ตลาด e-Commerce ไทยในเวลานี้กำลังหอมหวาน มีผู้เล่นในตลาดทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่แข่งขันในตลาดอย่างคึกคัก มูลค่าตลาดรวมล่าสุดกว่า 4.2 หมื่นล้านบาทและมีอัตราเติบโต 20% ต่อปี ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ทุกค่ายให้ข้อมูลตรงกันว่า นี่เป็นตัวเลขสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกโดยรวม แสดงว่า โอกาสเติบโตยังมีอีกมหาศาล ลองมาดูสัดส่วนมูลค่าตลาดรวมของ e-Commerce ในแต่ละประเทศกัน
1. ไทย 1% ของตลาดค้าปลีก
2. จีน 10% ของตลาดค้าปลีก
3. สหราชอาณาจักร 13% ของตลาดค้าปลีก
4. สหรัฐอเมริกา 9% ของตลาดค้าปลีก
ทาง iTruemart.com หนึ่งในผู้ให้บริการ e-Commerce แบบ B2C คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีจากนี้ สัดส่วนมูลค่า e-Commerce ในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 7-8% ของตลาดค้าปลีก นั่นแสดงว่าตอนนี้ 1% ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท แปลว่าใน 5 ปี มีโอกาสขยายเป็น 2.8 แสนล้านบาท เนื่องจากเมื่อมีการเริ่มต้นใช้ e-Commerce อย่างแพร่หลายแล้ว การเติบโตจะเป็นไปแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะปัจจัยจาก Mobile
ยิ่งกว่านั้น ตลาดไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะ e-Commerce เปิดกว้างด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การรุกตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ลองไปดูปัจจัยที่ทำให้ภูมิภาคนี้น่าสนใจ
1. ประชากร 680 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคนภายใน 15 ปี
2. ประชากร อายุน้อยกว่า 30 ปี มีอัตราส่วนมากกว่า 50%
3. อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 56% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
4. การเติบโตของ GDP เฉลี่ย 6-8%
ปัจจัยหนุนคนไทยซื้อของออนไลน์
ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการ iTruemart.com ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเริ่มซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น นอกจากความสะดวกสบาย ค้นหาสินค้าได้ง่าย คลิกจ่ายและรอรับสินค้า ยังมีปัจจัยในมุมของผู้ให้บริการที่สำคัญเช่นกัน โดยสามารถจำแนกออกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. ต้องสร้างความมั่นใจ ว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้าของแท้ และมีราคาที่ดี รวมถึงการเข้ามาที่เว็บไซต์ e-Commerce ต้องมีประสบการณ์ที่ดี หลายครั้งผู้บริโภคเดินห้างเพื่อความสนุกสนาน แต่เลือกซื้อผ่านทางออนไลน์ เพราะมีราคาที่ดีกว่า และบริการส่งฟรีถึงบ้าน ไม่ต้องขนกลับเอง
2. ระบบจัดส่ง (Logistics & Fulfillment) ต้องพร้อม คือมีตั้งแต่การ stock สินค้า การจัดส่งต้องรวดเร็ว ส่วนนี้ทำให้ผู้ให้บริการรายใหม่แข่งขันได้ยาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ถ้า Scale ไม่ใหญ่มากพอจะมีต้นทุนบริหารจัดการที่สูงตามไปด้วย
3. ระบบรับชำระเงิน (Payment) ต้องมีความหลากหลาย ชำระผ่านบัตรเครดิต, จุดรับชำระเงิน, บัตรเงินสด, หรือชำระเงินปลายทาง เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค
