การให้บริการระบบ Payment Gateway หรือ ระบบชำระเงินในประเทศไทยเวลานี้ Red Ocean แบบสุดๆ และการแข่งขันจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกในปี 2016 ที่จะมาถึง โดย ETDA ประกาศตัวเลข e-Commerce ของไทยออกมาที่ 2 ล้านล้านบาท เป็นสัญญาณที่บอกว่า e-Commerce กำลังเป็นเทรนด์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะตัวเลขการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายล้านล้านบาท ยังขยับเข้ามาอยู่บนออนไลน์น้อยมาก
สิ่งที่จะเติมเต็ม e-Commerce ให้สมบูรณ์และแพร่หลายมากยิ่งขึ้นมี 2 ส่วนหลักคือ Payment หรือระบบการชำระเงิน ต้องง่าย สะดวก และปลอดภัย อีกส่วนคือ Logistics ต้องส่งเร็ว ตรงเวลาและไม่เสียหาย เมื่อ e-Commerce กำลังมีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มี Marketplace เกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ทั้งแบบที่เป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์ และแบบที่เป็นแหล่งรวมของขายเฉพาะทาง ถ้าคนซื้อเข้ามาในร้าน (เว็บ) หลักการคือ ต้องปิดการขายให้ได้ ทำยังไงก็ได้ให้คนซื้อจ่ายเงินได้ง่ายที่สุด
จับตามอง Mobile Payment มาแรงแซงทุกโค้ง
กรณีล่าสุดที่เกิดในช่วงเดือน พ.ย. นี้ และต่อไปถึงต้นเดือน ธ.ค. เช่น เทศกาลออนไลน์ เฟสติวัล ของเว็บไซต์ลาซาด้า วันแรกมีการสั่งซื้อสินค้ากว่า 1.4 แสนชิ้นจากทั่วประเทศ และกว่า 60% ของการสั่งซื้อเป็นออร์เดอร์ผ่านทางสมาร์ทโฟน
ขณะที่จำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตในประเทศไทยอยู่ที่ 10 ล้านราย โดยบางคนถือมากกว่า 1 ใบ แสดงว่ายอดธุรกรรมที่เกิดขึ้น มาจากทั้งคนที่ซื้อผ่านบัตรเครดิต และซื้อผ่านระบบชำระเงินออนไลน์อื่นๆ
ส่วนนี้เองที่ Mobile Payment จะเข้ามาตอบโจทย์ ซึ่ง mPay จาก AIS, TrueMoney จาก True และ Jaew Wallet จาก dtac เข้ามาเติมเต็มได้อย่างน่าสนใจ และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการจ่ายเงินไปทีละน้อย เริ่มจากจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าสาธารณูปโภคและบิลรายเดือนต่างๆ ขยายเป็นบัตรเวอร์ชวลซื้อของ และโอนเงินให้กันได้ ล่าสุดพัฒนาเป็นระบบรับชำระเงินแบบครบวงจร
ตัวอย่างหนึ่งคือ mPay ที่พัฒนาระบบ mPay Gateway ระบบรับชำระเงินเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยและบุคคลธรรมดาที่ขายของบนโลกออนไลน์ เพราะรู้ว่า ใครก็ขายของออนไลน์ได้ แต่จะรับชำระเงินได้ต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ดังนั้น mPay จึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการรับชำระ และสามารถจ่ายเงินให้ร้านค้าหรือบุคคลได้ใน 1 วันทำการ
mPay ประสาน Kbank บุกตลาดรายย่อย
การได้รับเงินภายใน 1 วันทำการ คือหัวใจสำคัญของร้านค้าออนไลน์และ บุคคลธรรมดาที่ขายของออนไลน์ ที่จะขยับมาใช้ระบบ Payment เพราะธุรกิจเหล่านี้ชอบได้เงินเร็ว ไม่อยากรอนาน จึงดึงดูดให้ฝั่งผู้ขายมาสมัครและเปิดใช้บริการได้ทันที ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อสามารถเลือกจ่ายเงินได้หลายช่องทาง เช่น บัตรเครดิต, mPay ที่มีผู้ใช้กว่า 1.5 ล้านราย, จ่ายผ่านตู้ ATM, จุดรับชำระ mPay Station หรือถ้ามีหน้าร้านจะรูดบัตรเครดิตผ่าน mPOS เลยก็ได้
สำหรับการใช้งาน เมื่อผู้ขายสมัคร บริการพร้อมรับชำระเงินได้ทันที ไม่มีขั้นต่ำในการรับเงิน เมื่อใส่จำนวนเงิน ระบบจะสร้าง Link ชำระเงินตามจำนวนที่ระบุส่งไปให้ผู้ซื้อผ่านทาง SMS, Line, Whatsapp หรือ Facebook ส่งไปให้ผู้ซื้อเพื่อทำการชำระเงิน
ด้านตัวเลขจากธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า e-Commerce ไทยมีการเติบโตกว่า 20% ทุกปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจกว่า 5 แสนราย และมีผู้ซื้อกว่า 14 ล้านคน คาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายออนไลน์ในปี 2558 เฉพาะแบบ B2C มีกว่า 2.2 แสนล้านบาท แสดงว่า การเปิดบริการครั้งนี้ mPay และ Kbank ตั้งเป้าบุกตลาดรายย่อยอย่างชัดเจน โดย mPay ที่ใช้ความง่ายของการเป็น Mobile Payment ส่วน Kbank ที่มีจุดแข็งเรื่อง SME อยู่แล้ว จากปกติผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เปิดรับชำระเงินผ่านออนไลน์ได้ลำบาก แต่จากนี้ทุกอย่างจะง่ายขึ้น
