ไตรมาสนี้ “กำไรค่ะ” dtac โชว์เลข 1,400 ล้านบาท ปิด Q1/62 ด้วยรอยยิ้ม เล็งลงทุนต่อ 1.3 – 1.5 หมื่นล้านบาท

  • 706
  •  
  •  
  •  
  •  

CEO dtac

หลังจากผลประกอบการปี 2561 อยู่ในภาวะติดลบ ขาดทุนถึง 4,400 ล้านบาท ล่าสุด dtac ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสแรกของปี 2562 ด้วยรอยยิ้ม จากกำไรสุทธิ 1,400 ล้านบาท โดย dtac ให้รายละเอียดว่าในไตรมาสนี้ยังคงเดินหน้าขยายและปรับปรุงโครงข่าย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและพัฒนาประสบการณ์การใช้งานแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือการหลุดออกจากวงโคจรของระบบสัมปทานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 มาสู่ระบบไลเซ่นส์ พร้อมทั้งเปิดตัวแคมเปญใหม่เพื่อเรียกลูกค้าเข้าสู่โครงข่าย 2300 MHz

แม้ว่าฐานลูกค้าจะยังคงอยู่ในภาวะหดตัวลง โดยตัวเลขที่ dtac เปิดเผยในช่วงสิ้นไตรมาส 1/2562 ระบุว่ามีจำนวน 20.7 ล้านเลขหมาย ขณะที่ตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2561 ระบุว่ามีลูกค้ารวม 21.2 ล้านเลขหมาย แต่สวนทางกับจำนวนสถานีฐานซึ่งระบุว่า เพิ่มขึ้น 2,700 สถานี รวมเป็นจำนวน 15,400 สถานี ส่งผลให้จำนวนลูกค้าระบบ 4G บนโครงข่าย 2300 MHz อยู่ที่ 7.8 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 76%

ลูกค้าพรีเพดหด ทำรายได้ลด!

นอกจากนี้ dtac ยังชี้แจงว่า รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC สำหรับไตรมาส 1/2562 ลดลง 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของรายได้จากผู้ใช้บริการเติมเงิน (พรีเพด) และจากบริการระหว่างประเทศต่าง ๆ ในช่วงที่ dtac กำลังสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากลูกค้าต่อโครงข่าย อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ใช้บริการรายเดือน (โพสต์เพด) ยังคงเพิ่มขึ้นจากผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนจากระบบเติมเงินมาเป็นระบบรายเดือน และแคมเปญอุปกรณ์ที่น่าสนใจต่าง ๆ

ส่วน EBITDA สำหรับไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 6,100 ล้านบาท ลดลง 27% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้นทุนหลังการสิ้นสุดระบบสัมปทาน เช่น ต้นทุนค่าธรรมเนียม (Regulatory costs) ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเช่าสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานกับ CAT และค่าโรมมิ่งบนโครงข่าย 2300 MHz กับ TOT รวมถึงการจัดการต้นทุนที่ดีของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้บริการ และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร EBITDA margin สำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ 34.7% ขณะที่ CAPEX ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 4,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28% ของรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC

สัญญาณดี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 7%

สำหรับกำไรสุทธิในไตรมาสดังกล่าว อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ารายได้จากการให้บริการจะลดลง ซึ่งเป็นผลจากโครงสร้างต้นทุนใหม่เต็มไตรมาสเป็นครั้งแรกหลังการสิ้นสุดระบบสัมปทาน ซึ่งรวมถึงการลดลงของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย อย่างไรก็ตามกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA – CAPEX) สำหรับไตรมาส 1/2562 กลับมาเป็นบวกที่ 1,700 ล้านบาท แม้ว่ายังมีการดำเนินการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 1.3 เท่า และมีเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 จำนวน 12,800 ล้านบาท

ทุ่ม 13,000 – 15,000 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม dtac ยังได้วางแผนใช้เงินลงทุนในปีนี้ ราว 13,000 – 15,000 ล้านบาท พร้อมเน้นย้ำใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ปรับปรุงโครงข่ายและประสบการณ์การใช้งานลูกค้า 2. เร่งสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ และ 3. ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว dtac เชื่อว่าจะทำให้แบรนด์กลับมาเติบโตได้อีกครั้งในปีนี้

คุณอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac อธิบายเพิ่มเติมว่า จากการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อโครงข่าย dtac หลังจากสิ้นสุดระบบสัมปทานด้วยการขยายโครงข่ายครั้งใหญ่ในไตรมาสที่ 4/2561 ต่อเนื่องมายังไตรมาส 1/2562 เริ่มเห็นผลในเชิงบวกแล้ว ในส่วนของการให้บริการในระบบรายเดือนยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การให้บริการในระบบเติมเงินยังต้องมีการปรับปรุง โดยเราจะมุ่งเน้นที่การเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานลูกค้าระบบรายเดือน และใช้วิธีการแบ่งกลุ่มการตลาด (Segmentation Approach) เพื่อดึงดูดและเข้าถึงลูกค้าเติมเงินให้กลับมาเลือกใช้ dtac อีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนเล่นเกม


  • 706
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน