ประเมินสถานการณ์ก่อนดีเดย์ 15 ธ.ค. ประมูลคลื่น 900 MHz

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ThinkstockPhotos-177783084

วันที่ 15 ธันวาคม 2558 เวลา 09.00 น. คือเวลาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 900 MHz เป็นอีกหนึ่งความคลื่นความถี่สำคัญในวงการโทรคมนาคมไทย ซึ่งคาดการณ์กันว่าอาจจะดุเดือดยิ่งกว่าการประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาซะอีก ว่าแต่อะไรที่ทำให้คลื่น 900 ดูแล้วน่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงกว่า นี่คือการประเมินสถานการณ์ก่อนการประมูลจะเริ่มต้นขึ้น

1 การประมูลคลื่น 1800 ที่ผ่านมาใช้เวลาไป 2 วัน ก็รู้ผลแพ้ชนะแล้ว โดยเอไอเอส และทรู คือผู้ที่ได้คลื่นไปครอบครอง แต่นั่นคือการวัดกำลังคู่แข่งว่าเตรียมงบประมาณมามากน้อยแค่ไหน แต่ต้องบอกว่า 2 วันนั้น เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ที่ยุโรป เช่น เยอรมัน เคยใช้เวลาในการประมูลเกือบ 3 สัปดาห์  แต่นั่นอาจจะเป็นเพราะการออกแบบการประมูลที่ต่างกัน

2 สำหรับประเทศไทย กสทช. ได้ออกแบบการประมูล โดยมีใบอนุญาต 2 ใบ แสดงว่าจะมีผู้ที่ได้คลื่นไปใช้งาน 2 รายจากผู้เข้าแข่งขัน 4 รายเดิม คือ เอไอเอส, ดีแทค, ทรู และจัสมิน (ไม่ว่าจะมาด้วยชื่อบริษัทอะไรก็ตาม) จะมีการเคาะราคาประมูลตั้งแต่เวลา 09.00 – 21.00 น. ก่อนจะพัก 3 ชั่วโมง และเริ่มต้นเคาะราคากันต่อ 24.00 – 06.00 น. จากนั้นก็พักอีก 3 ชั่วโมง และเริ่มต้นเคาะอีก 09.00 – 21.00 น. เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ThinkstockPhotos-186333494

3 ราคาเริ่มต้นคือ 12,865 ล้านบาท การประมูลจะสิ้นสุดเมื่อไม่มีการเคาะ (ตัวเลขไม่ขยับทั้ง 2 ใบอนุญาต) แต่หลายฝ่ายเชื่อกันว่า มูลค่าจะเกิน 4 หมื่นล้านบาท ต่อใบอนุญาต หรืออาจจะถึง 6 หมื่นล้านบาทต่อใบอนุญาตด้วย ทำไมถึงสูงเช่นนั้น

4 กสทช. ได้ให้ 4 ปัจจัยว่า ประมูลคลื่น 900 งวดนี้หนักแน่นอน เพราะ

4.1 ต้นทุนจากใบอนุญาตคลื่น 1800 อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาทต่อใบอนุญาต คนที่ชนะไปคราวที่แล้ว (เอไอเอส, ทรู) ยังไงก็ไม่ยอมให้ราคาการประมูลครั้งนี้ต่ำกว่าแน่นอน เพราะจะเป็นต้นทุนให้บริการที่ต่างกัน

4.2 ผลการประมูลคลื่น 1800 ที่ผ่านมาจะเป็นราคาฐาน (ประมาณ4หมื่นล้านบาท) สำหรับการประมูลครั้งต่อไป (ปี 2561) ดังนั้นคลื่น 900 ครั้งนี้ถือว่าเป็นราคาเริ่มต้นดีมากแล้ว โอกาสในการได้ใบอนุญาตระยะยาวที่ราคาต่ำแบบนี้ จะไม่มีอีกในอนาคต

4.3 ความต้องการใช้คลื่นความถี่มีสูงขึ้น จัสมิน เรียกว่าหลังชนฝา ถ้าจะเข้าแข่งขันในตลาด นี่คือโอกาสสุดท้าย เอไอเอส, ดีแทค, ทรู นอกจากจะไม่ต้องการคู่แข่งรายใหม่ ยังต้องการคลื่นไปใช้งานมากๆ

4.4 กสทช. ได้แก้ไขระเบียบขยายเวลาชำระค่าประมูลเป็น 4 ปี จากเดิม 3 ปี ทำให้ผู้เข้าประมูลมีระยะเวลาผ่อนชำระที่ดีขึ้น

183992313

5 เมื่อมีประสบการณ์มาแล้ว คราวนี้ กสทช. เลยเตรียมที่นอน ห้องนอน เต็นท์ ห้องน้ำ และอาหาร พร้อมสำหรับการอยู่ค้างคืนยาวๆ ได้เลย เป็นการยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนสถานที่จัดประมูล ทุกอย่างเริ่มต้นที่ สำนักงานซอยสายลมเช่นเดิม (แต่สบายกว่าเดิมนะ)

6 สำหรับคลื่น 900 ข้อดีคือ เป็นช่วงคลื่นความถี่ที่เหมาะอย่างยิ่งในการให้บริการโทรคมนาคมไร้สาย สัญญาณไปได้ไกล ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง ทำให้ประหยัดต้นทุนได้ดีกว่า (เทียบกับคลื่น 1800 เสาสัญญาณ 1 ต้น คลื่น 900 ให้บริการได้กว้างกว่า ต้นทุนจึงต่ำกว่า) ดังนั้นการมีคลื่นความถี่ที่หลากหลาย และมีจำนวนมาก ย่อมได้เปรียบในการให้บริการในพื้นที่แตกต่างกัน เช่น อยู่ในเมือง ออกนอกเมือง อยู่ในพื้นที่หนาแน่น อยู่ในภูเขา คลื่นมีมากกว่าย่อมดีกว่าแน่นอน

048A1939

7 ลองมาพิจารณาผู้แข่งขันกันบ้าง สำหรับ จัสมิน ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และให้บริการคอนเทนต์ผ่านโครงข่าย ต้องบอกว่า จัสมิน อยากเข้ามาร่วมให้บริการในตลาดบริการไร้สายมากๆ และนี่คือโอกาสเดียว (จากนี้ต้องรออีก 3 ปีซึ่งช้าเกินไป) คราวที่แล้ว จัสมิน แสดงให้เห็นแล้วว่า เคาะราคาไปแตะ 3.9 หมื่นล้านบาท ครั้งนี้เชื่อว่ามากกว่าเดิมแน่นอน และถ้า จัสมิน ชนะการประมูลครั้งนี้ได้ ผู้บริโภคจะมีความสุขมากแน่นอน

8 ทำไมผู้บริโภคถึงมีความสุข เพราะปัจจุบันในตลาดมี 3 ผู้ให้บริการ (เอไอเอส, ดีแทค, ทรู) การเพิ่มตัวแปรมาอีก 1 คือ จัสมิน ทำให้การแข่งขันให้บริการในตลาดดุเดือดทันที (รายใหม่อยากได้ลูกค้าเริ่มธุรกิจ รายเดิมรักษาฐานที่มั่น) ผู้บริโภครับประโยชน์ไปเต็มๆ นอกจากนี้จะเกิดบริการรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจตามมาอีกเยอะ

048A1904

9 เอไอเอส คือ ผู้ให้บริการรายเดียว ที่เคยใช้คลื่น 900 มาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้บริการของเอไอเอสในอดีตครอบคลุม ชัดเจน และต้นทุนต่ำกว่ารายอื่นๆ วันนี้คลื่น 900 กลับไปอยู่ที่ กสทช. และเอไอเอส คือคนที่อยากได้กลับมาเพื่อให้บริการมากที่สุด คลื่นที่มีอยู่น้อยนิด (2100,1800) บอกเลยว่าไม่พอ การมี 900 จะช่วยให้ “อุ่นใจ” ขึ้น และเชื่อว่ากำลังทรัพย์ของเอไอเอส ที่มีลูกค้ามากกว่า 40 ล้านราย มีสิงเทลเป็นแบ็คอัพ เอไอเอส น่าจะยังแข็งแกร่งเช่นเดิม

