องค์กรไทยยังเสี่ยงภัยโจรไซเบอร์ ปี ’60 เสียหาย 23,000 ล้านบาท BSA ยันซอฟต์แวร์แท้ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ

  • 37
  •  
  •  
  •  
  •  

shutterstock_1070075042

เป็นเรื่องที่เห็นกันจนชินตา สำหรับนโยบายและโครงการสนับสนุนให้ใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์ ทั้งในกลุ่มคอนซูเมอร์และคอร์ปอเรท เช่นเดียวกับที่ BSA หรือพันธมิตรซอฟต์แวร์ ออกมารณรงค์และอัพเดทความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากการใช้งานซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอยู่เป็นประจำ และแม้ว่าแนวโน้มในเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทยจะดีขึ้น แต่ปัจจุบัน ตัวเลขการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอยู่ดี

โดยปี 2560 ประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ 66% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 23,000 ล้านบาท แม้จะเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 69% แต่อัตราเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็อยู่ที่ 57% เท่านั้น

คุณวารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย BSA เล่าว่า ตัวเลขในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ 100 เครื่อง จะมีการติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อน 66 เครื่อง แม้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกรวมทั้งในไทยจะลดลง ทั้งจากภาวะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหดตัวลง การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเข้มงวด หรือการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้จากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เมื่อสัดส่วนยังมากกว่าอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็สะท้อนถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังต่อไป ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

“ไม่เพียงแต่องค์กรธุรกิจ ภาครัฐก็ถือเป็นผู้ใช้งานซอฟต์แวร์รายใหญ่ หากหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกต้องและครบถ้วนก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ภาคเอกชนและประชาชนโดยทั่วไป ที่สำคัญคือการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีไลเซ่นส์ถือเป็นพื้นฐานในการป้องกันภัยไซเบอร์ เพราะซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ่นส์จะเกิดความเสี่ยงต่อการติดมัลแวร์ และการถูกจู่โจมจากอาชญากรไซเบอร์ ในฐานะที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ควบคุมข้อมูลสำคัญโดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน จึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่มีไลเซ่นส์ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการบริหารจัดการสินทรัพย์เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐานด้วย”

shutterstock_1050436496

ภาคธุรกิจไทยต้องตระหนักความปลอดภัยข้อมูล

อย่างที่บอกไปแล้วว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทยลดลงจากหลายๆ ปัจจัย แต่เหตุการณ์สำคัญคือกรณีมัลแวร์เรียกค่าไถ่ระดับโลกอย่าง Wannacry ที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน ทำให้องค์กรธุรกิจเห็นความสำคัญของการใช้ซอฟต์แวร์แท้ และมีซอฟต์แวร์เสริมความปลอดภัยให้คอมพิวเตอร์และเครือข่าย เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีทางออนไลน์

ทั่วโลกมีแนวโน้มลดใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

คุณดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก BSA อธิบายเพิ่มเติมว่า BSA ร่วมกับ IDC บริษัทวิจัยระดับโลก เพื่อสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลก โดยครั้งล่าสุดได้ทำการสำรวจใน 110 ประเทศทั่วโลก และพบว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์ หรือการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในปี 2560 อยู่ที่ 37% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1.48 ล้านล้านบาท จาก 39% ในปี 2558 ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 57% ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 526,048 ล้านบาท ลดลงจาก 61% ในปี 2558

สำหรับการสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจำปี 2560 BSA ใช้วิธีคำนวณจำนวนและมูลค่าของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใน 110 ประเทศทั่วโลก และมีการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ใช้ซอฟต์แวร์ พนักงานบริษัท และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร เกือบ 23,000 คน จากผลการสำรวจและบทวิเคราะห์ พบว่าผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หากองค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายขององค์กรมีโอกาสถูกจู่โจมจากผู้ประสงค์ร้าย นำมาซึ่งความเสียหายอื่นๆ เช่น สูญเสียข้อมูลสำคัญขององค์กร

เสียงบประมาณมหาศาลทุกปี! เพื่อแก้ปัญหามัลแวร์

IDC ประเมินว่าองค์กรทั่วโลกอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 11.5 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหามัลแวร์ที่มาพร้อมกับการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ IDC ยังคาดการณ์ว่า บริษัทที่มีขั้นตอนการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการซอฟต์แวร์ที่ชัดเจน อาจสามารถเพิ่มผลกำไรได้ถึง 11% เนื่องจากการบริหารจัดการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถลดต้นทุนการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี และองค์กรยังสามารถประหยัดงบประมาณด้านซอฟต์แวร์ได้ถึง 30% ต่อปีอีกด้วย

 


  • 37
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน