เว็บอีคอมเมิร์ซช่วงนี้ดูจะคึกคัก ฮือฮากันเป็นพิเศษ จากดีลลือลั่นของ “ตลาดดอทคอม” กับผู้ร่วมทุนใหม่จากญี่ปุ่น ก็มาถึงคิวของ “ยักษ์อีคอมเมิร์ซ” ระดับโลกอย่าง “อีเบย์” กันบ้าง เพราะเขาก็มี “สาขา” อยู่ในไทยบนความร่วมมือของเว็บสนุกดอทคอม ภายใต้ชื่อเว็บอีคอมเมิร์ซว่า “Shopping.co.th”
เมื่อ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ด้วยการผนึกกำลังกับบริษัท “เพย์สบาย” ในเครือดีแทค และ “ไปรษณีย์ไทย” เปิดตัวระบบ “ทรัสต์” สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย เหมือนจะขอร่วมวง “ชิงชัย” ส่วนแบ่งตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยด้วยคน
“วีร วัฒน์ หงษ์สิทธิวงศ์” ประธานฝ่าย Search & Marketplace บริษัท สนุก ช้อปปิ้ง จำกัด ในฐานะผู้บริหารเว็บไซต์ความร่วมมือระหว่างสนุกดอทคอมและอีเบย์ “Shopping.co.th” เล่าว่า บริษัทร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ทั้งเพย์สบายและไปรษณีย์ไทย เปิดตัวระบบ “ทรัสต์ (TRUST by Shopping.co.th)” เพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขายผ่านทางเลือกใหม่ในการชำระเงิน และความสามารถติดตามสถานะการจัดส่งสินค้า
เนื่องจากผลสำรวจของบริษัทพบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 80% ยังคงไม่ซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต เพราะไม่มั่นใจระบบความปลอดภัย
ระบบ ดังกล่าวจะประกอบด้วยคุณสมบัติหลักๆ 6 ด้าน คือ “เพย์ชัวร์” ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ในการชำระเงิน โดยได้รับความร่วมมือจากเพย์สบาย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบชำระเงินออนไลน์ โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชำระเงิน กรณีที่มีผู้โอนค่าสินค้าเข้ามา เงินจะถูกเก็บไว้ในระบบก่อน จนกว่าผู้ซื้อจะได้รับสินค้าและเข้ามายืนยันในระบบ จากนั้นเงินจึงจะถูกโอนให้กับผู้ขายโดยอัตโนมัติ
“ปัจจุบัน เริ่มเปิดให้ลูกค้าทดลองใช้ฟรีจนถึงสิ้นปี หลังจากนั้นจะให้เป็นทางเลือก สำหรับการทำรายการซื้อสินค้าบางรายการที่ต้องการความมั่นใจการซื้อขาย เพิ่มจากปกติที่มีเพียงอี-วอลลเล็ต และระบบการโอนเงินปกติให้ลูกค้าใช้บริการ” นายวีรวัฒน์กล่าว
นอก จากนี้ ในระบบ “ทรัสต์” ยังได้เพิ่มความเชื่อมั่นในการซื้อขายด้วย “ระบบติดตามสถานะการจัดส่งสินค้า (Tracking System)” ที่ได้รับความร่วมมือจากไปรษณีย์ไทย เพื่อช่วยติดตามสถานะการส่งสินค้า ให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้ตามต้องการ
ขณะที่อีก 4 ด้านจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจในด้านคุณภาพ และการมีตัวตนของผู้ซื้อ และผู้ขาย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการซื้อสินค้าผ่านเว็บมีมากขึ้น
และ ก็ไม่พลาดที่ จะขอคอมเม้นท์ดีลที่เกิดขึ้นระหว่างตลาดดอทคอม และบริษัทอี-คอมเมิร์ซจากญี่ปุ่น ที่เขาเห็นว่า จะยิ่งช่วยกระตุ้นให้ตลาดซื้อขายออนไลน์ในไทยคึกคักมากขึ้น เนื่องจากจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผู้ให้บริการมากขึ้น ซึ่งคาดว่าตลาดรวมปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30-40% จากปีก่อนหน้า
ส่วน ผลกระทบกับเว็บช้อปปิ้งเชื่อว่า คงมีไม่มาก เพราะเป้าหมายให้บริการแตกต่างกันคือ เว็บช้อปปิ้งเน้นคุณภาพในการให้บริการมากกว่าจำนวนผู้ซื้อและผู้ขาย
“เรา มีแนวทางชัดเจนคือ เป็นเว็บคุณภาพ เพราะฉะนั้นผลกระทบคงมีไม่มาก เพราะสิ่งที่เราต้องการคือ คุณภาพ อย่างนโยบายให้วางขายสินค้าได้ 15 วัน หลังจากนั้นผู้ขายจะต้องมาเวอริไฟด์ใหม่ เพื่อให้สินค้า Fresh คือผู้ซื้อคลิกเข้ามาดูจะต้องได้ซื้อ ไม่ใช่เข้ามาแล้วไม่มีผู้ขายแล้ว หรือสินค้าไม่มีแล้ว” วีรวัฒน์ เล่า
อย่างไรก็ตาม บริษัท คาดว่า ปีนี้จะมียอดการซื้อขายผ่านเว็บช้อปปิ้งประมาณ 200 ล้านบาท ด้วยจำนวนร้านค้ามากกว่า 2,000 ร้าน และสินค้ามากกว่า 90,000 รายการ รวมทั้งคาดว่าปีหน้าจะมีอัตราเติบโตเป็นเท่าตัว
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์