลยตัดสินใจพักความฝันตัวเองไว้ แล้วก็เริ่มตั้งใจเรียนมากขึ้นคิดว่ามาเอาดีทางธุรกิจดีกว่า อย่างน้อยก็ได้ช่วยทางบ้านด้วย

“ตอนแรกเราก็คิดว่าให้เราเลิกเพื่อที่จะให้เราเรียนดีตั้งใจเรียน ซึ่งเราก็ยังรู้สึกดื้ออยู่นะ ทะเลาะกับพี่ชายเลย ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้ดีด้านนี้ได้ยังไง แต่พอพี่พูดเรื่องจริงคือว่าที่บ้านจะไม่มีตังก์ส่งเอ็งเรียนแล้วนะ แล้วเอ็งยังจะเรียนแบบไม่รอดอีกเหรอ ก็เลยได้คิดกลับมาตั้งใจเรียน มาเอาดีทางธุรกิจแทน”

ทำให้ระหว่างที่เรียนตนก็เริ่มรับจ้างทำเว็บ ทำตลาดออนไลน์ตามที่เรียนมาไปด้วย โดยได้ไปเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาที่กระทรวงพาณิชย์ รับจ้างทำวิจัยจากอาจารย์บ้าง รับจ้างเขียนแผนธุรกิจบ้าง ไม่แพงมากเพราะตอนนั้นเรายังเป็นนักศึกษาอยู่ เรียนจบก็มาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว จากนั้นก็มาไปเป็นพนักงานประจำเป็นเซลล์ที่ IBM แล้วก็ได้ไปทำงานที่ PaysBuys เป็นระบบชำระเงินออนไลน์ เป็นบริษัทในเครือของดีแทค ทำให้เพิ่มองค์ความรู้ด้านเซลล์ เพย์เมนต์และฟิตเทคในช่วงนั้นมากทีเดียว

 v4

จากมือปืนรับจ้างสู่การก่อตั้งบริษัทของตัวเอง

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งการทำการตลาด อีคอมเมิร์ซ การทำวิจัย ฯลฯ จากการเป็นฟรีแลนซ์มานาน ทำให้ วี สืบศักดิ์ ตัดสินใจเปิดบริษัทของตัวเอง ในชื่อ VCommerce เป็นบริษัทคอนซัลท์ให้กับธุรกิจ SME โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขายของออนไลน์

“ถ้าคุณอยากขายของออนไลน์ เราช่วยคุณได้ตั้งแต่ว่า คุณควรต้องขายอะไร ตั้งชื่อว่าอะไร มีแพ็กเกจจิ้งหน้าตาเป็นอย่างไร เราเป็นที่ปรึกษาให้กับแม่ค้าธุรกิจเครื่องสำอางและอาหารเสริมโดยเฉพาะ เราโฟกัสธุรกิจด้านความงาม ตั้งแต่คลินิคเสริมความงาม เครื่องสำอาง และอาหารเสริมเพื่อความงาม เรานิยามว่า Beauty Business คือตลาดของเรา”

ปัจจุบันลูกค้าของVCommerce อาทิ Smooth E, Viv Skin ของจุ๋ย-วรัทยา, The Secret Plus ฯลฯ รับเป็นที่ปรึกษาทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เช่นไปขายเซเว่น วัตสัน บูทส์ อีฟแอนด์บอย จะต้องทำอย่างไรบ้าง หรือจะส่งออกจีนอย่างไร เราเองก็มีลูกค้าที่ประสบความสำเร็จและส่งออกจีนได้หลายเจ้าด้วยกัน สามารถแข่งกับแบรนด์ดังในประเทศและชนะด้วย โดยสัดส่วน ออนไลน์ 70% ออฟไลน์ 30% แต่ก็มีฟูลเซอร์วิสคือสามารถทำได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เช่นกัน

NANA Fruit แบรนด์คนไทย เพื่อชาวไร่ไทย

อย่างที่เกริ่นไว้เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ในแบบ Social Enterprise ผ่านแบรนด์ NANA Fruit ซึ่งรับซื้อผลผลิตจากชาวไร่โดยตรงแล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้ง ใส่แพ็กเกจอย่างดี ไม่ผ่านสารเคมี เรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจริงๆ ที่สำคัญคือยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวไร่ชาวสวนเพราะรับซื้อในราคาที่สูงและสามารถส่งผลผลิตป้อนโรงงานได้ตลอดทั้งปี

v5

จุดนี้ วี สืบศักดิ์ เล่าให้เราฟังอย่างละเอียดว่า อันที่จริงแล้ว NANA Fruit เกิดจากความคิดที่ว่า ตนและภรรยาซึ่งเธอเป็นชาวเชียงใหม่ มีธุรกิจที่บ้านคือส่งออกลำไยอบแห้งส่งประเทศจีน แล้วเราก็พบปัญหาว่าชาวไร่พวกนี้สามารถทำงานให้กับเราได้แค่ 3 เดือน แต่ที่เหลือ 9 เดือนพวกเขาจะไม่มีงานทำกันเลย แล้วบางคนก็ไปเล่นการพนัน ไม่ก็แทงหวย เป็นช่วงเวลาที่ไม่ก่อประโยชน์เพราะหมดช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เราจึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ช่วงเวลาที่เหลือจะทำอย่างไรให้เขามีรายได้ มีงานทำ และสามารถส่งผลผลิตได้ตลอดทั้งปี จึงได้คิดสร้างแบรนด์ NANA Fruit ขึ้นมา โดยใช้ความเชี่ยวชาญจาก VCommerce มาทำการตลาดให้แบรนด์

“คีย์ของเราคือ เมื่อก่อนเกษตรกรเหล่านี้เขาอาจจะทำแค่ปลูกลำไยอย่างเดียว ส่งลำไยมาเรามาอบแห้งขาย แต่ตอนนี้เราบอกเขาว่าไปเอาอย่างอื่นมาขายให้เราได้อีกนะ มาขายให้กับแบรนด์ NANA Fruit เราจะรับซื้อผลไม้ทุกชนิดช่วยเกษตรกรได้ทั้งปี เพราะผลไม้ไทยมีออกตลอดทั้งปี ส่วนจะเป็นผลไม้ชนิดไหนก็ตามแต่ฤดูกาลเรารับซื้อหมด”

v6

คุณวี ย้ำว่า การสร้างแบรนด์จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ทำให้เราตั้งราคารับซื้อที่สูงขึ้นได้ ชาวไร่ก็จะมีรายได้มากขึ้น สินค้าก็จะมีคุณภาพที่ดี คนซื้อเขาก็จะได้รู้ว่าผลไม้ไทยมันดีจริง ไม่ใช่รีบปลูกรีบขาย สุกรึเปล่าก็ไม่รู้ก็รีบเอาไปอบเลย

ปัจจุบันส่งออกจีนถึง 90% แต่ตอนนี้เราเริ่มทำตลาดที่ไทยมากขึ้น ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

“ป้านา” แคมเปญการตลาด สะท้อนสังคมชนบท

เมื่อถามว่าในทางการตลาด VCommerce ได้ช่วยผลักดันสินค้าของ NANA Fruit อย่างไรบ้าง ผู้บริหารหนุ่ม แจงว่า เราได้จัดทำคลิปวิดีโอที่ต้องการสื่อสารว่าการซื้อสินค้าจาก NANA Fruit สามารถช่วยชาวไร่ได้โดยตรงเลย เป็นวิดีโอชื่อ “ป้านา” เป็นการสื่อสารว่าธุรกิจที่เราทำตรงนี้ช่วยสังคมช่วยเกษตรกร ได้มากที่สุดด้วย

“มันเป็นภาพที่ผมอยากจะเล่าว่าคนทำออนไลน์ เดี๋ยวนี้ชาวไร่ต้องมาขายเองแล้วนะ นี่คือภาพจริงของสังคมที่คนไม่พูดถึง เดี๋ยวนี้ภาคการเกษตรพยายามหนีคนกลางจนต้องมาขายเอง โดยการที่เรานำป้านามาบอกเล่าว่า ก่อนมาขายของออนไลน์ ป้านาผ่านชีวิตอะไรมาก่อนบ้าง เช่น เล่นหวย วิ่งหาคนทรงเจ้า หรือพนันบอล ซึ่งทั้งหมดมันก็สะท้อนชีวิตจริงของชาวไร่บางส่วน เราก็มองเห็นว่าอยากจะให้เขามีรายได้ตรงนี้ คือถ้าถามว่าอยากจะช่วยอะไรเขาก็คืออยากให้เขามีรายได้มั่นคง แล้วเขาก็จะไม่ไปเล่นพนันหรือแทงหวย ก็เลยหยิบเอาชีวิตจริงที่เราเห็นมาใส่ไว้ในคลิปด้วย ที่สำคัญคือทำให้ดูว่าถ้าคุณซื้อ NANA Fruit ก็คือการที่คุณซื้อกับชาวไร่โดยตรงเลย”

