ถอดบทเรียนจริง CP ใน ‘อู่ฮั่น’ สู่ ‘ไทย’ กับการพลิกตำราเมื่อต้องสู้กับภัย COVID-19

  • 350
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เปิดกรณีศึกษาจากบทเรียนและประสบการณ์จริงของซีพีในประเทศจีน ที่ถ่ายทอดสู่ประเทศไทย ในการเตรียมพร้อมสู้ เมื่อต้องเผชิญกับภัยการระบาดของไวรัส COVID-19

หากย้อนกลับไป นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ถือเป็นพื้นที่ระบาดของไวรัส COVID-19 รุนแรงที่สุดในประเทศจีน กระทั่งต้องใช้มาตรการปิดเมืองห้ามประชาชนเดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งหลังจากปิดเมืองนานกว่า 2 เดือน ขณะนี้สถานการณ์ของนครอู่ฮั่นค่อย ๆ กลับฟื้นคืนสภาพปกติ และเตรียมประกาศเปิดเมืองในวันที่ 8 เมษายน 2563 พวกเขาเจออะไรมาบ้าง พวกเขาเรียนรู้อะไรมาบ้าง ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย

หลังจากอู่ฮั่นมีการประกาศปิดเมืองวันที่ 24 มกราคม 2563 ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นวันที่ 31 มกราคม ทางซีพีที่อู่ฮั่นจึงมีการประกาศให้พนักงานกลับมาผลิตและทำงานในโรงงานได้ และต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โรงงานแปรรูปอาหารของซีพีในอู่ฮั่นก็สามารถเดินเครื่องกลับมาผลิตได้ ขณะที่ฟาร์มปศุสัตว์ไม่มีการหยุดปฏิบัติงาน โดยมีการประกาศอนุญาตให้พนักงานซีพีสามารถเข้ามาทำงานในโรงงานผลิตอาหารได้

ถอดโมเดลฝ่าวิกฤตโควิด-19 ที่อู่ฮั่น

ในระหว่างช่วงเวลาแห่งความยากลำบากอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า 3 ปิด คือ ปิดเมือง ปิดถนน และปิดชุมชน ซึ่งในจังหวะวิกฤตนั้น สิ่งที่ซีพีประเทศจีนแบ่งปันประสบการณ์มา ก็คือ

เรื่องที่หนึ่ง  พนักงานทุกคนต้องแจ้งสถานะสุขภาพตัวเองทุกวัน

ซีพีประเทศจีนประกาศนโยบายทันทีว่า พนักงานทุกคนต้องแจ้งสถานะสุขภาพตัวเองทุกวัน เพราะหากวัดผลไม่ได้ ก็ไม่มีทางควบคุมได้ สิ่งนี้คือขั้นตอนแรก ที่ต้องโปร่งใส มีข้อมูลในมือ รายงานทุกวัน จึงจะบริหารจัดการได้ หากมีอาการก็ต้องตรวจวัด ไม่ให้ไปเจือปนในกระบวนการผลิตเด็ดขาด ทุกขั้นตอนมีการตรวจสอบ ทำให้ผู้บริหารเห็นข้อมูลทุกวัน รู้ว่าผลิตเมื่อไหร่ แจกจ่ายไปที่ไหน มีรถกี่คัน วิ่งไปไหนบ้าง ติดตามได้ตลอด ทำให้ระบบโซนนิ่งมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่ 2 ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า อาหารเพียงพอแม้ปิดเมือง

การที่เอกชนกับรัฐผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า อาหารเพียงพอในสภาวะปิดเมืองนั้น จะทำให้ประชาชนไม่เกิดการโกลาหล ดังนั้นเครือซีพีซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติในจีนที่จดทะเบียนการค้าหมายเลข 001 มีธุรกิจในจีนโดยเฉพาะธุรกิจด้านอาหาร ได้ร่วมผนึกกำลังกับภาครัฐ และหน่วยงานในท้องถิ่นของนครอู่ฮั่นร่วมฝ่าวิกฤต COVID-19 สร้างความมั่นใจว่า ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ทุกคนจะต้องมีอาหารรับประทานอย่างไม่ขาดแคลนเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดยุค 4.0 ที่แพร่ไปทั่วโลก

