CRG เปิดเกมบุกธุรกิจเชนอาหารที่มีมูลค่า 140,000 ล้านบาท ส่งแอปฯ ‘CRG 1312’ และ Online Virtual Stores ชิงตลาดเดลิเวอรี่ พร้อมงัดกลยุทธ์ Transform from Operator to Innovator เปลี่ยนบทบาทจากผู้บริหารแฟรนไชส์สู่การเป็นเจ้าของแบรนด์เอง
ด้วยเทรนด์ของผู้บริโภคที่ ‘อยากกิน ต้องได้กิน และได้กินแบบไม่ต้องไปต่อคิว หรือฝ่าการจราจรที่แสนจะติดขัด’ ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจเดลิเวอรี่ถือว่า บูมมาก ๆ จนเจ้าของเชนร้านอาหารต่าง ๆ สนใจและกระโดดเข้ามาในสมรภูมิของธุรกิจนี้ด้วย เช่น ไมเนอร์ ฟู้ดส์ ที่ส่งแอปฯ ‘1112 Delivery’ ให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารในเครือทั้งหมดที่มีอยู่ 7 แบรนด์ได้ภายในแอปฯเดียว
ล่าสุด บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ก็ได้ขอลงสนามด้วย กับการเปิดตัว ‘CRG 1312’ มาให้บริการในรูปแบบ Multi-brand Delivery ซึ่งนอกจากลูกค้าจะสั่งแบรนด์ร้านอาหารในเครือที่มี 11 แบรนด์ ได้ในครั้งเดียวและจ่ายค่าบริการจัดส่งเพียงครั้งเดียวแล้ว ยังสามารถจองร้านอาหารภายในเครือได้ด้วย
รวมถึงได้พัฒนาฟอร์แมทใหม่ที่เรียกว่า Online Virtual Stores รวมแบรนด์ร้านอาหารสไตล์สตรีทฟู้ดชื่อดังมารวมไว้บนแพลตฟอร์มนี้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างในตลาด โดยลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านแอปฯ‘CRG 1312’ ได้ คาดว่า จะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ของปี 2562
การบุกครั้งนี้ ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ CRG เชื่อว่า จะผลักดันรายได้ของเดลิเวอรี่ในปี 2561 จาก 600 ล้านบาท เพิ่มเป็นมากกว่า 1,000 ล้านบาทในปีนี้
“ตลาดเดลิเวอรี่กลุ่มอาหารโต 10-15% ต่อปีตามเทรนด์การบริโภคของกลุ่มลูกค้า ซึ่งเราเองจับมือกับพาร์ทเนอร์ระดับ Key Food Aggregator ทั้ง Grab Food, Line Man และ Food Panda รวมถึงเราเองก็มีแผนจะขยายพาร์ทเนอร์เพิ่มขึ้น เพื่อเจาะตลาดนี้ให้มากขึ้นด้วย”
ประกาศ Transform จาก ‘ผู้ซื้อแฟรนไชส์’ สู่ ‘คนปั้นแบรนด์เอง’
นอกจากบุกธุรกิจเดลิเวอรี่ที่เป็นเทรนด์แล้ว ทิศทางขยายธุรกิจของ CRG ต่อจากนี้ จะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ Transform from Operator to Innovator คือ นอกเหนือจากการเป็นผู้รับสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์แล้ว ยังเน้นพัฒนาแบรนด์ของตนเอง จากปัจจุบันมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือ 11 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง, โคล สโตน ครีมเมอรี่, เดอะ เทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ
เพราะ ณัฐ บอกว่า การเป็นเจ้าของแบรนด์เอง ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและลดข้อจำกัดในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการนำแบรนด์ขยายไปในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทาง CRG ต้องการไปให้ถึง
“แบรนด์ที่เรามีอยู่ตอนนี้ได้สิทธิ์เฉพาะในไทย แต่เราต้องการไปโดตในต่างประเทศด้วย เราถึงต้องการมีแบรนด์ของตัวเอง อีกอย่างเป้าหมายสุดท้ายของเรา หากแบรนด์ที่ทำเวิร์ค ก็คือ การขายแฟรนไชส์ ถ้าไม่เวิร์คก็เลิกไป”
ล่าสุด CRG ได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์ คือ อร่อยดี (Aroi Dee) เป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยตามสั่ง ราคาเริ่มต้นเพียง 59 บาท ตอนนี้เปิดแล้ว 3 สาขาที่สีลมซอย 32, ปั้ม ปตท. สายไหม และ ไทวัสดุ บางนา ซึ่งในปีนี้มีแผนขยายอย่างน้อย 10 สาขา
อีกแบรนด์ ได้แก่ สุกี้เฮาส์ (Suki House) เป็นแบรนด์ที่ต้องการสร้างความแตกต่างในตลาดร้านสุกี้ เน้นบรรยากาศความสนุกสนานให้กลุ่มลูกค้า เพื่อฉีกแนวการกินสุกี้แบบเดิมๆ โดยจะประเดิมสาขาแรกที่เกตเวย์ บางซื่อ ในเดือนเมษายนนี้
นอกจากนี้ มีแผนจะเปิดแบรนด์ใหม่อย่างน้อย 2-3 แบรนด์ ทั้งรูปแบบการควบรวมกิจการ หรือ M&A และการหาพาร์ทเนอร์รายย่อย เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาร่วมกันสร้างกิจการร้านอาหารแนวใหม่ๆ
CRG ตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2562 จะเติบโตทั้งรายได้และกำไร มากกว่า 12% จากปี 2561 ที่มีอัตราการเติบโตของรายได้ประมาณ 10% และตั้งเป้าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 9% ของตลาดเซกเมนต์ร้านอาหารเครือข่ายหรือ Food Chain ที่มีมูลค่ามากกว่า 140,000 ล้านบาท