ในช่วงวันจักรีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวันระลึกถึงพระราชกรณียกิจล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ปฐมบรมวงศ์ราชจักรี ทรงขึ้นครองราชย์สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว
นอกจากนี้ในวันจักรีธนาคารแห่งประเทศไทยยังถือเอาฤกษ์เอาชัยเป็นวันแรกที่มีการใช้ธนบัตรรูปแบบใหม่แบบที่ 17 เพื่อเฉลิมฉลองในวันจักรี โดยธนบัตรรุ่นใหม่จะมี 3 ราคา แบบชนิดราคา 20 บาท, 50 บาทและ 100 บาท
สำหรับธนบัตรทั้ง 3 ราคา ด้านหน้าจะเป็นพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารอากาศ ขณะที่ด้านหลังจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี โดยธนบัตรมูลค่า 20 บาทจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ส่วนธนบัตรมูลค่า 50 บาทจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะที่ธนบัตรมูลค่า 100 บาทจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้เสนอแนะวิธีสังเกตธนบัตรรูปแบบใหม่ทั้ง 3 ราคา โดยมีจุดสังเกตพิเศษเพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถตรวจสอบว่าเป็นธนบัตรจริงหรือปลอม โดยแบ่งออกเป็น 8 จุดสำคัญ ประกอบไปด้วย ลวดลายเส้นนูน – โดยจุดสังเกตจะอยู่ที่ภาพตราประจำพระองค์ คำว่า “รัฐบาลไทย” และตัวอักษรแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสจะรู้สึกสะดุดด้วยปลายนิ้ว
แถบสี 3 มิติ – สำหรับแถบสีดังกล่าวจะถูกฝังอยู่ในเนื้อกระดาษที่ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ เมื่อปรับเปลี่ยนมุมมองแถบสีจะมีการเปลี่ยนสีและมูลค่าแต่ละธนบัตรเป็นภาพ 3 มิติ แถบสีดังกล่าวยังมีตัวเลขบอกชนิดราคาเมื่อยกส่องกับแสงสว่าง
ลายน้ำ – จะปรากฏพระสาทิสลักษณ์และตัวเลขตามชนิดราคาธนบัตร ที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ สามารถมองเห็นได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเมื่อส่องกับแสงสว่าง
ตัวเลขแฝง – ตัวเลขแฝงนี้จะเป็นตัวเลขแจ้งชนิดราคาของธนบัตรนั้น โดยซ่อนไว้ในลายประดิษฐ์ด้านล่างธนบัตร สามารถมองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง
ดอกไม้ลายนูนตำแหน่งอักษรเบรลล์ – สำหรับผู้พิการทางสายตาสามารถตรวจสอบธนบัตรได้ ด้วยรูปภาพดอกไม้ที่พิมพ์ให้มีลวดลายนูนแทนสัญลักษณ์การแจ้งราคาในรูปแบบของอักษรเบรลล์ สามารถใช้ปลายนิ้วสัมผัสได้
ภาพซ้อนทับ – บนธนบัตรตำแหน่งรูปครุฑพ่าห์ บริเวณมุมด้านบนจะต้องตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และจะต้องซ้อนทับกันสนิทเมื่อยกขึ้นส่องกับแสงสว่าง
หมึกพิมพ์พิเศษ – เฉพาะธนบัตรมูลค่า 100 บาท จะมีลายดอกประดิษฐ์พิเศษที่สามารถมองเห็นตัวเลขมูลค่าบัตร ด้วยการพลิกธนบัตรไปมา
ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง (Black Light) – สำหรับลักษณะพิเศษนี้ จะเป็นลายประดิษฐ์บริเวณตอนกลางธนบัตร โดยมีตัวเลขแยกชนิดราคาและหมวดเลขหมายที่สามารถเรืองแสงได้ เมื่อใช้รังสีเหนือม่วง (Black Light) จะปรากฏเส้นใยเรืองแสงสีเหลือง แดงและน้ำเงินในเนื้อกระดาษ
สำหรับผู้ที่ยังสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลธนบัตรได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สายออกบัตรธนาคาร โทร.1213 หรือที่ www.bot.co.th