โดยกำลังการผลิตอาหารต่อวันในอู่ฮั่นของซีพี คือ หมู 260,000 กิโลกรัม ไก่ 300,000 กิโลกรัม ไข่ 2.5 ล้านฟอง และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน 500,000 ชุด สามารถผลิตได้ตรงตามเป้าหมาย จากนั้นวางระบบศูนย์กระจายและขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สร้างมาตรฐานจัดและแพคสินค้าได้

รวมทั้งระบบขนส่งครอบคลุม การแต่งกายและการดูแลขนส่งได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันวางระบบกระจายสินค้าตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งภายในอู่ฮั่นมีการแบ่งเขตชัดเจนโดยให้พนักงานขนส่งไปส่งตามจุดที่กำหนดไว้ และมีตัวแทนเขตหรืออาสาสมัครนำสินค้าไปส่งต่อให้กับประชาชนในเขตที่กำหนด ซึ่งร้านสะดวกซื้อ CP Freshmart ในจีนได้มีการวางระบบการส่งถึงบ้านอย่างรัดกุม

จากประสบการณ์การดำเนินการของซีพีในอู่ฮั่น ซึ่งได้ผ่านช่วงเวลาที่เข้มข้นมาก ซีพีได้ร่วมผนึกกำลังกับหน่วยงานต่าง ๆ ในอู่ฮั่นจนสามารถฝ่าฟันวิกฤต COVID-19 ได้อย่างลุล่วง ผ่านการบริหารจัดการและมาตรฐานที่เข้มข้นและเข้มงวดที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ เพื่อการผลิตอาหารที่เพียงพอในระยะยาว และมีคุณภาพในทุก Supply Chain ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

เรื่องที่ 3 : สังคมปลอดเงินสด ลดการสัมผัส (Cashless)

คนจีนยุคนี้ไม่จับเงินสด ใช้จ่ายออนไลน์เป็นนิสัย ทำให้ลดการติดเชื้อได้อย่างมาก และยังมีการสั่งของออนไลน์เป็นเรื่องปกติ โดยมาตรการต่างๆ ที่ซีพีในอู่ฮั่นได้ดำเนินการนั้น คือการออกแบบระบบส่งถึงบ้าน (Delivery) ซึ่ง CP Freshmart ในจีนส่งทั้งของสด อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ถึงบ้าน

เรื่องที่ 4 : พนักงานต้องปลอดภัย

เมื่อพนักงานปลอดภัย ลูกค้าจึงจะปลอดภัย ทำให้ซีพีจีนลงทุนอย่างมากเรื่องถุงมือยาง ชุดคลุมทั้งตัว แว่นตาแบบครอบ ซึ่งระบบเข้าโรงงานเป็นระบบปิดฆ่าเชื้อ การขนส่งมีการตรวจสอบย้อนกลับทุกขั้นตอน และทำความสะอาด ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมบันทึกไว้ทุกขั้นตอน ซึ่งโรงงานอาหารสัตว์มักคุ้นเคยกับขั้นตอนปลอดเชื้อเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

เรื่องที่ 5 : การขนส่งต้องมีใบอนุญาต

เมื่ออู่ฮั่นปิดการจราจร การขนส่งอาหารจำเป็นต้องดำเนินต่อไป ในช่วงสัปดาห์แรกหลังปิดเมือง ประเทศจีนเริ่มมีนโยบายออกใบอนุญาตให้รถขนส่งอาหารวิ่งได้ สัปดาห์ต่อมารถขนส่งวัตถุดิบต้นน้ำวิ่งได้และตามด้วยการออกใบอนุญาตให้มีการขนส่งปลายน้ำให้จนถึงบ้านประชาชนทำให้สอดคล้องกับระบบ Zoning ว่าส่งได้ถึงไหน ตามระดับความเข้มข้น การส่งอาหารปลอดภัย ถึงทุกบ้านผ่านอาสาสมัครประจำหมู่บ้านเป็นหัวใจสำคัญ

การดำเนินการเหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐของจีนและซีพีในอู่ฮั่น ซึ่งซีพีได้มีการขออนุมัติในประเด็นหลัก ประกอบด้วย การขออนุมัติเคลื่อนย้ายพนักงาน การขออนุมัติเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ จนถึงได้รับใบอนุญาตส่งสินค้าข้ามเขต เพื่อให้สามารถนำอาหารจากโรงงานผลิตไปสู่ประชาชนชาวจีนได้ รวมถึงสามารถส่งอาหารสัตว์ป้อนฟาร์มปศุสัตว์ต่าง ๆ ได้

เรื่องที่ 6 ชุมชนต้องเข้มแข็งเชื่อมโยง

การ“กระจายสินค้า” จากโรงงานเพื่อส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ใช้รูปแบบรวบรวมอาสาสมัครในแต่ละเขตพื้นที่และชุมชนทั่วนครอู่ฮั่นจำนวน 11,000 คน มาช่วยในการกระจายสินค้า โดยอาสาสมัครจะมารับสินค้าจากจุดหลักในการกระจายสินค้าและนำไปส่งต่อให้แก่พี่น้องในชุมชน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านั้นจะรับใบสั่งซื้อหรือ Order ในวันถัดมากลับมาด้วย ซึ่งนอกจากซีพีในอู่ฮั่นจะดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของอู่ฮั่นในการจัดส่งอาหารให้ถึงมือประชาชนแล้ว ยังร่วมส่งอาหารให้อาสาสมัครด้วย

เรื่องที่ 7 : คนปลอดภัย อาหารปลอดภัย

หนึ่งในหัวใจสำคัญของ 3 สูตรสำเร็จในการฝ่าวิกฤต COVID-19 ในอู่ฮั่น เมืองที่มีทั้งการปิดเมือง ปิดถนน และปิดชุมชน คือ เรื่องของ “คน” เพราะเมื่อคนปลอดภัย อาหารก็จะปลอดภัย ซึ่งซีพีในอู่ฮั่นได้ประกาศนโยบายและแผนงานป้องกันการแพร่ระบาดทันทีว่า พนักงานทุกคนต้อง “แจ้งสถานะสุขภาพตัวเองทุกวัน” โดยมาตรการการดูแลพนักงานทุกคนต้องยึดหลัก “ปลอดภัย” เป็นอันดับแรก เพราะเมื่อพนักงานปลอดภัยสินค้าก็จะปลอดภัย

โดยพนักงานที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานยังต้องผ่านมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น เริ่มตั้งแต่การคัดกรองผ่านการวัดอุณหภูมิร่างกายทุกคนก่อนเข้าโรงงาน พนักงานต้องได้รับการประเมินประวัติเสี่ยง โดยการทำแบบคัดกรองของบริษัท เมื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานจะต้องใส่ชุดป้องกันที่รัดกุม ทำความสะอาด 3 ครั้งต่อวันในพื้นที่ปฏิบัติงาน และพนักงานต้องไม่สัมผัสวัตถุดิบ อาหาร และสินค้าก่อนถึงปลายทาง หรือที่เรียกว่า “อาหารแยกคน”

นอกจากนี้พนักงานจะต้องมีการแต่งชุดอุปกรณ์ในการป้องกันโรค ประกอบด้วย แว่นตาแบบครอบ หน้ากากอนามัย ถุงมือยาว แอลกอฮอล์ 70% สารฆ่าเชื้อ เครื่องพ่นสารฆ่าเชื้อ ส่วนบรรดาอาสาสมัครในอู่ฮั่นนั้น นอกจากมีการจัดชุดอุปกรณ์ป้องกันโรคให้สวมใส่ทุกคนแล้ว ขั้นตอนการจัดส่งจะต้องให้อาสาสมัครประจำหมู่บ้านทุกคนใส่หน้ากากอนามัย และส่งมอบสินค้าในจุดปลอดภัย

ทั้งหมดนี้คือ บทเรียนจากอู่ฮั่น ซึ่งซีพีจีนได้ถ่ายทอดมายังซีพีประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางและมาตรการสำคัญที่ซีพีจะนำมาใช้ร่วมฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 กับรัฐบาลและคนไทยทั้งชาติ เพื่อจะรับประกันได้ว่า อาหารในประเทศจะไม่ขาดแคลนและส่งถึงมือคนไทยด้วยความปลอดภัยในช่วงวิกฤต

 

ที่มา : WE ARE CP


  • 350
  •  
  •  
  •  
  •