ทุกวันนี้เราจะเห็นการเปิดร้านขายของมากมายบน Facebook แถมยังทำรายได้ดีเสียชนิดพนักงานเงินเดือนหลายคนอิจฉากัน ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการเปิดร้านบน Facebook ก็เพราะง่าย ต้นทุนไม่เยอะ ไม่ต้องมีหน้าร้าน การขายของก็ผ่านการติดต่อสั่งซื้อและจ่ายเงินแบบโอนธนาคาร จากนั้นก็ใช้ไปรษณีย์ไทยจัดส่งของให้ทันที
เรียกได้ว่ามันคือรูปแบบของ e-Commerce แบบง่ายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อนานมาแล้วผมเองก็เคยไปบรรยายเรื่องการใช้ Facebook ช่วยในการเปิดร้านขายของให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งก็ได้อธิบายไปว่าโครงสร้างของ Facebook Page นั้นค่อนข้างเอื้อกับคนที่อยากเปิดร้านขายของอยู่ไม่น้อยเพราะสามารถดัดแปลงฟังก์ชั่นบางอย่างให้กลายเป็นแคตตาล็อกสินค้าได้ แถมยังง่ายต่อการแชร์หรือโปรโมตได้อีก แน่นอนว่านั่นทำให้ Facebook กลายเป็นเหมือนเว็บไซต์ขายของกลายๆ ที่เราสามารถเปิดได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
แต่ทีนี้หลายคนก็อาจจะสงสัยว่ามันสามารถทำได้มากกว่าการเป็นร้านขายของทั่วไปหรือไม่? และอะไรบ้างที่คนเป็นเจ้าของร้านขายของควรจะรู้ บล็อกวันนี้ผมจะลองสรุปมาเป็นประเด็นสำคัญๆ ที่คนเปิด Facebook Page เพื่อขายของควรจะรู้กันนะครับ
1. อย่าทำให้ PAGE เป็นแค่แคตตาล็อกเฉยๆ
Facebook Page มีคุณสมบัติสำคัญคือการเป็น “เครือข่าย” ที่สามารถแชร์หรืออัพเดทให้กับคนที่เป็นเพื่อนหรือกดติดตามกัน ฉะนั้นแล้ว มันเป็นการสื่อสารแบบทั้ง Push & Pull การทำธุรกิจออนไลน์โดยเฉพาะอย่าง Facebook นั้นจึงจำเป็นที่จะต้องผนวกวิธีคิดแบบว่านำสินค้าออกไปให้คนอื่นเห็น ดึงให้คนสนใจและกลับเข้ามาติดตามในต้วเพจเองด้วย วิธีนี้จะทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าร้านค้ามีความเคลื่้อนไหวตลอด และเพิ่มโอกาสในการเจอสินค้าที่ถูกใจของกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย
2. คอนเทนต์ที่ดีไม่ใช่แค่รายละเอียดสินค้าเท่านั้น
ข้อมูลเรื่องสินค้าอาจจะเป็นสิ่งพื้นฐานที่หลายคนอยากจะรู้กัน เช่นสินค้าราคาเท่าไร ผลิตที่ไหน ฯลฯ แต่จริงๆ ถ้าเราดูกันว่าคนเราต้องการคอนเทนต์อะไรเพื่อประกอบการตัดสินใจแล้ว เราจะมีคอนเทนต์อื่นๆ อีกมากมายที่ดึงดูดให้เราสนใจและติดตามเพจ เช่นรีวิวหรือวิจารณ์สินค้าจากคนที่เคยใช้บริการไปแล้ว ข้อมูลเชิงลึกของสินค้าว่ามีประโยชน์อะไร อะไรคือสรรพคุณพิเศษ การพูดคุยเรื่องที่เกี่ยวข้องเช่นร้านขายเครื่องสำอางอาจจะพูดถึงเรื่องวิธีการแต่งหน้า เทคนิคการแต่งหน้า เพราะนั่นก็เป็นข้อมูลที่ลูกค้าชื่นชอบ ฯลฯ เทคนิคการเลือกคอนเทนต์นั้นมีมากมายซึ่งก็เป็นเทคนิคของแต่ละคนที่จะนำไปวางให้ลงตัวกับ Purchasing Funnel นั่นเอง
3. รู้จัก EDGERANK
