น่าจะมีหลายๆ คนที่คิดว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ยังไงๆ ก็ยังขายได้ หรือได้รับผลกระทบน้อย จากการแพร่ระบาดของ Coronavirus ด้วยความว่าจัดอยู่ในกลุ่ม FMCG หรือ สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว-ขายคล่องตัว
อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากผลประกอบการของ Coca-Cola ในไตรมาสที่ 1/2020 ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา อาจต้องกลับมาคิดใหม่ โดยเฉพาะยอดขายที่มาจาก ‘การดื่มนอกบ้าน’ ซึ่งคิดเป็นรายได้ถึงครึ่งหนึ่งของบริษัททีเดียว โดยในรายงานระบุว่า รายได้รวมทั่วโลกของไตรมาสที่ 1 ‘ยังทรงตัว’ ลดลงราว 1% เมื่อเทียบปีต่อปี แต่มีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่องไปสู่ ไตรมาสที่ 2/2020
โดยนับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยอดขาย Coca-Cola เริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นอีก โดยร่วงลงถึง 25% เอฟเฟ็กต์จากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายๆ ประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการหยุดให้บริการของร้านอาหาร, โรงภาพยนตร์, เที่ยวบินหยุดให้บริการ หรือแม้แต่ การจำกัดเวลาเข้า-ออกบ้าน, การเคอร์ฟิว มาตรการต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีนัยยะสำคัญต่อยอดขายสินค้าทั้งหมด
ทั้งนี้ James Quincey ซีอีโอ ของ Coca-Cola กล่าวว่า ด้วยความที่เราไม่สามารถประเมินผลกระทบแบบเต็มรูปแบบได้ จากไวรัส COVID-19 เพียงแต่ตอนนี้เรารู้ว่ามันเป็นผลกระทบ ‘ชั่วคราว’ และเป็นผลกระทบอย่าง ‘ลึกซึ้ง’ ต่อรายได้บริษัท ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าในหลายๆ ชุมชนของเรากำลังแน่นิ่ง มีการเคลื่อนไหวที่ช้าลง
ดังนั้น สิ่งที่บริษัทจะทำในระยะแรก ก็คือ การพิจารณาเรื่อง Return on Investment (ROI) หรือ การวัดผลตอบแทนจากการลงทุน
พูดง่ายๆ ก็คือ เราจะตัดสินใจดึงงบประมาณสำหรับ ‘ด้านการตลาด’ กลับมาก่อน จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในส่วนนี้ เพราะตลาดยังไม่มีการเคลื่อนไหว, ไม่มีการทำการตลาด, ไม่มีการออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นการตลาด เป็นต้น
“การสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าของเรา ผ่านแคมเปญต่างๆ จะเกิดขึ้นอีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม” James Quincey อธิบายเพิ่ม
ขณะที่ John Murphy ซีเอฟโอ Coca-Cola กล่าวเสริมว่า แนวทางการตลาดของ Coca-Cola อาจจะตรงกันข้ามกับบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่ม FMCG ด้วยกัน ที่เน้นการลงทุนด้านการตลาดอย่างต่อเนื่องในเวลานี้ อย่างบริษัท Procter and Gamble ที่ยังลงทุนในด้านการตลาดอยู่เพราะมองว่าช่วงนี้สัดส่วนของดีมานด์พุ่งขึ้น ส่วน Birds Eye บริษัทอาหารแช่แข็ง ก็ยังลงทุนกับการโฆษณาอยู่อย่างต่อเนื่อง
แต่สำหรับเรา Coca-Cola มองว่า งบประมาณบางส่วนที่เราแช่แข็งไว้ (การตลาด) เรานำไปเพิ่มเพื่อปรับปรุง ‘ระบบดิจิทัล’ เพิ่มการให้บริการที่ดึงดูดลูกค้ามากขึ้น เช่น กระตุ้นยอดขายทางอีคอมเมิร์ซใน(บาง) ตลาด เป็น 2 เท่าตัว
จากการสังเกตการณ์ความต้องการของร้านค้าในช่องทางออนไลน์ที่ต้องการสต็อกสินค้ามากขึ้นในเดือน มี.ค. ขณะที่บางตลาด เช่น ในเอเชีย และสหรัฐอเมริกา Coca-Cola ได้เพิ่มการให้บริการขนส่งไปยังร้านค้าต่างๆ มากขึ้น ตลอดทั้งวัน
ที่มา : marketingweek