เจาะลึกโครงการเด็กหายกับ ภูริต ภิรมย์ภักดี จากอินไซด์คนห่วงลูก พลิกสู่ไอเดีย เปลี่ยนฉลากน้ำดื่มสิงห์เป็นพื้นที่ตามหาเด็กหาย

  • 313
  •  
  •  
  •  
  •  

เราคงได้เห็นกระแสพูดถึงและชื่นชมบนโลกโซเชียลเกี่ยวกับไอเดียของ ‘สิงห์ คอร์เปอเรชั่น’ ที่ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ในการเปลี่ยนฉลากน้ำดื่มสิงห์เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการตามหาเด็กหายให้กลับมาสู่อ้อมกอดของพ่อแม่อีกครั้ง ซึ่งต้องบอกว่า เป็นไอเดียที่ทั้งครีเอทและเฉียบมากเลยทีเดียว

แล้วที่มาของไอเดียนี้ คืออะไร เราจะพาไปค้นหาคำตอบ

“ลูกผมเคยหายไป 5 นาทีตอนไปเที่ยวห้างด้วยกัน เหมือนหัวใจผมหายไปเลย แล้วพ่อแม่ที่ลูกหายไปนาน จะหนักแค่ไหน ทำให้ผมคิดว่า มีอะไรพอช่วยให้ลูกที่หายกลับมาเจอพ่อแม่อีกครั้ง ก็ยินดี ซึ่งมองว่า ฉลากน้ำสิงห์ น่าจะมีประโยชน์ในเรื่องนี้ จึงได้ทำโครงการ ‘คืนดวงใจให้แม่’ return heart to home ขึ้นมา”

ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของไอเดียนี้ เล่าถึงที่มาของไอเดียให้ฟัง

โดยโครงการดังกล่าว ทางสิงห์ได้จัดทำฉลากพิเศษ (Limited edition) นำภาพ , ข้อมูล และจุดสังเกตของเด็กที่หาย 5 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นเด็กที่หายไปก่อนจะอายุ 12 ปี และถือเป็นเคสที่ยากของมูลนิธิกระจกเงา คือ เป็นเด็กที่หายมานาน 6 ปี ไปจนถึง 17 ปี และปัจจุบันยังหาตัวไม่พบ มาพิมพ์ไว้บนฉลากน้ำดื่มสิงห์ ขนาด 750 มิลลิลิตร และ 600 มิลลิลิตร

เบื้องต้นได้ผลิตออกมาจำนวนกว่า 20 ล้านขวด ครอบคลุมช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งร้านค้าทั่วไป (Traditional Trade) ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั่วประเทศ โดยสินค้าดังกล่าว จะจำหน่ายตลอดเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนกันยายน

“เราใช้ความแข็งแกร่งของน้ำดื่มสิงห์ในการเป็นช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้าง  เพราะเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมถึงมีช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่ในประเทศไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ส่วนที่เลือกขนาด 750 มิลลิลิตร และ 600 มิลลิลิตร เพราะเป็นขนาดที่พกพาสะดวกและเป็นที่นิยมในการบริโภคเป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงจัดทำฉลากพิเศษบนน้ำดื่มสิงห์เท่านั้น โครงการ ‘คืนดวงใจให้แม่ return heart to home’ ยังได้มีการจัดทำคลิปวิดีโอนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของครอบครัว ‘น้องเท็น’ หรือ ด.ช. ชัยภาส ด่านเกื้อกูล หนึ่งใน 5 ของเด็กสูญหายที่ได้นำภาพมาเผยแพร่บนฉลากของน้ำดื่มสิงห์ ซึ่งน้องเท็นได้หายไปตั้งแต่อายุ 11 ปี จนปัจจุบันอายุ 24 ปี(ยังไม่พบตัว) มาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ

รวมไปถึงได้ใช้ ‘สื่อทุกช่องทางของบริษัทฯ’ ทั้งระบบ Intranet ให้พนักงานและบริษัทในเครือกว่า 50 บริษัท ตลอดจน พลังของตัวแทนจำหน่ายที่กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศในการช่วยกันประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่มีในมือ ไม่ว่าจะเป็น สื่อ Digital Signage , สื่อ LED , สื่อเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น และป้ายแบนเนอร์ ฯลฯ

เรียกได้ว่า พยายามผสมผสานทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ เพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเด็กหาย พร้อมกับทำให้สังคมเกิดการระมัดระวัง และป้องกันเด็กหายได้อีกทางหนึ่งด้วย  ซึ่งภูริต เจ้าของไอเดียโครงการ ‘คืนดวงใจให้แม่ return heart to home’  ย้ำว่า

หากหน่วยงานไหนหรือแบรนด์ใด ต้องการนำไอเดียนี้ไปใช้ เรายินดีและพร้อมสนับสนุนเต็มที่

“เด็กหาย ถือเป็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญ ทางสิงห์เองก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและตอบแทนสังคมในการนำหัวใจคืนกลับมาสู่ครอบครัว เพื่อมอบให้เป็นของขวัญแด่แม่เนื่องในวันแม่ปีนี้ แต่หากไอเดียนี้เวิร์ค อาจมีการขยายเวลาหรือต่อยอดสู่รูปแบบอื่น ๆ ตามมา

สำหรับข้อมูลของเด็กหาย 5 คนที่ถูกตีพิมพ์บนฉลากพิเศษน้ำดื่มสิงห์ครั้งนี้ ประกอบด้วย

  1. .ช.เดชาวัต ยาต่อ (น้องเจต)

อายุ ขณะที่หายไป 12 ปี

อายุ ปัจจุบัน 17 ปี

บริเวณหายไป จากบ้าน ที่ ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์

  1. ด.ช.นฤดล เยื้อนหนูวงศ์ (น้องโอ๊ต)

อายุ ขณะที่หายไป 8 ปี

อายุ ปัจจุบัน 25 ปี

บริเวณหายไป จากบ้านที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

ตำหนิ รอยแผลเป็นที่คิ้วขวา

  1. ด.ญ.จีรภัทร ทองชุม (น้องจีจี้)

อายุ ขณะที่หายไป 9 ปี

อายุ ปัจจุบัน 17 ปี

บริเวณหายไป บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งใน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

  1. ด.ญ.เบญรัตน์ วงษ์ประจันต์ (น้องพลอย)

อายุ ขณะที่หายไป 4 ปี

อายุ ปัจจุบัน 17 ปี

บริเวณหายไป บริเวณตลาดนัดคลองหลวง จ.ปทุมธานี

ตำหนิ แผลเป็นที่ใต้รักแร้ข้างซ้าย

  1. ด.ช.ชัยภาส ด้านเกื้อกูล (น้องเท็น)

อายุ ขณะที่หายไป 11 ปี

อายุ ปัจจุบัน 24 ปี

บริเวณหายไป จากบ้านที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

ตำหนิ ไฝที่ข้อมือซ้าย แผลเป็นที่หางคิ้วข้างขวา

ส่วนสถิติเด็กหาย อายุระหว่าง 0 – 18 ปี จากข้อมูล ‘มูลนิธิกระจกเงา’ พบว่า ปี 2559 มีจำนวน 418 คน พบแล้ว 387 คน (92.58 %), ปี 2560 จำนวน 403 คน พบแล้ว 365 คน (90%), ปี 2561 จำนวน 309 คน พบแล้ว 265 คน (85.76%) และปี 2562 (สถิติ ณ เดือน กรกฎาคม) มีจำนวน 153 คน พบแล้ว 124 คน (81.06%)


  • 313
  •  
  •  
  •  
  •