สานฝันวัยเด็ก สู่การสร้าง Social Enterprise

วี เผยความในใจว่า NANA Fruit มันคือการสานฝันส่วนหนึ่งในวัยเด็ก ที่เห็นท้องถิ่นมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องการทำไร่ทำสวน ทำให้เขาคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าตั้งตัวได้จะกลับมาทำให้ชุมชนพัฒนาขึ้น แม้ว่าตอนนี้จะกลับไปบ้านไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เลิกความฝันยังอยากที่จะช่วยเหลือชาวไร่ชาวสวนอยู่ดีแม้จะไม่ใช่พื้นที่บ้านเกิดก็ตาม

“โมเดลผมอยากทำให้เหมือน TOM SHOES คือรองเท้าที่ซื้อ 1 คู่ อีกคู่ 1 ส่งไปบริจาค แบบนั้นเลยครับ เป็น Social Enterprise ของแท้ คือเราไม่เน้นเรื่องกำไร ด้วยความที่บ้านผม อ.สุไหงโกลก มีปัญหาเรื่องชายแดนภาคใต้มาตลอด เรื่องของความไม่สงบ เราเห็นสภาพที่ชาวไร่ชาวนายากจน ปลูกพืชไร่ก็ขายลำบาก เราก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาสที่ตั้งตัวได้เราก็อยากจะช่วยเขา ก็อยากจะสานฝันแต่เด็กทำอะไรใหญ่ๆ เพื่อสังคมบ้าง ซึ่งก็เริ่มจากอะไรที่มันง่ายๆ ใกล้ตัว และทำในสิ่งที่เราถนัดคือด้านอีคอมเมิร์ซ ขายของออนไลน์ให้กับชาวบ้าน”

v7

ตั้งเป้าแชมป์เปี้ยนตลาดไทย

ผู้บริหารหนุ่ม กล่าวต่อว่า ตอนนี้เราเริ่มกลับมาโฟกัสตลาดค้าปลีกในเมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากว่าคนจีนบินมาเที่ยวที่เมืองไทยเยอะมาก ซึ่งปัญหาที่เราพบก็คือ หลายๆ แบรนด์เป็นของคนจีน แบรนด์ต่างๆ ที่เราเห็นขายตามห้างหรือเซเว่นก็ตาม ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นคนไต้หวันเป็นคนจีน แต่มาใช้วัตถุดิบผลไม้ไทย ตั้งโรงงานที่เมืองไทย มีหนักกว่านั้นด้วยบางแบรนด์ตั้งโรงงานที่จีน นำเข้าผลไม้ไทยแล้วตั้งชื่อแบรนด์ไทยส่งมาขายคนจีนและคนไทยที่ประเทศไทย ทำให้เรามีความรู้สึกว่า แล้วทำไมคนไทยไม่ขายเองล่ะ ผลผลิตก็ของคนไทย การตลาดเราก็ทำเองได้ด้วย

“เมื่อก่อนเราอาจจะเล่นเกมง่ายคือขายส่งมันไปอย่างเดียวเลย ขายทีเดียว 40-50 ล้านบาท จบเลย เพราะการทำตลาดรีเทล์เมืองไทยมันค่อนข้างกระจัดกระจาย ตลาดมันเล็กมากอยู่ที่ประมาณ 30% เท่านั้นเอง 70% คือต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงไม่สนใจตลาดเมืองไทย เพราะว่ามันขายได้นิด แต่ผมก็ตัดสินใจทำเมืองไทย เพราะอยากจะเป็นแชมป์เปี้ยนในตลาดไทยและตลาดภูมิภาคด้วย เพื่อช่วยชาวไร่ชาวสวนไทยให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ถูกต่างชาติกดราคาอีกต่อไป”

