เปิดมุมมอง e-Commerce ไทย กับ 4 กูรูในวงการตัวจริง

  • 21
  •  
  •  
  •  
  •  

20160324_151502

งาน e-Biz expo 2016 งานที่สนับสนุนธุรกิจดิจิทัลกำลังจะจัดขึ้นเป็นปีที่สอง ภายใต้ธีม Digital in your Hand: Gateway to ASEAN e-Commerce & Digital Business ในวันที่ 9-11 มิถุนายนนี้ ได้ยินชื่อธีมก็รู้ทันทีว่า งานครั้งนี้หนุน e-Commerce เป็นอย่างมาก จะเห็นว่าก่อนหน้านี้มีผู้ให้บริการระดับโลกสนใจตลาดภูมิภาคนี้ และตลาดไทยมากพอสมควร แม้จะมีบางรายถอนตัวจากไปก็ตาม แต่โดยภาพรวมแล้วอาเซียน เป็นภูมิภาคสุดท้ายที่มีกำลังซื้อ และยังไม่มีรายใหญ่กระโดดเข้ามาแบบจริงจัง

ดังนั้น จึงชวนกันมาเปิดมุมมอง e-Commerce ไทยกันหน่อย โดยกูรูจากด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะมูลค่าตลาดรวม e-Commerce ที่สูงถึง 2.1 ล้านล้านบาทในปี 58 ที่ผ่านมา ยืนยันได้ชัดเจนว่า ตลาดไทยใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้

IMG_6852

สรรเสริญ สมัยสุต หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท แอสเซนด์กรุ๊ป บอกว่า เทรนด์ของ e-Commerce มาแรงและเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการที่ทำ e-Commerceแล้วเติบโตต่ำกว่า 100% ถือว่าล้มเหลว ต้องปรับกลยุทธ์และการทำตลาดใหม่ อีกทั้งการทำ e-Commerce ไม่ควรมองแค่ตลาดไทย เพราะในไทยมีการแข่งขันที่สูงมาก จึงเป็นเรื่องง่ายกว่าหากจะมองตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งชอบสินค้าและบริการจากไทยอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การจะบุกตลาดต่างประเทศ การมีพันธมิตรหรือใช้บริการกับผู้ให้บริการก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ทำตลาดได้ง่ายขึ้น อาจใช้บริการ Marketplace ที่มีเครือข่ายออกไปให้บริการ ใช้บริการ e-Fulfillment และ e-Marketing ที่สามารถรองรับบริการได้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถโฟกัสการพัฒนาสินค้าและบริการได้อย่างเต็มที่

pawoot2

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ tarad.com บอกว่า มุมมองของ e-Commerce มี 2 มุมหลักในเวลานี้คือ ผู้ให้บริการ Marketplace ที่ตอนนี้กระตุ้นยอดขายแบบหนักหน่วงมาก ดังนั้นหนทางรอดของ Marketplace ต้องหาจุดยืนของตัวเองให้เจอ อีกมุมนึงคือ เจ้าของสินค้าที่มาขายใน Marketplace ช่วงเวลานี้คือโอกาสที่ดีมาก ให้รีบมาขาย เพราะมีการ Subsidize อยู่ไม่น้อย

“ตอนนี้ Marketplace จัดโปรโมชั่น ลดราคา, ส่งฟรี, แจกของแถม ทั้งหมดคือ งบการตลาดจำนวนมากที่ผู้ให้บริการ Subsidize ให้กับเจ้าของสินค้า เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เกิดขึ้น สร้างประสบการณ์ให้ผู้ซื้อ ดังนั้นเจ้าของสินค้า ควรรีบทำ e-Commerce ได้เลย” ภาวุธ กล่าว

ทั้งนี้ e-Commerce คือเรื่องของ Local ผู้ให้บริการและผู้ขายสินค้าในท้องถิ่นจะรู้จักผู้บริโภคดีที่สุด การบุกจากต่างประเทศ อาจจะได้เรื่องเงินทุนและองค์ความรู้ แต่สุดท้าย ยังต้องพึ่งพาวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นสำคัญ ดังนั้น e-Commerce คือโอกาสของคนใน มากกว่า คนจากนอกประเทศ

S__4366454

ปุญญามาลย์ สุบรรณ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท นิโกส์ โลจิสติกส์ กล่าวว่า e-Fulfillment คือเรื่องใหม่ในวงการ e-Commerce ไทย เป็นเรื่องของ Systems ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเติบโตได้เร็วขึ้น โดยเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย โดยมีบริการครอบคลุม เช่น pick&pack, ฝากของ, จัดส่ง และเก็บเงิน ทั้งหมดเป็นมากกว่าแค่การส่งของธรรมดา และต้องพัฒนารูปแบบการส่งใหม่ๆ เช่น ส่งสินค้าอาหารสด อาหารแช่แข็ง ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อย

สำหรับในกรุงเทพ จะเน้นส่งสินค้าแบบ door to door คือส่งเองถึงหน้าประตู ขณะที่ต่างจังหวัดให้บริการผ่านพันธมิตร ซึ่งให้บริการได้ทั่วประเทศ และเตรียมตั้งศูนย์ตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้สามารถทำ CRM ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือความสำคัญที่ผู้ให้บริการ e-Fulfillment จัดให้กับแบรนด์

291984_2356436183018_1697821580_n

สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการประจำประเทศไทย Paypal กล่าวว่า การซื้อขายสินค้าออนไลน์ในไทยมีการเติบโตสูงมาก ล้ำหน้ากว่ามาเลเซีย, เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ Paypal จะเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคนี้อย่างจริงจังมากขึ้น โดยโฟกัสที่กลุ่มผู้ประกอบการเป็นหลักให้นำระบบ Paypal ไปใช้งาน

“การใช้ Paypal นอกจากจะได้ระบบที่มีความปลอดภัยแล้ว ยังได้ความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภค และเปิดโอกสให้ลูกค้าจากต่างประเทศสามารถซื้อสินค้าในไทยได้” สมหวัง กล่าว

Image Source: Facebook

Copyright © MarketingOops.com


  • 21
  •  
  •  
  •  
  •