e-Commerce กลายเป็นบริการใหม่ของโลกที่ทำลายข้อจำกัดของการทำธุรกิจในหลายมิติไปโดยสิ้นเชิง ทำเลที่ตั้งไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เวลาเปิดปิดไม่จำกัดอีกต่อไป ผู้ซื้อ-ผู้ขายเจอกันได้ตลอดเวลา จ่ายเงินก็สะดวก และรอรับของอยู่ที่บ้านสบายๆ ทั้งหมดทำให้ e-Commerce ในไทยเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ได้ทำการสำรวจมูลค่าตลาดจากผู้ประกอบการ e-Commerce ในไทยกว่า 5 แสนราย
จากการสำรวจพบว่า e-Commerce ไทยปี 2557 มีมูลค่า 2,033,493.4 ล้านบาท ถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน และจากปัจจัยเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce ในปี 2558 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าแตะ 2,107,692.9 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.65%
สำหรับผลการสำรวจปี 2557 แบ่งเป็น การซื้อผ่านแบบ B2B ประมาณ 1.23 ล้านล้านบาทโดยแบบ B2B ถือเป็นการซื้อขายระหว่างองค์กร จึงมีมูลค่าสูง ขณะที่แบบ B2C มูลค่าประมาณ 4.11 แสนล้านบาท เป็นการซื้อขายระหว่างผู้ขายกับผู้บริโภคทั่วไป และแบบ B2G ประมาณ 3.87 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นประเภทการซื้อขายกับภาครัฐ (ไม่รวมวิธี e-Auction)
ทั้งนี้ เมื่อดูเฉพาะ e-Commerce ในตลาดทั่วไป (B2C) มีมูลค่าประมาณ 4.11 แสนล้านบาท หรือ 11.7 พันล้านดอลลาร์ ประเทศไทยยังคงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนเช่นเดียวกับมูลค่ารวม แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความตื่นตัว และพร้อมใช้งานระบบ e-Commerce มากที่สุด มากกว่าอินโดนีเซียที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีข้อมูลดังนี้ มาเลเซีย 9.6 พันล้านดอลลาร์, สิงคโปร์ 3.45 พันล้านดอลลาร์, เวียดนาม 2.97 พันล้านดอลลาร์, อินโดนีเซีย 2.6 พันล้านดอลลาร์ แล ฟิลิปปินส์ 2.3 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ประเทศไทยยังตามหลังอยู่มาก เช่น เกาหลีใต้ 25.4 พันล้านดอลลาร์, ญี่ปุ่น 118.59 พันล้านดอลลาร์
การสำรวจครั้งนี้ ได้รวบรวมจาก 8 อุตสาหกรรมต่อไปนี้
อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจให้บริการที่พัก ธุรกิจข้อมูลและสื่อสาร ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ และกิจการบริการด้านอื่นๆ โดย 3 อันดับที่มีมูลค่ามากที่สุด คือ ธุรกิจให้บริการที่พัก 6.3 แสนล้านบาท (38.1%) อุตสาหกรรมการผลิต 4.4 แสนล้านบาท (26.6%) และธุรกิจข้อมูลและการสื่อสาร 2.6 แสนล้านบาท (16.02%)
สำหรับการชำระค่าบริการ e-Commerce ได้รับความนิยมผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่
e-Banking 54.25% (Internet banking, ATM)
บัตรเครดิต/เดบิต 22.39%
Mobile Payment 14.53% (mPay, Truemoney, mobile banking)
อื่นๆ 8.83% (Paypal)
สุดท้ายปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเติบโตของ e-Commerce อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเร่งพัฒนา แบ่งเป็นปัจจัยภายใน ได้แก่
1 ขาดบุคลากรที่มีทักษะด้าน e-Commerce โดยพบว่าองค์กรมีการขยายตัวเร็วกว่าการพัฒนาบุคลากร จึงเริ่มมีการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศมากขึ้น
2 ต้นทุนการขนส่งสูง หัวใจสำคัญของ e-Commerce คือ การชำระเงิน และการขนส่ง เวลานี้การชำระเงินได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่การขนส่งยังเป็นข้อจำกัดอยู่มาก และยังมีต้นทุนสูง
3 ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี เป็นความกังวลของผู้ประกอบการในการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ขณะที่มีการแข่งขันรุนแรง
ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบได้แก่
1 โครงสร้างภาษี ที่ผ่านมา e-Commerce จำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบภาษี ซึ่งต่อไปกฎหมายจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแน่นอน
2 การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และความเชื่อมั่นในการซื้อ พื้นที่ต่างจังหวัดจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และการหลอกลวง การโกง ยังคงทำร้ายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
3 ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ยังเป็นที่จับตามอง