การตลาดทุกวันนี้ได้ถูกแยก Segment ลงลึกเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน และประสิทธิผลต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างทรงพลังที่สุด และหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่เริ่มมีตัวตนชัดเจน ได้รับการยอมรับ คือ กลุ่มเพศทางเลือก (LGBT: Lesbian, Gay, Bisexual and Transgender) สินค้าและบริการที่ออกมาเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคนี้จึงเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น
เนื่องจากผลการสำรวจพบว่า กลุ่มผู้บริโภค LGBT มีการใช้จ่ายในระดับสูง เพราะไม่มีภาระทางครอบครัวมากนัก และพร้อมจะใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานมากกว่าผู้บริโภคเพศชายและหญิง และนั่นทำให้เกิดทฤษฎี Pink Money บางครั้งอาจจะเรียกว่า Pink Economy หรือ Pink Dollar ซึ่งหมายถึง พลังในการจับจ่ายของชุมชนเพศทางเลือก โดยในช่วงแรกอาจจะมีความหมายในวงจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิ์ แต่ปัจจุบัน Pink Money กลายเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องสนใจ
สำหรับธุรกิจที่ให้ความสนใจทฤษฎีนี้ เช่น ร้านอาหาร, ผับและไนท์คลับ, โรงแรม รวมถึงสินค้าและบริการด้านความบันเทิงต่างๆ จากการสำรวจพบว่า ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว มีการใช้จ่ายจากกลุ่ม LGBT มากกว่า 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์ นั่นเพราะ 90% ของกลุ่มเพศทางเลือก นิยมใช้บริการในสินค้าที่มีนโยบายสนับสนุน Pink Money และที่สำคัญกว่านั้น แนวคิดนี้ ได้แพร่กระจายออกจากสหรัฐและยุโรป มาถึงละตินอเมริกาและเอเชียแล้ว
ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ มีการใช้ศัพท์ว่า Pink Pound คาดกันว่ามีมูลค่าถึง 6 พันล้านปอนด์ต่อปี มีการจัดงานสัมมนาการตลาด Pink Pound Conference ในลอนดอน จนเริ่มมีบริการเฉพาะทางเกิดขึ้น เช่น บริการจัดงานแต่ง, สื่อวิทยุและโทรทัศน์
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา เรียกกันว่า Pink Dollar มีการสำรวจว่าประชากรเพศทางเลือกมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี โดย 28% มีรายได้เฉลี่ย 5 หมื่นดอลลาร์ต่อปี
สำหรับในประเทศไทย เชื่อว่าตลาดเพศทางเลือกจะได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซที่ขายสินค้าและบริการ เช่น เสื้อผ้า, ของใช้ส่วนตัว, สำหรับกลุ่มลูกค้านี้แล้ว