เรื่องนี้สำคัญไม่น้อยเพราะมีคนไม่เยอะมากที่จะเข้ามาแวะเวียนเข้ามาที่หน้าเพจตลอดเวลา คนส่วนมากใช้เวลากับการอยู่ในหน้า news feed ซึ่งไม่ได้แปลว่าทุกคนที่กดไลค์เพจจะเห็นคอนเทนต์ของคุณเสมอไป คุณควรเข้าใจหลักของ EdgeRank เสียก่อนว่าทำอย่างไรถึงจะให้คอนเทนต์ของเพจคุณไปอยู่ตรงหน้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
4. TRUST คือหัวใจ
การทำธุรกิจใดๆ นั้น ความเชื่อมั่นและไว้ใจจากลูกค้าคือสิ่งสำคัญ หากคุณบริการดีให้กับลูกค้าของคุณแล้ว ย่อมมีโอกาสที่เขาจะแนะนำหรือบอกต่อร้านของคุณให้กับเพื่อนได้แน่นอน แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณทำอะไรแย่ๆ หรือเกิดความไม่พอใจของลูกค้าคุณขึ้นมา แน่นอนว่าคุณก็พร้อมจะกลายเป็นเป้าหมายถูกโจมตีได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน การที่เปิดร้านอยู่บนเครือข่ายออนไลน์ก็มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กันไป เพราะมันทำให้หน้าร้านของคุณถูกแชร์และเอาไปบอกต่อได้ง่าย คุณจึงจำเป็นมากที่จะต้องระวังและรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ สร้างความเชื่อมั่นและไว้ใจเพื่อให้พวกเขากลายเป็น Brand’s Advocate ให้กับคุณแทนที่จะเป็นทำลายคุณ
5. ใช้ประโยชน์จาก “เครือข่าย”
ผมมักพูดเสมอว่าการเปิดร้านขายบน Page เป็นหนึ่งในวิธีการของ e-Commerce แบบง่ายๆ แต่การจะทำให้เกิด Social Commerce ได้นั้น ย่อมมีอะไรมากกว่าการแค่ร้านค้าโพสต์สินค้าออกไปแล้วคนคลิกเข้ามากดซื้อ มันควรจะมีกลไกบางอย่างเข้ามาใช้ประโยชน์โครงสร้างของการเป็น “เครือข่าย” ได้ ตัวอย่างเช่น
ถ้าภาพนี้ถูกแชร์ออกไปเท่าไร ร้านเราจะลดราคาสินค้าลงไปเท่านั้นบาท
หรือการใช้เงื่อนไขอื่นๆ ที่มาจากฟังก์ชั่นของ Facebook เช่นการกดไลค์หรือคอมเมนต์ ซึ่งอันนี้ก็คงแล้วแต่คนจะไปคิดกลไกขึ้นมาเพื่อเป็นโปรโมชั่นของร้าน ที่แนะนำเช่นนี้เพราะมันทำให้ร้านค้าของคุณมีอะไรมากกว่าแค่การเปิด Page มาขายแบบทั่วๆ ไปโดยไม่มีลูกเล่นอะไรที่ใช้ประโยชน์จาก Facebook เลย
6. รู้จักซื้อโฆษณา
แม้ว่าการเปิดเพจจะฟรี แต่บางทีเราก็จำเป็นต้องมีการลงทุนกันบ้างอย่างการลงโฆษณาซึ่ง Facebook และ Google เองก็สามารถซื้อโฆษณาได้เองแบบไม่ยุ่งยาก แถมราคาในการซื้อโฆษณาก็ไม่แพงมากนัก สามารถกำหนดงบประมาณได้ค่อนข้างละเอียด ส่วนที่ดีของการโฆษณาออนไลน์ในปัจจุบันคือคุณสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างละเอียด ยิ่งถ้าคุณศึกษาวิธีการวางกลุ่มเป้าหมายดีๆ แล้ว แม้ว่าคุณจะเสียเงินไป คุณก็จะได้กลุ่มคนที่มีโอกาสสูงในการซื้อสินค้าของคุณในภายหลัง
อันนี้เป็น 6 ประเด็นพื้นๆ ก่อนที่ขอยกมาเล่าในบล็อกวันนี้ ไว้ผมจะลองเขียนเพิ่มเติมต่อในบล็อกถัดๆ ไปนะครับว่าเราจะสามารถ Optimize อะไรได้อีกสำหรับ Facebook Page ที่ไว้เป็นร้านขายของกัน