จุดขาย ไม่ปรุงรส ไม่แต่งกลิ่น โกออนไลน์

วี ระบุว่าจะเล่นในเกมที่ตัวเองถนัดคือ การเน้นกลยุทธ์การตลาดผ่านทางออนไลน์อย่างเดียวเลย ซึ่งตนจะใช้หลักการเดียวกับการขายครีมเลย ทั้งทำแคมเปญ ทำคอนเทนต์ ยิง Ad ให้ตรง ทำ CRM ทุกอย่างเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าเราโดยตรง

v8

นอกจากนี้ แพ็กเกจจิ้งเราก็อบแห้งอยู่ในซองได้มาตรฐานคุณภาพ ทำให้คนกินสะดวกสบาย จะจัดส่งไปต่างประเทศก็ง่าย อย่างถ้ามีลูกเรียนเมืองนอกคิดถึงผลไม้ไทยขึ้นมาก็สามารถจัดส่งไปให้ได้ หรือว่าทำงานออฟฟิศ ช่วงเวลาหิวถ้าจะกินลูกชิ้นทอดหมูย่างก็อาจจะกลัวอ้วน เราก็ทำออนไลน์เดลิเวอรี่ส่งไปให้ถึงออฟฟิศเลย ความพิเศษของเราคือ เราไม่ใส่น้ำตาลและเป็นเจ้าแรกๆ ที่อบแห้งแล้วส่งขายเลย ซึ่งมีความเป็นออร์แกนิคสูงมาก เป็นผลไม้ที่เนเชอรัลมากๆ ในขณะที่บางเจ้าต้องมาผ่านกระบวนการอย่างอื่นก่อน เช่น ปรุงรส แต่งกลิ่น แต่ผลไม้เราไม่ผ่านการปรุงแต่งเลย และยังเลือกพันธุ์ที่อร่อยที่สุด

“ที่สำคัญคือสินค้าเหล่านี้ยังไปช่วยเกษตรกรไทยด้วย คือนอกจากเราจะซื้อสินค้าจากชาวไร่ชาวสวนไทยแล้ว กำไรส่วนหนึ่งเราก็จะเอาไปบริจาคเกษตรกรเหล่านั้นด้วย”

จาก Underdog สู่การเป็นผู้ให้

เมื่อถามถึงแนวคิดที่นักธุรกิจไทยลงมาช่วยชาวไร่ชาวสวนไทย จุดนี้ วี สืบศักดิ์ กล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า ส่วนตัวคิดว่าอะไรที่เราทำได้จะมากหรือน้อยก็ต้องทำ คนไทยด้วยกันก็ต้องช่วยคนไทย อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรก็ได้ จะช่วยใครก็ได้ อย่างง่ายๆ เลยคือการให้กับคนในครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ของเราก่อน

v9

“อาจจะเป็นปมด้อยของผมตั้งแต่เด็กก็ได้ ที่หลายคนมักมองว่าผมห่วย เป็น Underdog มากๆ เพราะเรียนก็ไม่เก่ง เล่นแต่ดนตรี แล้ววัยเด็กชอบทะเลาะวิวาท ชกต่อยกับเพื่อน มีเรื่องก็ต่อยไว้ก่อนเลย ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากมีค่าในสังคมบ้าง เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าถ้าเราอยากจะมีค่าในสังคมตรงนั้นก็คือต้องให้เขาให้มากที่สุดเลย ก็เลยเป็นหนึ่งในความคิดตัวเองว่าอยากจะกลับไปยังบ้านเกิด ยิ่งถ้าเรากลับไปพร้อมกับการที่เราเป็นผู้ให้ มันก็จะทำให้เราดูมีคุณค่ากับสังคมขึ้นได้”

ทั้งนี้ การเป็นผู้ให้และการตอบแทนบุญคุณ เป็นส่วนหนึ่งของเคล็ดลับในความสำเร็จของ วี ที่เขาย้ำเสมอคือเรื่องความ “กตัญญู” ทั้งต่อบุพการี ผู้มีพระคุณที่ให้โอกาส และถิ่นฐานบ้านเกิด

