Groupon Social Commerce ตัวแม่..เปิดตัวแล้วในไทย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ได้เวลาเปิดตัว Social Commerce ตัวแม่อย่าง Groupon แล้วหลังจากได้ยินข่าวการมาเยือนประเทศไทยเพื่อตั้งรกรากสร้างสำนักงานสาขาไทยในปลายปีที่ผ่านมา  วันนี้ Groupon พร้อมให้บริการแล้ว

Groupon เปิดตัวเตรียมพร้อมนำเสนอดีลแนวไลฟ์สไตล์ โดยเตรียมหมวดหมู่ของดีลหลักไว้ที่ Restaurants and Bars, Groupon Getaways, Film and Entertainment, Beauty and Wellbeing, Shopping & Lifestyle และ Sport and Leissures  ซึ่งเข้าใจว่าจะยังคงต้องการเน้นดีลพิเศษนี้ให้กับคนกรุงเทพฯก่อนที่จะขยายตลาดไปยังต่างจังหวัด  และน่าจะให้ความสำคัญไปในเรื่องของดีลท่องเที่ยว

ความต่างของ Groupon กับเว็บไซต์ดีลอื่นๆ คือ  ดีลที่เกิดจาก Groupon นั้นจะต้องเกิดจาก Group Buy เท่านั้น  คือจะต้องมีจำนวนคนซื้อขั้นต่ำหรือที่กำหนดไว้ก่อน ทุกคนถึงจะได้ราคาดีลพิเศษนั้นร่วมกัน  เรียกว่าเป็น Social Commerce ตัวจริง!  ซึ่งต่างจาก Ensogo, DealDidi และเว็บไซต์ดีลอื่นๆ ที่ 1 คนก็สามารถซื้อดีลนั้นได้ในทันที

สำหรับเว็บไซต์ ทาง Groupon ให้ชื่อว่า MyGroupon หรือ www.mygroupon.co.th   และเนื้อหาบนเว็บไซต์และรายละเอียดของดีลยังคงนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ  คาดว่าจะปรับเป็นภาษาไทยในเร็ววันนี้

 

Groupon ไทย บน Facebook

 

แล้ว Ensogo เจ้าถิ่นผู้เกิดก่อนในไทย ว่าอย่างไรบ้าง

(ข้อมูลสัมภาษณ์คุณทอม ศรีวรกุล, ผู้ร่วมก่อตั้ง Ensogo โดย นสพ.ประชาชาติธุรกิจ)

“การเข้ามาทำตลาดในไทยของกรุ๊ปปอง แม้ว่าจะทำให้มีคู่แข่งเยอะขึ้น แต่ก็ช่วยให้ตลาดมีการขยายตัวมากขึ้นด้วย คาดว่าจะเห็นความเคลื่อนไหวของกรุ๊ปปองชัดเจนในไตรมาส 2 ซึ่งน่าจะเป็นการนำกลยุทธ์จากต่างประเทศมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับตลาดไทย

แม้ว่ากรุ๊ปปองจะเป็นบริษัทใหญ่ มีเงินทุนเยอะ แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาเรื่องอินฟราสตรักเจอร์สของเมืองไทยที่ยังไม่สมบูรณ์ เขาอาจจะมีเทคโนโลยีที่ใช้ได้ดีในอเมริกาหรือญี่ปุ่น แต่ในบ้านเราจะใช้ได้ผลหรือไม่” นายทอมกล่าวและว่า การที่กรุ๊ปปองซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาทำตลาดในไทย ดังนั้นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซไทยก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าในไทยมากขึ้น และหาวิธีสร้างความต่างด้วยการเลือกเจาะเฉพาะกลุ่มลูกค้าหรือสินค้าเฉพาะกลุ่ม

สำหรับเอ็นโซโก้นโยบายปีนี้ยังเน้นผลักดันให้เกิดการซื้อขายดีลผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ถึง 3 ล้านคน และพาร์ตเนอร์ดีลให้ถึง 8,000 ราย พร้อมกับการรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ 90% จากปัจจุบันที่มีสมาชิกประมาณ 1 ล้านคน และพาร์ตเนอร์ดีลประมาณ 4,000 ราย

ส่วนภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย น่าจะมีการเติบโตที่ดี เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคที่ใช้สื่อออนไลน์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกวัน และจำนวนคนใช้บัตรเครดิตในประเทศก็มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศน่าจะสนใจเข้ามาลงทุน ขณะที่เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซประเภทจำหน่ายดีลในไทยก็น่าจะยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีจุดเด่นที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าร้านอาหารหรือบริการต่าง ๆ


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