048A1872

10 ดีแทค คือคนที่หมอบไปตั้งแต่ต้นในการประมูล 1800 เพราะดีแทค มีคลื่นในมืออยู่มาก และเทเลนอร์ คงวางหมากมาแล้วว่า ไม่มีความจำเป็นต้องทุ่มกับคลื่น 1800 ที่ตัวเองมีอยู่แล้ว และใช้งานได้อีก 3 ปี การเพลย์เซฟ และเก็บเนื้อเก็บตัวมาลุยคลื่น 900 จึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด ดังนั้นครั้งนี้ ดีแทค น่าจะไม่หมอบแน่นอน การได้คลื่น 900 จะทำให้ดีแทค รักษาตำแหน่งผู้นำมีคลื่นมากที่สุด (ปัจจุบัน 850,2100,1800) ได้ 900 มาอีก เรียกว่า “แฮปปี้” สุดๆ

11 นอกจากนี้ดีแทค ที่ไม่สู้ในการประมูล1800 เพราะบอกได้ว่าเตรียมตัวมาลุย 900 เต็มที่ คงไม่ยอมแพ้ในการประมูล 900 ถ้าพลาดใบอนุญาตทั้ง 2 ใบในปีเดียวกันจะถือเป็นผู้ให้บริการรายเดิมที่แปลกในทันที (อาจจะบอกว่า มีคลื่นเยอะอยู่แล้ว?) เพราะอย่างที่บอกว่า นอกจากจะรักษาตำแหน่งผู้นำการมีคลื่นมาก ยังเป็นการสกัดคู่แข่งรายใหม่ (จัสมิน) หรือผู้ท้าชิง (ทรู) และอาจจะไล่บี้ผู้นำ (เอไอเอส) ได้ดีขึ้น ขึ้นกับว่าคนที่ได้ใบอนุญาตอีกรายจะเป็นใคร

048A1979

12 ทรู ที่มีไชน่าโมบาย และซีพี เป็นกำลังภายในชั้นดี ทุ่มเงินไปไม่น้อยกับการประมูลคลื่น 1800 ถ้ามองผ่าน ทรู น่าจะอ่อนแรงลงมากที่สุดใน 4 ผู้แข่งขัน แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะคนแบบ ซีพี ทำอะไรทำจริง และถ้ามีโอกาสที่ดีแล้วพร้อมทุ่มหมดหน้าตัก ถ้าทรูได้คลื่น 900 ไป จะมีคลื่นความถี่มากที่สุดทันที (ปัจจุบัน 850,2100,1800) นั่นคือในอีก 3 ปีข้างหน้า ทรู อาจจะแซงดีแทค ขึ้นเป็นที่ 2 และภายใน 5 ปี จะไล่บี้เอไอเอสที่เป็นผู้นำมาตลอด ปัจจัยสำคัญคือ ทรู เตรียมเงินไว้ถึง 6 หมื่นล้านหรือไม่

13 คาดเกมหลังประมูล ประเมินสนุกได้ว่า สำหรับเอไอเอส นอกจากจะชนะเองแล้ว น่าจะอยากให้ทรูชนะ เพื่อเห็นการห้ำหั่นกันระหว่างเบอร์ 2 และ 3 แบบสุดมัน ถ้าดีแทคชนะ ในใจคงอยากให้เอไอเอส ได้อีกใบที่เหลือ เพื่อประกันว่า ทรู จะไม่ขยับเข้ามาใกล้มากเกินไป ขณะที่หากทรูชนะไป 1 ใบ อีกใบน่าจะอยากให้เอไอเอสได้ เพราะตัวเองจะได้ไล่บี้ขึ้นอันดับ 2 และสุดท้าย ถ้าจัสมิน ชนะได้คลื่น 900 ไป ทั้ง 3 รายก่อนหน้านี้คงไม่ชอบ เพราะเพิ่มคู่แข่งในตลาด

14 การประมูลครั้งนี้ สนุกแน่นอน

ThinkstockPhotos-187632279


  •  
  •  
  •  
  •  
  •