กางแผนโครงการไฟ-ฟ้า ปั้นเด็กธรรมดาให้มีคุณค่าและสำคัญกว่าการชิงถ้วยรางวัล

  • 475
  •  
  •  
  •  
  •  

ในยุคที่เงินเป็นพระเจ้า ใครต่อใครสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อแลกกับเงิน โดยไม่สนว่าการกระทำนั้นจะถูกหรือผิดกฎหมาย นั่นอาจเรียกอย่างเต็มปากเต็มคำได้ว่าคือ สังคมเสื่อมทรามแล้วถ้าการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันยากลำบากถึงขนาดที่ต้องคิดถึงตัวเองก่อนส่วนรวม ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่สนแม้จะมีคนที่รอคอยความช่วยเหลือ นั่นอาจเรียกอย่างเต็มปากเต็มคำได้ว่า สังคมเสื่อมโทรม

แต่ทุกคนก็ยังมีโอกาสที่พัฒนาตัวเองและสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อกัน ดูแลและพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเมื่อเห็นคนต้องการความช่วยเหลือ นั่นเพราะ โอกาส พร้อมให้ทุกคนวิ่งเข้าไปหาและไขว่คว้าโอกาสเหล่านั้น มีโอกาสเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ช้อปปิ้ง กินอาหารรสเลิศ เดินทางต่างประเทศ หรือทำอะไรในสิ่งที่ใจปรารถนา

หากแต่ยังมีส่วนหนึ่งที่ต้องการโอกาส แต่โอกาสเหล่านั้นไม่เคยสนใจหรือมองเห็นและปล่อยให้คนเหล่านั้นเติบโตไปกับสังคมเสื่อมทรามเพื่อรอวันเสื่อมโทรม เหมือนเช่นเด็กๆ จากชุมชนแออัดหลายๆ แห่งทั่วกรุงเทพฯ ที่อยากมีโอกาสแบบนั้นบ้าง แต่มองไปทางซ้ายก็ขายยาเสพติด มองไปทางขวาก็ค้าประเวณี มองไปข้างหน้าก็มีแต่ลักวิ่งชิงปล้น มองไปข้างหลังก็มีแต่นักเลงอันธพาล มองขึ้นไปบนฟ้าก็เกินคว้าถึง มองลงไปที่ดินก็มีแต่น้ำเน่า น้ำเสีย ปลูกต้นไม้อะไรก็ไม่ขึ้น

แล้วเด็กๆ เหล่านี้จะมี โอกาสแค่ไหนในการไปถึงฝัน หรือเพราะสภาพแวดล้อมที่ทำให้ “โอกาส” ไม่เคยเดินมาหาเด็กๆ เหล่านี้

ผ่าความคิด TMB ทำไมต้องมีกิจกรรม CSR

เพราะเด็กคือฐานรากของสังคม ถ้าเด็กๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่มีโอกาส เด็กๆ เหล่านั้นก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมปิดโอกาสตัวเองจากผู้อื่น ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาทางสังคม การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และการจะเปลี่ยนเรื่องเหล่านั้นได้ต้องปรับเปลี่ยนตั้งแต่ฐานรากซึ่งก็คือเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้มีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองและนำไปสู่การพัฒนาชุมชนของตัวเอง

โครงการไฟ-ฟ้าจึงเกิดขึ้นบนเป้าหมายที่สร้างโอกาสให้กับเด็กได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งความมุ่งหวังของโครงการไม่ได้ต้องการให้เด็กๆ เหล่านี้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ไม่ได้ต้องการให้เด็กๆ เหล่านี้ยืนอยู่ในตำแหน่งที่หนึ่งของโลก หากแต่ต้องการให้เด็กๆ เหล่านี้มีความสุขกับชีวิต สนุกไปกับการใช้ชีวิตด้วยการช่วยเหลือและแบ่งปันให้กับผู้อื่น นั่นหมายถึงอนาคตที่ดีของเด็ก ของชุมชนและของประเทศชาติ

และอีกด้านเพื่อต่อยอดโครงการด้าน CSR ให้เกิดประโยชน์ในทุกภาคส่วน พนักงานของ TMB จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากชุมชนจะได้รับผลประโยชน์ในแบบที่เห็นได้ชัดจับต้องได้ พนักงานของ TMB ยังได้รับความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในชุมชนและความร่วมมือของพนักงานด้วยกันเอง ทำให้ก่อเกิดความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่สำคัญเด็กในโครงการไฟ-ฟ้า ยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน นั่นจึงทำให้โครงการ CSR ของ TMB ไม่ใช่การทุ่มเม็ดเงินลงไปในโครงการ แต่เป็นการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้แต่ละโครงการช่วยเหลือเกื้อกูลแต่ละโครงการด้วยกัน รวมไปถึงการเข้าไปช่วยเหลือของพนักงาน TMB ที่จะต้องทำงานรวมกับชุม นี่จึงทำให้โครงการ CSR ต่างๆ ของ TMB ยั่งยืนและมั่นคง

โดย คุณกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร TMB

เผยว่า นอกจากโครงการไฟ-ฟ้าจะช่วยเด็กๆได้พัฒนาตัวเองแล้ว อีกมุมนึงเด็กๆ เหล่านี้ยังได้ส่งมอบแนวคิดดีๆ และความช่วยเหลือไปสู่การพัฒนาชุมชนของตัวเอง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่ดีขึ้น โดยกิจกรรมเพื่อชุมชน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ

ชุมชนต้องแข็งแรง ต่อยอดเด็กธรรมดา

โดยระยะแรกจะเป็นการคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยพนักงาน TMB จะเป็นผู้ดูแลโครงการพัฒนาชุมชนในแต่ละแห่ง ซึ่งชุมชนที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องผ่านการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่าง TMB กับชุมชนในการพัฒนาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นร่วมกัน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