ย้อนไปมองคู่แข่งเช่น TrueMoney จุดแข็งสำคัญคือ การมีบริการที่ครบวงจร มี Weloveshopping เป็น Marketplace ขนาดใหญ่ และ iTruemart เป็น e-Commerce โดยตรงของทรู ซึ่งรับชำระเงินด้วย TrueMoney ได้อยู่แล้ว และเวลานี้ TrueMoney ภายใต้ Ascend Group กำลังขยายความยิ่งใหญ่ออกตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายการชำระเงินทั้งภูมิภาค
ขณะที่ JaewWallet ของ dtac อยู่ในช่วงเริ่มต้น คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. โดยก่อนหน้านี้มี Paysbuy เป็นบริการรับชำระเงิน ต้องยอมรับว่า dtac ช้ากว่าคู่แข่ง และไม่มีการสนับสนุนและพัฒนา Paysbuy อย่างต่อเนื่องและชัดเจนเท่าที่ควร ทำให้น่าจะจับตาดูว่า dtac จะดำเนินการอย่างไรระหว่าง Jaew Wallet และ Paysbuy
Omise สตาร์ทอัพรับชำระเงิน
ในกลุ่มผู้ให้บริการรับชำระเงิน มี Startup ที่ได้รับความสนใจจาก VC และอุตสาหกรรมอย่างมากคือ Omise (โอมิเสะ) มีบริการลักษณะเดียวกับ mPay Gateway โดยได้รับการรับรองความปลอดภัยมาตรฐานสากล สมัครแล้วสามารถรับชำระเงินได้ทันที การรับชำระเงินทำได้โดยการสร้างและส่ง Link เรียกเก็บเงินไปให้ผู้ซื้อได้หลากหลายช่องทาง แต่จุดเด่นสำคัญของ Omise คือ คิดค่าบริการสูงสุดที่ 3.65% ของมูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นและจะลดลงถ้ามูลค่าธุรกรรมสูงขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ถือว่า Omise แก้จุด pain point ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นอย่างดี เพราะการใช้ระบบชำระเงินบัตรเครดิตของธนาคาร ปกติจะมีค่าธรรมเนียมที่หลากหลาย เช่น 10-15 บาท หรือ 5-10% ขึ้นกับมูลค่าการทำธุรกรรม ซึ่งสูงมากสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก
เซเว่นอีเล่ฟเว่น อาจเป็นว่าที่คู่แข่งในอนาคต
ที่ประเทศญี่ปุ่น ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น มีจำนวนสาขามากที่สุดอันดับ 1 ของโลก และครั้งนี้เซเว่นอีเลฟเว่น เปิดให้บริการ ATMให้บริการทางการเงิน ฝาก จ่าย โอน ถอน ครบวงจรตลอด 24 ชั่วโมง มีจุดแข็งคือ จำนวนสาขาที่มีมากและผู้ใช้รู้สึกคุ้นเคยเป็นอย่างดี
การมีสาขากระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน การใช้ประโยชน์จากสาขาที่มีอยู่ มีโอกาสสูงที่ ธนาคารเซเว่น จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับธนาคารทั่วไปในอนาคต ยิ่งมีแอพพลิเคชั่น Seven Bank ที่ให้โอนเงินข้ามประเทศได้ เชื่อว่าจะได้รับความนิยมสูงแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารเซเว่นยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย (เซเว่น อีเลฟเว่นในไทยดำเนินการโดยซีพี ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมพานีของ Ascend Group ซึ่งให้บริการ TrueMoney) ดังนั้นหากวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ธนาคารเซเว่น อาจเปิดในไทยได้ แต่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ TrueMoney แทน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง น่าจะเกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมไม่น้อย
ธนาคารเร่งปรับตัว รักษาฐานลูกค้า
ด้วยมูลค่าระดับหลักล้านล้านบาทของ e-Commerce เชื่อว่าธนาคารไม่อาจมองข้ามเม็ดเงินตรงนี้ได้ แต่ด้วยกฎระเบียบและขั้นตอนการดำเนินการ ทำให้การเปิดบริการใหม่แต่ละครั้งทำได้ช้า ดังนั้น การร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงินขนาดเล็ก เพื่อขยายโอกาสบุกตลาดผู้ประกอบการรายย่อย จึงน่าจะเป็นทางออกที่ทำได้เร็วที่สุด (เช่น Kbank ที่ร่วมมือกับ mPay)
แต่หลายครั้งธนาคารขนาดใหญ่ก็เลือกไม่สนใจตลาดรายย่อย และโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่มากกว่าขึ้นกับนโยบายที่แตกต่างกัน แต่สำหรับธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก นี่คือ สมรภูมิการแข่งขันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ Mobile Payment เป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่ง มีจุดแข็งคือ มีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ใช้อยู่แล้ว
และต้องไม่ลืมว่า การมี Startup มาเปิดบริการรับชำระเงินที่มีคุณภาพ ร้านสะดวกซื้อที่สามารถเปิดบริการ ATM ได้ แสดงว่าผู้เล่นหน้าใหม่พร้อมกระโดดเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งยังมีอีกไม่น้อย แล้วจะไม่ให้บอกว่าเป็น Red Ocean ได้อย่างไร
Copyright © MarketingOops.com