พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเป็น พระมหากษัตริย์นักพัฒนาโดยแท้จริง ทรงเห็นคุณค่าจากสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีค่า ให้กลับมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ดั่งพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสความตอนหนึ่ง จากหนังสือคำพ่อสอน ในโครงการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วยความรักและความดี 60 ปี 60 ล้านความดีถวายในหลวง น้อมเกล้าถวายในหลวง
“…ข้อสำคัญเราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า…”
พระองค์ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่รอบตัวเราจนเกิดเป็นแนวคิดดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งทั้ง 4 ด้านพระองค์ทรงเห็นประโยชน์ในการนำทรัพยากรเหล่านี้มาสร้างเป็นพลังงาน ก่อนที่จะมีการส่งเสรอมสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทน
เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน
โดยใช้ประโยชน์จากดิน
ด้วยความที่พระองค์ทรงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดิน พระองค์จึงทรงทราบว่าดินช่วยให้เกิดการย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี พ.ศ.2538 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรอุทยานวิจัยในงานวันเกษตรแห่งชาติ พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ
โดยให้นำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ประเภทขยะสด ขยะเปียกที่ได้มาจากเศษอาหาร มารวมไว้ในหลุมที่มีการขุดดินไว้ ความร้อนในดินจะช่วยย่อยสลายขยะเหล่านั้นจนเกิดเป็นแก๊ส เมื่อใช้แก๊สจากขยะหมดแล้วก็นำขยะส่วนที่เป็นกากไปร่อนแยกส่วนประกอบต่างๆ ส่วนที่เป็นปุ๋ยให้นำไปปลูกพืช สวนที่เหลือนำไปอัดเป็นถ่านสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ เมื่อเผาถ่านหมดแล้วสามารถนำไปผสมกับวัสดุที่เหมาะสมเพื่ออัดเป็นแท่ง
เมื่อแก๊สจากหลุมแรก ก็สามารถใช้แก๊สจากหลุมที่ 2 ได้อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างที่ใช้แก๊สจากหลุมที่ 2 ก็เข้าสู่กระบวนการแยกขยะส่วนที่เป็นกากในหลุมที่ 1 ซึ่งหากมีการบริหารจัดการได้อย่างลงตัว จะสามารถใช้พลังงานแก๊สจากขยะได้อย่างไม่มีวันหมด
เขื่อนภูมิพล สัญลักษณ์รัชกาลที่ 9
พลังงานจากความแรงของน้ำ
แต่เดิมเขื่อนภูมิพลนั้นมีชื่อว่า “เขื่อนยันฮี” ซึ่งตั้งตามชื่อภูเขาที่นำมาสร้างเขื่อน โดยที่มาของเขื่อนนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหลังจากสงครามโลกยุติความต้องการใช้พลังงานก็เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีการสร้างเขื่อนในช่วงเวลานั้นสามารถสร้างขึ้นมา เพื่อใช้กับหน้าที่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเกษตร, เพื่อบรรเทาอุทกภัยหรือเพื่อพลังงาน เป็นต้น
ส่วนเขื่อนยันฮีถือเป็นเขื่อนขนาดใหญ่อเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 1,062 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง และในเวลาต่อมา รัฐบาลในสมัยนั้นได้ขอพระราชทานชื่อเขื่อนเพื่อเป็นสิริมงคล โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนาม “เขื่อนภูมิพล” รวมไปถึงการวางแนวทางพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำที่เขื่อนภูมิพลแห่งนี้ด้วย
กังหันลมในโครงการชั่งหัวมัน
ปล่อยให้เป็นไปตามแรงสายลม
หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริที่เรียกว่ามีคนรู้จักมากที่สุดโครงการหนึ่งคือโครงการ “ชั่งหัวมัน” ซึ่งเป็นผลมาจากพระอัจฉริยะภาพในการตั้งชื่อที่มีจุดเด่น สะดุดหูแต่มีความหมายที่ลึกซึ้ง โดยเป็นโครงการด้านการเกษตรทั้งการเพาะปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์
โดยโครงการชั่งหัวมันเป็นการปลูกพืชด้วยการปล่อยให้โตเองตามธรรมชาติขณะที่การเลี้ยงสัตว์ก็เช่นเดียวกัน นอกจากในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์และการเกษตรแล้ว โครงการชั่งหัวมันยังมีการสร้างแหล่งพลังงานทดแทนโดยใช้ลมเป็นพลังงานหลัก
สำหรับกังหันลมในโครงการชั่งหัวมันแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือกังหันลมเพื่อสูบน้ำและกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า จากพระราชดำริในการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานลมให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้มีเกิดทุ่งกังหันลมในพื้นที่โครงการฯ โดยกังหันลมแต่ละต้นจะมีกำลังการผลิตขนาด 50 กิโลวัตต์ ปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 20 ต้น พลังงานไฟฟ้าที่ได้สามารถนำไปใช้ในโครงการฯ ส่วนที่เหลือจากการใช้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการรับซื้อกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับโครงการฯ
โซล่าเซลล์แปลงพลังงานจากแสงแดด
พลังงานจากไฟในรูปของแสงอาทิตย์
ด้วยข้อจำกัดของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก โครงการที่เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโครงการขนาดเล็กที่อยู่ในโครงการพระราชดำริที่สำคัญหลายแห่ง โดยหน้าที่หลักของพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นการสร้างพลังงานเพื่อใช้กับอุปกรณ์ที่มีหน้าที่เฉพาะเช่น ระบบแสงสว่าง ระบบสูบน้ำ เป็นต้น
ซึ่งตัวอย่างโครงการที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อาทิ ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลจากการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ส่งผลให้สามารถสูบน้ำได้วันละประมาณ 45 ลูกบาศก์เมตร ลดการใช้กระแสไฟฟ้าหลักได้อย่างมหาศาล
ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านพลังงานโครงการที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเล็กๆจากภาพรวมการใช้พลังงานทดแทนตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดค้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล รวมถึงโครงการด้านพลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกหลายโครงการอันเกิดจากแนวพระราชดำริที่ยังอยู่ในขั้นของการทดลอง เช่น พลังงานจากคลื่นลมทะเล
เห็นได้ชัดว่าโครงการต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ สมควรแล้วที่ปวงชนชาวไทยจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้