เวลานี้หลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล – เอกชน – ประชาชนในหลายประเทศ เริ่มตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ คือ ปริมาณขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ซึ่งยากแก่การทำลาย และยังสร้างมลพิษในระยะยาว
มีรายงานจาก The World Economic Forum ระบุว่าปัจจุบันมีขยะพลาสติกไม่ต่ำกว่า 150 ล้านตันอยู่ในทะเลทั่วโลก และมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ขยะพลาสติกในทะเลทั่วโลก จะมีน้ำหนักมากกว่าปลาจากทะเลทั่วโลกรวมกัน !!
แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าพฤติกรรมการใช้ “ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” กลายเป็นความคุ้นชินของภาคเอกชนกลุ่มธุรกิจต่างๆ ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้บริโภคมายาวนาน ดังนั้นการเลือกวิธี “รณรงค์” เพียงอย่างเดียว เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้ถุงพลาสติก อาจเห็นผลช้า นี่จึงทำให้หลายประเทศ ต้องใช้วิธีออกกฎหมายบังคับใช้กับภาคเอกชน ผู้ประกอบการร้านค้า และภาคประชาชน เพื่อควบคุมปริมาณขยะพลาสติก และเปลี่ยนพฤติกรรมโดยทันที!
ล่าสุด “เกาหลีใต้” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พยายามลดขยะพลาสติก ด้วยการออกกฎหมายห้ามซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าทั่วประเทศใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง มีเป้าหมายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมให้มีการนำสิ่งของที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ โดยกฎหมายนี้มีผลต่อร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็น Discount Store จำนวน 2,000 แห่ง และซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 11,000 แห่งที่มีพื้นที่ขายขนาด 165 ตารางเมตรขึ้นไป ห้ามให้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งฟรีแก่ลูกค้า แต่สามารถให้ถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งแก่ลูกค้าได้ สำหรับสินค้ากลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์
ส่วนร้านค้าที่ละเมิดกฎหมายดังกล่าว มีโทษปรับ 3 ล้านวอน หรือประมาณ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 86,000 บาท ขณะเดียวกันเมื่อไม่มีถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งให้บริการ ทางร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องมีถุงผ้า หรือถุงกระดาษเสนอเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ “กระทรวงสิ่งแวดล้อม” ของเกาหลีใต้ ยังเผยอีกว่า ต่อไปจะต่อยอดไปสู่การบังคับใช้กฎหมายกับพลาสติกใช้แล้วทิ้งประเภทอื่นๆ เช่น หลอด
ทุกวันนี้หลายประเทศพยายามลดปริมาณขยะพลาสติก โดยส่วนใหญ่เลือกใช้วิธี “ลงโทษ” ในรูปแบบต่างๆ เช่น เก็บภาษีถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และออกกฎหมาย เช่น ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, จีน, นิวซีแลนด์, เนเธอร์แลนด์ และปัจจุบันประเทศที่มีบทลงโทษแรงสุดในโลก คือ “เคนย่า” ห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบ single use ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายถุงพลาสติกทั่วประเทศ และผู้บริโภค หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับ 40,000 เหรียญสหรัฐ โดยรัฐบาลเคนย่ามองว่าการออกกฎหมายเช่นนี้ จะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม – การเกษตร – การประมง – การท่องเที่ยวของประเทศได้ในระยะยาว
การใช้มาตรการ “ลงโทษ” เป็นวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้เร็ว ทั้งฝั่งร้านค้า และผู้บริโภค ตรงกันข้ามกับประเทศไทย ที่ใช้วิธี “ให้รางวัล” เพื่อสร้าง “แรงจูงใจ” ในการปฏิเสธรับถุงพลาสติก โดยลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก จะได้รับ “คะแนนสะสมเพิ่ม” ในบัตร Loyalty Card ของเชนค้าปลีกนั้นๆ
Source : The Korea Times , CNN