ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันการให้บริการและการเข้าไปลงทุนใน DeFi ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะ DeFi ที่ให้บริการในลักษณะการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก (deposit taking & lending) ทั้งในรูปแบบการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปหาประโยชน์ต่อ เช่น นำไปให้ยืม หรือนำไปลงทุนต่อ ซึ่งการให้บริการในลักษณะดังกล่าวมักจะแสดงผลตอบแทนสูงเพื่อจูงใจผู้ซื้อขายให้เข้ามาทำธุรกรรม
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ออกมาบอกว่า การทำธุรกรรม DeFi มีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงจากตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งอาจมีความซับซ้อน ความเสี่ยงจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลเกินกว่ามูลค่าหลักประกัน (overleverage) ความเสี่ยงที่ผู้ใช้งาน อาจได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ หรือถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ เนื่องจาก มีความเสี่ยงและไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลของไทย
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านเทคนิคและความปลอดภัย รวมถึงข้อกำหนด เงื่อนไข และฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ที่อาจมีช่องโหว่ ตลอดจนการถูกหลอกลวง ฉ้อโกง เช่น การ Rug Pull เป็นต้น ดังนั้นผู้ซื้อขายจึงควรศึกษาโครงการ DeFi ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ และควรใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมเนื่องจากการให้บริการในลักษณะ deposit taking & lending ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลภาคตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทย
โดยปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่สนับสนุนธุรกรรมในลักษณะ deposit taking & lending ทั้งในรูปแบบ decentralized finance หรือ centralized finance และอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม DeFi เป็นบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์บนระบบบล็อกเชน ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