อนาคตตลาดไทย ไร้รูปแบบ Formless

ในตอนท้ายเราให้ วี ได้คาดการณ์อนาคตทิศทางตลาดออนไลน์ว่าต่อไปจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร ซี่ง วี ก็ได้ให้ความเห็นได้อย่างน่าสนใจว่า มันคือ Formless มันไม่มีรูปแบบ รูปแบบของ pricing ก็ไม่มี รูปแบบของการ marketing ก็ไม่มี รูปแบบของ service ก็ไม่มีแล้ว คือจะ Formless มากขึ้น และคาดเดาไม่ได้ และถ้ายิ่งแปลกใหม่ยิ่งขายดี อย่าง Mask Singer เป็นตัวพิสูจน์เลย ถามว่ามีนักร้องที่ร้องเพลงเพราะกว่านี้ไหม มีแน่นอน แต่ว่าสิ่งที่รายการทำคือเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของคน มันคาดเดาไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้นักธุรกิจ SME ปรับตัวได้นั้น วี ก็แนะนำว่าจะต้องเป็นคนที่ Social Addict ต้องเสพโซเชียลฯ ตลอด ต้องเกาะติดและติดตามกระแสอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รู้ว่าเทรนด์มันคืออะไร เป็นอย่างไร อย่างล่าสุดคนพูดถึงสายการบิน United พูดถึงโชกุน เราต้องรู้ว่าเขาพูดถึงเพราะอะไร

v10

“คุณไม่ต้องไปเกาะกระแสเขาหรอก แต่คุณต้องรู้ว่าถ้าคุณจะสร้างประเด็นพวกนี้ออกมามันสร้างจากอะไรได้บ้าง ถ้าคุณไม่รู้กระแส ผมว่าเดี๋ยวนี้น่าจะอยู่ยาก”

และเพื่อช่วยให้ธุรกิจ SME ไปได้ไกลกว่านี้ วีก็ได้จัดสัมมนาเพื่อการกุศล Vcommerce Talk ซึ่งในปีนี้ก็จะจัดเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “เผยเคล็ดลับความสำเร็จธุรกิจความงาม” ในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งเราก็ได้เชิญสปีกเกอร์เก่งมาร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ อาทิ รวิศ หาญอุตสาหะ จากศรีจันทร์, จิน-อัมภารัศมิ์ เกษมถิรนันท์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ Blink Bright Beauty, ไลรา ศรีเสงี่ยม ธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Greenway และ เตย-ณัฐกานต์ บุราณรมย์ ซีอีโอ Jellys และกรรมการบริษัท เอ็นทีบีพลัส ไทยแลนด์ จำกัด โดยทั้ง 4 ท่านคือกูรูตัวจริงด้านธุรกิจ (ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่)

“อย่างไรก็ตาม มีข้อแม้ว่าผู้ที่จะได้เข้าร่วมจะต้องนำเงินไปทำการกุศล บริจาคอะไรก็ได้ เท่าไหร่ก็ได้ แล้วนำใบเสร็จมาแสดงว่าได้ไปบริจาคเงินมาแสดงกับเรา เรียกได้ว่านอกจากเราจะเป็นผู้ให้แล้วยังชี้ทางให้ผู้อื่นได้เป็นผู้ให้อีกด้วย ซึ่งผมมั่นใจว่าความรู้ที่ได้ไปจากงานสัมนาจะมากกว่าเงินที่บริจาคไปอย่างแน่นอน”

v11

นับเป็นแนวคิดที่น่าชื่นชมของนักธุรกิจไทยคนรุ่นใหม่ที่ไม่คิดละทิ้งแผ่นดิน แต่ยังช่วยหาทางพลิกฟื้นแผ่นดินทองของไทยให้มีคุณค่า พร้อมกับที่ช่วยอุ้มชูเกษตรกรไทยให้เติบโตไปพร้อมกัน และถ้าคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชาวไร่ชาวสวนไทย ลองคลิกเข้าไปดูได้ที่ Facebook NanaFruit ซื้อของไทย ทานผลไม้ไทย สนับสนุนชาวไร่ไทย.

Copyright © MarketingOops.com


  • 19.7K
  •  
  •  
  •  
  •