จบไปแล้วกับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เพื่อให้บริการ 4G ผลการประมูลทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะผู้ชนะคือ True และ Jas ซึ่งผิดกับที่คาดการณ์กันไว้ แต่อย่างไรก็ก็ตาม เมื่อการประมูลจบลงไปแล้ว ก็ต้องมาดูกันต่อยาวๆ ว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น ทาง Marketingoops จึงประเมินสถานการณ์พร้อมเรียบเรียงบทวิเคราะห์จากคาตาลิสท์ ที่วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ ให้อ่านแบบง่ายๆ ดังนี้
1) วันที่ 19 ธันวาคม 2558 คือวันสิ้นสุดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ใช้เวลาไป 4 วัน 4 คืน โดยมีใบอนุญาต 2 ใบ ใบแรกผู้ชนะคือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือ JAS ที่ราคา 75,654 ล้านบาท และใบที่สอง ผู้ชนะคือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ True ที่ราคา 76,298 ล้านบาท รวมเป็นเงินเข้ารัฐ 151,952 ล้านบาท เรียกว่าทำลายสถิติโลกมูลค่าการประมูลคลื่นความถี่ในต่างประเทศที่เคยสูงสุดประมาณ 68,000 ล้านบาท
2) นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และกลยุทธ์ธุรกิจ บริษัท เจ.เอ็ม.คาตาลิสท์ จำกัด ระบุว่า ผลการประมูลจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนไป จากเดิมมีผู้ให้บริการ 3 ราย จะเพิ่มเป็น 4 ราย โดยมี JAS เข้ามาสร้างแรงกดดันและความเข้มข้น
JAS ภารกิจเร่งสร้างลูกค้า-โครงข่าย
3) ผู้ชนะการประมูลรายแรก JAS แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่ตลาดโทรคมนาคมแบบเต็มตัว จะเห็นการขยายตลาดจากบริการ Fixed Broadband หรืออินเทอร์เน็ตตามบ้าน สำนักงาน ไปสู่รูปแบบ Mobile Broadband ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งคลื่น 900 MHz นั้น เป็นคลื่นช่วงยาว ที่ใช้ได้ดีในวงกว้าง จึงเหมาะมากในการเริ่มต้น และด้วยคอนเทนต์ที่ JAS มีอยู่ การมีโครงข่ายทั้งมีสายและไร้สาย จะช่วยให้การกระจายไปได้ครอบคลุมมากขึ้นด้วย
4) JAS เหมือนหลังชนฝาที่ต้องคว้าคลื่น 900 มาให้ได้ เพราะ True มีทั้งเครือข่ายมีสายและไร้สายอยู่แล้ว AIS ก็เริ่มรุกเข้าตลาดเครือข่ายมีสายมากขึ้นเรื่อย เรียกว่าเป็นส่วนผสมของ Fixed-Mobile-Content อย่างลงตัว JAS มีจุดแข็งที่โครงข่ายสาย ให้บริการ 3BB Broadband อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถขยายไปโครงข่ายไร้สายได้ เพราะไม่มีคลื่นความถี่ ครั้งนี้จึงเป็นการปลดล็อคครั้งสำคัญ
5) แต่ JAS ก็ต้องเหนื่อยหนักกว่าเจ้าเก่าในตลาด เพราะไม่มีฐานลูกค้าโมบายอยู่เลย นอกจากต้องลงทุนโครงข่ายให้เร็วที่สุด เพราะมีมูลค่าใบอนุญาตค้ำคออยู่กว่า 7.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเห็นการจับมือเป็นพันธมิตรเพื่อขอใช้เสาสัญญาณร่วมกัน ควบคู่กับการลงทุนเสาสัญญาณของตัวเอง ยังมีเรื่องของบุคลากรด้านโมบาย เรียกว่าทั้ง True และ JAS ต้องใช้ประโยชน์จากการมีคลื่นความถี่เพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดนั่นเอง
True ความกดดันอันมหาศาล เพื่อเป็นที่ 1
6) ผู้ชนะอีกรายคือ True ในการประมูลปีนี้ True แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทอย่างชัดเจนว่า ต้องการชิงตำแหน่งอันดับ 2 ในตลาดจาก DTAC ด้วยการประมูลคลื่นทั้ง 1800 และ 900 ไปครอง และการมีคลื่นมาเพิ่มยังเป็นการประกันความเสี่ยงที่มีผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง JAS เข้ามาในตลาด และในระยะยาว True ยังมีศักยภาพที่จะแข่งกับ AIS ได้ดีขึ้นด้วย
AIS ต้องพิสูจน์ว่าคลื่นที่มีอยู่เพียงพอให้บริการ
7) ผู้ที่พลาดรายแรกคือ AIS จากที่คาดกันว่า การมีผู้ใช้บริการกว่า 40 ล้านราย และมีคลื่นเพียง 1800 และ 2100 MHz ซึ่งอาจไม่เพียงพอให้บริการในระยะยาว ขณะที่ผลประกอบการ AIS มีรายได้และกำไรมากที่สุด น่าจะได้คลื่น 900 มาครอง แต่ AIS ระบุว่าจากการประเมินความคุ้มค่าแล้ว การประมูลครั้งนี้มีราคาสูงเกินไป และมั่นใจว่าทรัพยากรที่มีอยู่เพียงพอเพื่อให้บริการต่อไปได้
