TCP Spirit “พยาบาลลุ่มน้ำ 2 เขาใหญ่” ถอด 10 บทเรียนดูแลลุ่มน้ำที่ทุกคนนำไปใช้ได้

  • 14.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

TCP Spirit

หลังจากคราวที่แล้ว โครงการ ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ #1’ ชักชวนกันไปดูแลลุ่มน้ำน่าน ต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีแล้วยังเป็นโครงการที่ช่วยเหลือชุมชน โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำที่มีความสำคัญต่อชุมชนทุกแห่งในประเทศไทย หากแต่ลุ่มน้ำในประเทศไทยมีลักษณะที่แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาของลุ่มน้ำแห่งหนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ผลกับลุ่มน้ำอีกแห่งหนึ่ง

ไม่ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำใด เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็มักจะมีหลายฝ่ายที่ได้รับผลกระทบไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้คำตอบที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปแก้ปัญหาได้ทุกพื้นที่ The Cloud และกลุ่มธุรกิจ TCP จึงจัดกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ครั้งที่ 2 เขาใหญ่’ เพื่อให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ปัญหาและวิธีการจัดการน้ำที่สามารถนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้

โดยครั้งนี้เป้าหมายคือการทำความเข้าใจแหล่งต้นน้ำและการจัดการน้ำตามธรรมชาติที่น้ำตกผากล้วยไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของป่าและน้ำ รวมถึงการเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำและการจัดการที่ดินที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่บนที่ดินกว่า 50 ไร่ และที่ขาดไม่ได้คือนักแสดงหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ ในฐานะ TCP Spirit Ambassador ปีที่ 2 ที่จะมาร่วมเรียนรู้ ร่วมทำกิจกรรมกับอาสาสมัคร

โครงการ TCP Spirit เป็นโครงการอาสาสมัครของกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ รวมทั้งแบรนด์ขนมขบเคี้ยวซันสแนค โดยต่อยอดมาจาก ‘กระทิงแดง สปิริต’ โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน โดยหมุนเวียนนำเสนอประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ด้วยกัน

10 วิชาด้านดินและน้ำ เริ่มด้วยการทำความรู้จัก

นอกจากการศึกษาแหล่งต้นน้ำและการทำกิจกรรมในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตลอด 3 วัน 2 คืนแล้ว อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการรวมถึง อเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Ambassador ปีที่ 2 ยังได้รับความรู้ 10 วิชาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของดินและน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เพื่อให้ทุกคนสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้อย่างถูกวิธี

โดยวิชาที่ 1 จะเป็นเรื่องการเรียนรู้และทำความรู้จักลุ่มน้ำ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความหมายของ “ต้นน้ำ” และ “ลุ่มน้ำ” รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ก่อนลงมือพยาบาลลุ่มน้ำด้วยกัน โดยคุณฉัตรปรีชา ชฎากุล หัวหน้าสถานีวิจัยลุ่มน้ำมูล ที่เริ่มจากการรู้จัก “ต้นน้ำ” เพราะเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุดและเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธาร ส่วนใหญ่มักเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบนที่สูงอย่างภูเขา

ส่วน “ลุ่มน้ำ” คือพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมดมีลักษณะเหมือนแอ่งกะทะ ลุ่มน้ำจึงมีมีองค์ประกอบที่หลากหลายทั้งดิน หิน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่อยู่อาศัย ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม วัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งจะอยู่รวมกันอย่างกลมกลืนเป็นลุ่มน้ำ การพยาบาลลุ่มน้ำจึงเน้นไปที่การจัดการที่ดินและการใช้ที่ดินของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำนั้นๆ ทั้งต้นน้ำและลุ่มน้ำจะต้องมี “น้ำ” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งมนุษย์ที่ใช้น้ำในแทบทุกกิจกรรมแต่น้อยคนที่รักษา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ

นอกจากนี้พื้นที่ป่าต้นน้ำที่คอยดูดซับน้ำบนภูเขาก็ถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์ ทำให้สูญเสียพื้นที่ต้นน้ำให้กับการเกษตรจนกลายเป็นเขาหัวโล้น และส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ

ป่าและน้ำเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

สำหรับวิชาที่ 2 จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของป่ากับน้ำ โดยอาสาสมัครจะได้เดินสำรวจป่าลุ่มน้ำลำตะคองกันที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ ที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำบนเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยป่าแห่งนี้ยังเปรียบเสมือนเขื่อนกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี

ลำตะคองเป็นแม่น้ำสายสำคัญอีกสายหนึ่งที่เปรียบเสมือนสายเลือดที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนในจังหวัดนครราชสีมา แม้ว่าลุ่มน้ำลำตะคองจะมีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์มีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี แต่บริเวณพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำมีความต้องการใช้น้ำสูง จึงมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้ในปริมาณมาก ก่อให้เกิดปัญหาการจัดการน้ำและขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง

ระหว่างการศึกษาความสัมพันธ์ป่ากับน้ำ ก็มีการชวนอาสามัครให้รู้จัก “น้ำนิ่งไหลลึก” บริเวณแหล่งน้ำที่เก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง สังเกตเห็นน้ำนิ่งแสดงว่าบริเวณนั้นน้ำลึกแน่นอน แต่ถ้ามีน้ำไหลแรงให้สบายใจได้ว่าน้ำตื้น ที่สำคัญต้นไม้ถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า จิงโจ้น้ำก็เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำด้วยเช่นกัน

การมีป่าที่สมบูรณ์จะเป็นตัวช่วยอุ้มน้ำไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อฝนตกป่าจะช่วยดูดซับน้ำเอาไว้ไม่ให้ไหลบ่าลงไปท่วมพื้นที่ด้านล่าง และเมื่อถึงช่วงหน้าแล้งรากของต้นไม้ที่เคยดูดซึมน้ำเอาไว้จะค่อยๆ คายน้ำออกมา

หลุมขนมครกช่วยเก็บน้ำ และสปาช่วยบำบัดน้ำเสีย

ในส่วนของวิชาที่ 3 จะเป็นการทำความเข้าใจในเรื่อง “หลุมขนมครก” ผ่าน “โคก หนอง นา โมเดล”ที่ช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินริมลำธารอันเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยเปรียบว่า ถ้าพื้นดินเป็นถาดเรียบก็จะเก็บน้ำไว้ไม่ได้

การขุดหลุมเหมือนถาดขนมครกบนพื้นดินจะช่วยขังน้ำในดินได้นานขึ้น ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจะไม่ไหลบ่าจนเกิดน้ำท่วมเหมือนปัจจุบัน ทฤษฎีนี้สามารถใช้ได้กับพื้นที่เขาหัวโล้น เพียงขุดหนองไว้เก็บน้ำและปลูกพืชหรือทำนาเป็นขั้นบันไดเพื่อให้รากอุ้มน้ำในดิน ยิ่งถ้าปลูกแฝกบริเวณสันดินจะช่วยให้ยึดเกาะหน้าดินได้ดี นอกจากหลุมขนมครกจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้แล้ว ยังช่วยจัดเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี

และในวิชาที่ 4 จะเรียนรู้เรื่องการทำ “สปา” เพื่อบำบัดน้ำเสียและป้องกันน้ำปนเปื้อนสารเคมีไหลเข้ามาในที่ดินได้ด้วย โดยเริ่มจากทฤษฎีของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการบำบัดน้ำเสียที่บึงมักกะสันและบึงพระรามเก้า ก่อนจะมาแปลงให้เข้าใจง่ายๆ โดยเริ่มจากการขุดหนองรับน้ำให้น้ำเสียไหลเข้ามานอนพัก โดยใช้มูลวัวสดผสมฟางยาแนวผนังบ่อช่วยให้ดินมีความหนาแน่นมากขึ้น เมื่อตกกะกอนจนน้ำใสขึ้นก็ปล่อยให้ไหลไปยังบ่ออาบแดดเพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโรค

แล้วขุดคลองไส้ไก่ให้เลี้ยวลดคดเคี้ยว ลึกบ้างตื้นบ้าง โดยปลูกพืชน้ำอย่างกก ธูปฤาษี พุทธรักษา เพื่อให้รากของพืชเหล่านี้ดูดสารพิษ และบ่อพักน้ำสะอาดอาจใช้ฝายและคันดินทำให้เป็นน้ำตก เพื่อช่วยเติมอากาศในน้ำ พร้อมทั้งโยนระเบิดจุลินทรีย์เพื่อปรับสภาพน้ำให้มีคุณภาพ จากนั้นก็ส่งน้ำไปสู่ระบบชลประทานเพื่อใช้อุปโภค บริโภคและใช้เพื่อการเกษตร

แฝกและกล้วยช่วยลดหน้าดินพังทะลาย

ใน วิชาที่ 5 แฝกช่วยกักกินและเก็บน้ำ ที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ มักประสบปัญหาเวลาน้ำหลากจะชะล้างหน้าดินลงไปอยู่ในลำน้ำหมด ส่งผลให้ลำนำตื้นเขิน รวมไปถึงบริเวณพื้นที่เขื่อนกลายเป็นพื้นที่กักเก็บดินแทน ซึ่งควรมีระบบการอนุรักษ์ดินเพื่อเก็บตะกอนดินดีที่ไหลมากับน้ำ ซึ่งจะกลายเป็นดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุตามธรรมชาติ

การปลูกแฝกจะช่วยให้รากแฝกสามารถยึดหน้าดินและลดการชะล้างพังทลาย โดยแฝกควรปลูกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ แนวแถวของแฝกจะเป็นเสมือนรั้วช่วยชะลอความเร็วของน้ำไหลบ่าหน้าดิน สามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นริมตลิ่ง ริมลำธาร หรือแม้แต่พื้นที่เขาหัวโล้น นอกจากลดการพังทลายของหน้าดินแล้ว แฝกยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นในดินอีกด้วย

ส่วน วิชาที่ 6 ว่าด้วยประโยชน์การปลูกกล้วย ซึ่งในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ มีแนวคิดที่ว่า “คิดอะไรไม่ออกปลูกกล้วย” เพราะแต่เดิมพื้นดินที่ศูนย์ฯ แห้งกรังกักเก็บน้ำได้ไม่ดี ศูนย์ฯ จึงเริ่มปลูกกล้วย ซึ่งลำต้นของกล้วยสามารถเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี การปลูกกล้วยจึงเหมาะมากสำหรับใช้ปรับคุณภาพดินบนภูเขาหัวโล้น

ที่สำคัญกล้วยยังส่งผ่านความชุ่มชื้นไปยังพืชที่ปลูกอยู่ข้างเคียงกันให้เจริญงอกงาม ยิ่งไปกว่านั้นกล้วนยังเป็นพืชสารพัดประโยชน์ โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วนของต้นกล้วย ตั้งแต่ผลกล้วยที่อร่อยย่อยง่าย ใบกล้วงหรือใบตองสามารถนำไปห่อขนม หยวกกล้วยใช้แกงรับประทานได้ เป็นต้น

ใช้ธรรมชาติจัดการกันเอง ที่ดินว่างก็เกิดประโยชน์

ใน วิชาที่ 7 จะเป็นการเรียนรู้หลักธรรมชาติทำลายธรรมชาติ ปัญหาอย่างหนึ่งของเกษตรกรคือปัญหาจากวัชพืช น้ำยิ่งดีผลผลิตการเกษตรก็งอกงามวัชพืชก็โตตามไปด้วย แล้วลงเอยที่การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่นั่นก็เสี่ยงต่อสุขภาพของเกษตรกรและสารปนเปื้อนไปสู่ผู้บริโภค แต่มีวิธีที่ง่ายกว่าการใช้สารเคมีด้วยวิธี “ตัดให้เตียน” คือการตัดหญ้าให้เตียนและกองทิ้งไว้ตรงนั้น

หญ้าที่ถูกตัดแล้วจะคอยห่มดินเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดินที่อยู่ด้านล่าง เมื่อความชุ่มชื้นเพียงพอก็จะเกิดความร้อนใต้กองหญ้า ทำให้จุลินทรีย์สามารถเจริญเติบโตได้ดีมากกว่าเดิม ส่งผลดีต่อการการย่อยสลายและกองหญ้าเหล่านั้นจะกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ หรือสร้างร่มเงามาบังแสงไว้ เมื่อหญ้าไม่เจอแสงแดดก็จะตายเองตามธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปตัด

มาถึง วิชาที่ 8 เปลี่ยนคันนามาปลูกผลไม้ผักสวนครัว โดยภายในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ จะมีแปลงนาข้าวอินทรีย์ ซึ่งบริเวณพื้นที่คันนามีการปลูกพืชทานได้และพืชใช้ประโยชน์ ทว่าชาวบ้านมีความเชื่อการห้ามปลูกไม้ใหญ่บนคันนา เพราะเงาของต้นไม้จะทับลงบนนาข้าวทำให้ข้าวเจริญเติบโตไม่ดี สามารถแก้ได้ด้วยการสร้างคันนาให้ตตรงกับแนวพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เงาต้นไม้ใหญ้จะไม่ตกบนนาข้าว ไม่ขัดต่อหลักความเชื่อแถมยังสร้างรายได้เสริมอีกด้วย

ปลูกป่า 5 ระดับ ผสมสูตรน้ำหมักไว้ใช้เอง

วิชาที่ 9 เป็นการเรียนรู้การปลูกป่า 5 ระดับ ทฤษฎีการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างยังคงใช้ได้ผลอยู่ ภายใต้แนวคิดการปลูกป่า 5 ระดับ หรือคือการปลูกพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน ที่มีความสูงแตกต่างกัน เพราะความแตกต่างของชนิดพืชและความแตกต่างของระดับความสูง จะทำให้เกิดการเกื้อกูลกันเหมือนป่า เมื่อฝนตกลงมารากของพืชทั้ง 5 ระดับจะช่วยอุ้มน้ำไว้ใต้ดินได้มากถึง 70%

สำหรับพืชที่ควรปลูกประกอบไปด้วย ต้นไม้ระดับสูงควรเป็นพืชจำพวกไม้เนื้อแข็งอย่างต้นตะเคียน ต้นสัก ต้นประดู่ ต้นไม้แดง ส่วนต้นไม้ระดับกลางควรเป็นไม้ผลอย่าง ต้นมะพร้าว ต้นมะม่วง ขณะที่ต้นไม้ระดับเตี้ยควรเป็นพืชผักสวนครัวอย่าง ต้นอัญชัน ส่วนต้นไม้ที่เป็นหัวอยู่ใต้ดินควรเป็นพืชจำพวกเผือกและมัน

ต้นไม้ระดับสูงรากจะหยั่งลึกช่วยให้จุลินทรีย์สามารถเดินทางตามรากของต้นไม้ ส่งผลให้พื้นที่นั้นจะยิ่งอุดมสมบูรณ์และเกิดความสมดุล แถมด้วยทฤษฎีการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ที่เริ่มพืชที่กินได้ พืชที่ใช้งานได้ และพืชที่นำมาสร้างที่อยู่อาศัยได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่างทั้งพออยู่ พอกิน พอใช้และพอร่มเย็น

สำหรับวิชาสุดท้าย วิชาที่ 10 การทำน้ำหมักสารพัดประโยชน์ วิชานี้เกิดจากพื้นที่เดิมก่อนมาเปิดศูนย์ฯ เป็นพื้นที่เกษตรเคมี แม้จะเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว แต่ก็ยังมีสารพิษตกค้าง น้ำหมักจึงเป็นทางเลือกในการชะล้างสารพิษที่ยังตกค้างอยู่ ด้วยการทำน้ำหมักจากหน่อกล้วยหมักจนอายุครบ 3 เดือนก็พร้อมใช้งานนำมาราดลงดิน ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน

รวมไปถึงการนำปุ๋ยหมักแห้ง ดินเลน รำข้าว แกลบเผา แกลบดิบและน้ำหมักจากหน่อกล้วย ผสมคลุกเคล้าแล้วปั้นขนาดเท่าลูกเปตอง วางในพื้นที่ร่ม 7-15 วัน ก็จะกลายเป็นระเบิดจุลินทรีย์สำหรับบำบัดน้ำเสีย โดยระเบิดจุลินทรีย์ 1 ลูกเหมาะกับพื้นที่บ่อน้ำขนาด 1 ตารางเมตร

ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 10 วิชาของหลักสูตร “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ” สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการจัดการน้ำทั้งในที่ดินของตนเองและพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะการบำบัดน้ำเสียจากสารเคมีปนเปื้อนและแก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการชะล้างตะกอนดินไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ

TCP Spirit “พยาบาลลุ่มน้ำ 2 เขาใหญ่” นี้ อยู่ภายใต้โครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” อันเป็นโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ของกลุ่มธุรกิจ TCP โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน


  • 14.3K
  •  
  •  
  •  
  •