หลังจากนั้นในระยะที่ 2 ทาง TMB จะร่วมมือกับชุมชนในการค้นหาจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของชุมชนที่จะสามารถต่อยอดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ของชุมชนเพื่อวางแผนแก้ไขและพัฒนา โดยมีกำหนดระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ชุมชนดีขึ้น โดยล่าสุดมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 65 ชุมชน หรือมีชาวชุมชนร่วมกิจกรรมกว่า 50,000 คน

ส่วนหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมการพัฒนาชุมชนได้รับผลตอบรับที่ชัดเจน คือ การให้เด็กๆ ในโครงการไฟ-ฟ้า เข้าไปช่วยแบ่งปันความรู้ต่างๆ ที่ได้รับ รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการเปลี่ยนแปลงสภาพชุมชนให้ดีขึ้น ทั้งยังต้องการพัฒนาเด็กๆ เหล่านั้น จากเดิมที่มีชีวิตติดลบให้กลายมาเป็นเด็กที่มีองค์ความรู้ และพร้อมช่วยเหลือแบ่งปันสู่ผู้อื่น ซึ่งในอนาคตเด็กๆ จะพัฒนาต่อไปอย่างไรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็กๆ เหล่านั้นเอง

นอกจากนี้ พนักงานของ TMB ยังได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานเป็นทีม และความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทีม TMB ซึ่งบางครั้งพนักงานอาจจะแทบไม่รู้จักกันเลย ทั้งที่ทำอยู่ในแผนกเดียวกัน แต่โครงการดังกล่าวช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในองค์กรก่อให้เกิดความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของพนักงานภายใน TMB

โครงการไฟฟ้า จุดประกายแรงบันดาลใจ

TMB ได้หันมามองถึงการให้ “โอกาส” โดยเฉพาะโครงการไฟ-ฟ้า ที่แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับไฟฟ้า แต่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับเด็กและชุมชน โดย คุณมาริสา จงคงคาวุฒิ เจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนของ TMB ได้อธิบายถึงโครงการไฟ-ฟ้าในครั้งนี้ว่า สำหรับชื่อโครงการ “ไฟ-ฟ้า” นั้น เกิดจากคำสองคำที่มารวมกัน

โดยคำว่าไฟ มีความหมายถึงพลังและการจุดประกาย เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือ ส่วนคำว่า ฟ้า คือสีหลักของ TMB นั่นจึงทำให้โครงการไฟ-ฟ้า หมายถึงโครงการที่ช่วยสร้างพลังและจุดประกายเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ผ่านการรวมพลังของทีมพนักงาน TMB ซึ่งโครงการไฟ-ฟ้าดังกล่าว ทาง TMB ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนนำไปสู่การเป็นโครงการด้านสังคมที่เป็นที่ยอมรับภายใต้แนวคิด “Make The Difference”

เพราะ TMB เล็งเห็นว่า เด็กทุกคนมีพลังและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันชุมชนไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะในเยาวชนช่วงอายุตั้งแต่ 12-17 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการฯ เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กวัยรุ่น ซึ่งการให้ทางเลือกที่ดีรู้จักใช้พลังอย่างสร้างสรรค์ และให้เด็กเหล่านี้มีความสุขสนุกกับการใช้ชีวิต และส่งต่อไปยังครอบครัวและชุมชนเพื่อพัฒนาสังคมรอบๆ ที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งที่เด็กเหล่านี้ควรทำ

เด็กธรรมดาที่มีความสุขกับชีวิตในทุกๆ วัน

นี่เองที่ทำให้โครงการไฟ-ฟ้าเกิดแคมเปญ เด็กธรรมดาคือสิ่งที่สวยงาม โดยปัจจุบันได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไฟ-ฟ้าแล้วทั้งสิ้น 4 แห่ง โดยแห่งแรกคือ ศูนย์ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 ศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้ของเยาวชนในชุมชนละแวกใกล้เคียง เพื่อให้เด็กๆ สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำการบ้าน อ่านหนังสือ ทำกิจกรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจิตอาสาในแต่ละสาขา เข้ามาสับเปลี่ยนหมุนเวียนช่วยกันสอนเด็กๆ เหล่านี้

เพราะ TMB ตระหนักว่า เด็กๆ เหล่านี้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและให้โอกาสที่เหมาะสม เด็กๆ เหล่านี้ก็จะเติบโตไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี โดยไม่มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์อีกด้านที่แตกต่าง แคมเปญ “เด็กธรรมดา… คือสิ่งที่สวยงาม” จึงเน้นให้เด็กๆ ได้ใช้ชีวิตที่เป็นปกติเหมือนเด็กอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องชนะเลิศ ไม่จำเป็นต้องได้รางวัล ไม่จำเป็นต้องได้โล่เกียรติคุณหรือใบประกาศนียบัตร หากแต่ให้เด็กๆ เหล่านี้ได้ภูมิใจในสิ่งที่ทำ ได้สนุกกับการใช้ชีวิต ได้มีความสุขกับการเป็นเด็กปกติ นี่คือเป้าหมายใหญ่ของแคมเปญ

นอกจากศูนย์ไฟฟ้าประดิพัทธ์แล้ว ในกรุงเทพฯ ยังมีศูนย์ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ, ศูนย์ไฟ-ฟ้า จันทน์ และศูนย์ไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย โดยในเร็วๆ นี้จะมีการเปิดศูนย์ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการเป็นแห่งที่ 5

เพราะ TMB ต้องการเปลี่ยนเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น Make The Difference โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทยในอนาคต หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น อนาคตของ ประเทศก็คงจะเป็นแบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา เพราะ TMB เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น

TMB…Make The Difference


  • 475
  •  
  •  
  •  
  •