4. ต้องกล้าและต้องบ้า ไม่เสียดายธุรกิจเดิม กรณีนี้ ถ้าบริษัทไหนที่ทำธุรกิจค้าปลีกอยู่แล้ว จะขยายธุรกิจ e-Commerce ได้ลำบากกว่า เนื่องจากกลัวการแย่งตลาดกันเอง เช่น Walmart ที่ไม่สามารถทำ e-Commerce ขณะที่ Amazon ขยายตลาดได้มหาศาล
อีกมุมหนึ่งที่ e-Commerce จะเติบโตแบบมหาศาล คือ e-Commerce สามารถตอบโจทย์ pain point ให้กับแบรนด์ต่างๆ ได้ดีกว่า เช่น ที่ iTruemart มีการเก็บข้อมูลการซื้อของลูกค้า และแชร์ร่วมกับแบรนด์ ทำให้แบรนด์รู้จักลูกค้ามากขึ้น ทำตลาดได้ดีขึ้น เพราะหัวใของออนไลน์คือการวัดผลอยู่แล้ว ขณะที่การค้าปลีกแบบเดิมๆ ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้เลย
โซเชียล เน็ตเวิร์กช่องทางบูทยอดขาย
ถ้ามองในอดีตที่โลกออนไลน์อยู่บน Desktop คือการเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ นั่นคือระบบ Search First คือเน้นเข้ากูเกิลเพื่อหาข้อมูล แต่ปัจจุบันโลกออนไลน์อยู่บน Mobile ทำให้ระบบเปลี่ยนเป็น Social First คือหยิบมือถือได้ เข้าโซเชียลก่อน ทั้ง Facebook, Line, IG เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องใช้โซเชียลเป็นเครื่องมือในการสร้างยอดขาย
ดีเพช ทรีเวดี หัวหน้าฝ่ายค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งเฟซบุ๊ก กล่าวว่า คนไทยใช้งานเฟซบุ๊ก 34 ล้านราย ใช้ผ่าน Mobile คิดเป็น 94% หรือพูดง่ายๆ ว่า คนไทยเข้าเฟซบุ๊กผ่าน Mobile เป็นจำนวน 32 ล้านราย และก่อนจะซื้อสินค้าทาง e-Commerce ผู้บริโภคมักจะมีการเช็คข้อมูลผ่านโซเชียลก่อนเสมอ ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ ต้องสร้าง Engagement กับออนไลน์และโซเชียลให้มากขึ้น
อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ CTO ของเว็บไซต์พันทิพย์ เว็บบอร์ดโซเชียลที่มียอดผู้ใช้กว่า 4.5 ล้านรายต่อวัน กล่าวว่า การเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านทางออนไลน์ ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการ complain ผ่านทางโซเชียลทุกช่องทาง ต้องมีการตอบสนองอย่างทันท่วงที มีการแก้ไข เยียวยา เพื่อสร้างความเชื่อใจ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ
ปรับตัวให้ทัน สร้าง Loyalty และยอดขาย
แม้จะมีประเด็นว่า ผู้ประกอบการที่มีค้าปลีกระบบเดิมมักจะทำระบบ e-Commerce ได้ไม่รุ่งเท่าไร แต่ เทสโก้ โลตัส ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ชั้นวางสินค้าในห้างต่างๆ มีจำกัด ทำให้ห้างกลายเป็นข้อจำกัดในการขายสินค้า และถ้ายังฝืนแนวโน้มของโลก โดยการไม่ทำระบบ e-Commerce ผลคือจะเสียลูกค้าไปอย่างรวดเร็ว
วรรณา สวัสดิกุล ประธานกรรมการบริหารฝ่ายธุรกิจออนไลน์ เทสโก้ โลตัส บอกว่า เทสโก้ โลตัส เลือกนำเสนอสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และร่วมมือกับ ลาซาด้า ประเทศไทย lazada.co.th นอกจากขายสินค้าผ่านออนไลน์แล้ว ยังจัดกิจกรรมไปพร้อมๆ กัน รวมระบบออนไลน์และ ออฟไลน์ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงจุดร่วมของออนไลน์และออฟไลน์ เช่น กิจกรรม 11.11 ถึง 12.12 คือ มีการจัดโปรโมชั่นช่วงวันที่ 11 พ.ย. – 12 ธ.ค. ซึ่งเดิมจัดบน e-Commerce แต่ต้องดึงลงมาใช้ในห้างด้วย
และจากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส พบว่า ผู้บริโภคมี Loyalty สูงขึ้น นั่นคือ คนที่ซื้อสินค้าออนไลน์ มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าที่ห้างเช่นเดิม นั่นคือ ไม่ได้มีการแย่งยอดขายกันเอง เพราะสุดท้ายยอดขายที่เกิดขึ้น คือ เทสโก้ โลตัส
อเล็กแซนดรอ บิสบินี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า หัวใจสำคัญประการหนึ่งของ e-Commerce คือ ระบบจัดส่ง ทั้งการ delivery และ logistics ซึ่งระบบขนส่งที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือ ไปรษณีย์ไทย นี่คือโอกาสทางธุรกิจของไปรษณีย์ แต่การจะรับมือการขนส่งที่จะขยายตัวอย่างมหาศาลตาม e-Commerce ไปรษณีย์ไทย ต้องพัฒนาระบบขนส่งโดยรวมให้ใหญ่ขึ้นโดยเร็ว
iTruemart ประกาศอันดับ 1 ในไทย เตรียม 5,300 ล้านลงทุน 2016
iTruemart เตรียมงบ 5,300 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในไทยและอีก 7 ประเทศในปีหน้า โดยระบุว่าปัจจุบัน iTruemart เป็นอันดับ 1 ในไทยแล้ว ด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าเฉลี่ย 14,000 รายการต่อวัน (แบ่งเป็น iTruemart7,000 รายการ และ weloveshopping 7,000 รายการ) ดังนั้นการลงทุนในปีหน้า จะเป็นก้าวแรกที่พาให้ iTruemart ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคนี้
สืบสกล สกลสัตยาทร ผู้จัดการทั่วไป หน่วยงาน iTruemart.com บริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด บอกว่า iTruemart มีการวัดผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เน้นที่ยอดคนเข้า แต่เน้นที่อัตราการซื้อสำเร็จอยู่ที่ 4.2%ถือว่าอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งต่ำกว่า 2%ขณะที่มียอดการสั่งซื้อสินค้าเฉลี่ย 7,000 รายการต่อวัน โดยคิดเป็นรายได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วน weloveshopping จะเป็นตลาดกลาง (Marketplace) ให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้ามาเปิดร้านขายของฟรีไม่เสียค่าเช่า โดยมียอดการสั่งซื้อสินค้าเฉลี่ย 7,000 รายการต่อวัน มียอดซื้อขายสินค้ามูลค่า 4,000 ล้านบาทต่อปี และ weloveshopping มีรายได้จากค่าเช่าบริการพรีเมี่ยมหลัก 10 ล้านบาท
ตอนนี้ทั้ง 2 ธุรกิจยังอยู่ในประเทศไทย แต่ปลายปีนี้มีแผนเปิดตลาดที่ประเทศฟิลิปปินส์ก่อน และปีหน้าจะขยายอีก 6 ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยจะมีทั้งขยายเข้าไปทำธุรกิจเอง และจับมือกับพันธมิตรเพื่อเข้าทำตลาด เพื่อให้มีบริการที่ครอบคลุมทั้ง เว็บไซต์ ระบบชำระเงิน และการจัดส่ง
ปุณณมาศ CEO ของ แอสเซนด์ กล่าวทิ้งท้ายว่า iTruemart จะเป็นผู้ให้บริการที่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการต่างประเทศได้ เช่น Lazada, Alibaba ด้วยประสบการณ์ และ Scale ของธุรกิจที่ใหญ่พอ สามารถทำต้นทุนให้ต่ำลงได้ และเชื่อว่าในอนาคต จะเหลือผู้เล่น 2-3 รายเท่านั้น ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดรายเล็กๆ จะอยู่ได้ลำบากมาก
มองไปรอบๆ ตัว ตอนนี้ผู้ให้บริการ e-Commerce มีอยู่ไม่น้อย คงต้องจับตาดูกันให้ดีใน 1-2 ปีนี้ใครจะอยู่ใครจะไป Scale ของธุรกิจจะเป็นคำตอบที่ดี