8) AIS กดราคาไปถึง 75,976 ล้านบาท แสดงว่าประเมินแล้วว่าสูงกว่านี้ ไม่คุ้มกับคลื่น 900 แต่ที่ยังวางใจส่วนหนึ่ง เชื่อว่าจะได้เห็นการจับมือกับ TOT เพื่อนำคลื่น 1900 MHz มาใช้งาน ซึ่ง TOT ก็จะมีส่วนแบ่งรายได้จากการให้ใช้งานคลื่น และ AIS ก็จะได้ใช้คลื่นให้บริการลูกค้า สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
DTAC สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าโดยเร็ว
9) ด้าน DTAC แม้จะมี 3 คลื่นไตรเน็ต 850, 1800 และ 2100 MHz ในมืออยู่แล้ว บอกเลยว่ายังมีคลื่นเหลือพอใช้งานสบายๆ แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า และเตรียมจัดการความเสี่ยงเรื่องสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2561 ที่ต้องมาลุ้นกันอีกรอบ และจากนี้ dtac จะโดนรุกหนักจาก True ในการชิงฐานลูกค้าเพื่อขึ้นสู่อันดับ 2 ของตลาดแน่นอน ทางออกหนึ่งคือ dtac น่าจะกลับมาจับมือกับ CAT Telecom มากขึ้น เพื่อนำคลื่นความถี่ที่ยังไม่มีการใช้งานออกมาใช้ (โมเดลเหมือน TOT-AIS เลย) ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
TDRI ยืนยันประเทศ-ประชาชนได้ประโยชน์
10) มูลค่าใบอนุญาตครั้งนี้ 151,952 ล้านบาทสูงไปหรือไม่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ต้องมีการแข่งขันเพื่อจัดสรรให้กับผู้ชนะไปใช้งาน ซึ่งการประมูลคลื่น 4G ทั้ง 2 ครั้งสร้างรายได้มหาศาลแก่รัฐบาล ลดความจำเป็นในการเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน ในขณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียแก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค
11) หากมีความกังวลใจว่า ผู้ชนะการประมูลจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ทีดีอาร์ไอ มองว่าเรื่องนี้เป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการธุรกิจเอง ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดจากการประมูล และการที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ (JAS) แสดงความสนใจ และชนะการประมูลเข้าสู่ตลาดได้ แสดงว่ามีโอกาสทางธุรกิจอีกมหาศาล
12) สำหรับคลื่นความถี่ 900 นั้น นอกจากจะรองรับเทคโนโลยี 4G ที่กำลังเปิดให้บริการอยู่แล้ว ยังมีคุณสมบัติรองรับเทคโนโลยี 5G ที่จะเปิดให้บริการในอนาคต ผู้ชนะไม่ต้องกังวลเรื่องคลื่นความถี่ไปอีกนาน และ กสทช. ยังจัดให้งวดการจ่ายชำระมีความยืดหยุ่นมากกว่าโดยแบ่งเป็น 4 งวด รวม 3 ปีแรกจ่ายที่ประมาณ 16,000 ล้านบาท จ่ายที่เหลือในปีที่ 4 ทำให้ผู้ให้บริการนั้นมีเวลาในการระดมทุนและจัดสรรเรื่อง Financing
13) ค่าประมูลที่สูง ทำให้ต้นทุนสูงตาม จะกระทบกับค่าบริการหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะมีเงื่อนไขการประมูลกำหนดไว้แต่แรกแล้วว่า ค่าบริการห้ามสูงกว่าที่มีการใช้งานในตลาดปัจจุบัน รวมถึงมีการแข่งขันกันในตลาดอยู่แล้ว (ยิ่งมี JAS มาเป็นรายที่ 4 แข่งขันยิ่งเข้มข้น) เรื่องค่าบริการจึงไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งผู้ให้บริการสามารถเพิ่มรายได้ โดยการดึงดูดให้ผู้ใช้ เพิ่มปริมาณการใช้งานและขยายฐานผู้ใช้ แม้จะมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในไทยกว่า 90 ล้านเลขหมาย เกินจำนวนประชากรไปแล้ว แต่มีการใช้สมาร์ทโฟนประมาณ 40% หรือ 36 ล้านเลขหมาย แสดงว่ายังมีโอกาส และจากแนวโน้มทั่วโลก พบว่าเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3G และ 4G แล้ว พบว่า ผู้ใช้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น เสียคา่บริการเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นด้วย
14) จึงคาดการณ์ได้ว่า การแข่งขันกันที่บริการที่มีคุณภาพเพื่อแย่งชิงลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเดิมจะเป็นหัวใจสำคัญ ราคาค่าบริการจะเร้าใจมากกว่านี้ จะเห็นการเปิดตลาดใหม่ Bundle บริการ หรือ Convergence ระหว่าง Fixed และ Mobile มากขึ้น จะเห็นการเปิดตลาดผู้บริโภคองค์กร ซึ่งมีการใช้งานหนักกว่าผู้ใช้ทั่วไป
Copyright © MarketingOops.com