ก่อนหน้านี้เราคงได้ยินกันอยู่บ่อยๆ กับคำว่า “Thailand 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่มุ่งหวังเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือเข้าใจง่ายๆ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี
ดูเหมือนภาครัฐกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมาก เห็นได้จากการบูรณาการให้หน่วยงานรัฐสามารถเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้เครือข่ายเดียวกัน นอกจากนี้ภาครัฐยังเห็นอนาคตของเทคโนโลยีที่จะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน จึงเปิดตัวระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่จะสามารถเข้าถึงระบบ FinTech ของทุกคน
Uber เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถโดยสารที่ให้บริการทั่วกรุงเทพซึ่ง Uber ถึงกำเนิดขึ้นมาจากปัญหาการเรียกรถแท็กซี่ในต่างประเทศที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ Uber จึงหันมาให้บริการด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยลดปัญหาความยุ่งยากในการเรียกแท็กซี่ และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้เสริมของคนทั่วไป
แต่เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทย Uber ก็ต้องประสบกับปัญหาเรื่องกฎระเบียบของรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยกฎระเบียบการจะนำรถยนต์มาเป็นรถแท็กซี่ได้นั้น มีเนื้อหาคร่าวๆ ว่า ต้องเป็นรถใหม่ หรือใช้งานไม่เกิน 2 ปี ซึ่งต้องใช้งานไม่เกิน 20,000 กม. เครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 1,500 ซีซี ต้องมีสีตามที่กรมขนส่งกำหนด ห้ามติดฟิล์มดำและระบบเซ็นทรัลล็อก ต้องมาตรบอกราคาค่าโดยสาร ต้องมีเครื่องหมายเป็นอักษรโรมัน “TAXI-METER” และต้องมีป้ายไฟ “ว่าง” รวมถึงป้ายแสดงใบขับขี่รถยนต์สาธารณะให้เห็นชัด และทะเบียนรถต้องเป็นป้ายพื้นสีเหลืองตัวอักษรสีดำ
ซึ่งกรมขนส่งย้ำชัดว่า กฎระเบียบการจะนำรถยนต์มาเป็นรถแท็กซี่ ต้องทำตามระเบียบนอกเหนือจากนี้ไม่ถือว่าเป็นรถรับจ้างสาธารณะ และหากดำเนินการรับจ้างพาไปส่งในที่ต่างๆ ถือว่าเป็นรถรับจ้างสาธารณะเถื่อน ตามที่ พระราชบัญญัติรถยนต์ ปีพ.ศ.2522 ในมาตรา 22 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถยนต์อื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจําทางรับจ้างรับคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางในทางที่ได้รับอนุญาตให้มีรถยนต์โดยสารประจําทางหรือในเขตจากทางนั้นไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
หากมองในแง่กฎหมายแล้ว กฎหมายได้วางไว้เพื่อปกป้องผู้โดยสารกรณีที่มีผู้นำรถยนต์อื่นที่ไม่ใช่รถแท็กซี่มารับจ้างจนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งหน่วยงานรัฐจะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ขณะที่กรณีที่เป็นรถแท็กซี่หากมีการร้องรียนก็จะสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ รวมไปถึงการดำเนินการบทลงโทษเป็นรายๆ และรวมถึงการขึ้นบัญชีดำทั้งของกรมขนส่งและเข้าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่มุมมองของ Uber มองในส่วนของประชาชนผู้ใช้รถสาธารณะที่ปัจจุบันไม่ได้ประสบปัญหารถแท็กซี่ไม่เพียงำอต่อความต้องการ แต่ประสบปัญหาในเรื่องของการให้บริการ ไม่ว่าจะเป้นเรื่องการเรียกแล้วไม่ไป ติดส่งรถ ติดเติมแก๊ส เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ใช้เบื่อกับการเรียกรถแท็กซี่ยังไม่รวมไปถึงมารยาทของผู้ขับอีกด้วย ระบบของ Uber จึงเป็นลักษณะการจับคู่ (Matching) หรือเป็นบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing)
แต่เหมือนผลกระทบจากความนิยมของ Uber กำลังสั่นคลอนระบบแท็กซี่ในเมืองไทย ร้อนถึงหน่วยงานรัฐอย่างกรมขนส่งที่ต้องออกโรงมาแก้ปัญหา เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเปิดขึ้นทะเบียนผู้ขับขี่รถแท็กซี่ โดยยืนยันว่าผู้ที่ขึ้นทะเบียนผู้ขับรถแท็กซี่เท่านั้นจึงมีสิทธิ์ขับรถรับจ้างสาธารณะ ซึ่งการดำเนินธุรกิจของ Uber จึงเป็นการหักคำมั่นสัญญาของหน่วยงานรัฐที่มีให้ก่อนหน้านี้
โดยกรมขนส่งก็เริ่มเดินเกมรุก ด้วยการจัดหน้าม้าใช้ระบบ Uber ในการเรียกให้ไปส่งยังจุดหมายปลายทาง แต่เมื่อไปถึงก็ถูกจับกุมจำนวน 18 ราย ด้วยความผิด พรบ.รถยนต์ มาตรา 22 โดยต้องเสียค่าปรับเต็มเพดานคือรายละ 2,000 บาท ถึงขนาดที่ Uber ยืนยันสามารถดำเนินการได้ พร้อมให้ผู้ขับขี่ของ Uber ดำเนินการได้ตามเดิม โดยค่าปรับ Uber พร้อมชำระให้
ด้าน นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า “กรมฯ เตรียมเสนอขอใช้ ม.44 เพื่อปิดแอปพลิเคชันเหล่านี้ที่ทำลายระบบขนส่งสาธารณะของไทย โดยต้องทำให้คนไทยรู้ว่าการใช้บริการ UBER เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะได้รับความคุ้มครองน้อยกว่ารถแท็กซี่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุงการบริการของแท็กซี่ให้น่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ใช้โดยกรมฯ กำลังเตรียมศึกษารูปแบบการทำแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถแท็กซี่ เพื่อความสะดวกสบายในการเรียกรถแท็กซี่ ลดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร”
พร้อมกันนี้ ผู้บริหารของ Uber ยังชี้แจงว่าอย่างเป็นทางการว่า “ตั้งแต่ Uber เปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2557 Uber ได้เข้าหารือและชี้แจ้งกับกรมการขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่องตลอดมาว่า Uber ไม่ใช่บริการรถแท็กซี่ แต่เป็นรูปแบบบริการใหม่ที่เรียกว่าบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้รองรับการให้บริการรูปแบบนี้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน และมีความแตกต่างจากการให้บริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้เราไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะได้ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรมการขนส่งทางบกจะรองรับการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเดินทางที่เป็นรูปแบบบริการร่วมเดินทาง”
และเพื่อสร้างกฎระเบียบใหม่ ที่จะกลายเป็นอีกทางเลือกใหม่ด้านการเดินทางที่เชื่อถือได้และอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทย Uber ขอเชิญชวนสาธารณชนร่วมสนับสนุน การร่วมเดินทาง ผ่านการเรียกร้องเเละลงชื่อสนับสนุน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศที่เปิดรับนวัตกรรม ได้ที่ https://action.uber.org/th/
ผลสรุปครั้งนี้ยากเกินกว่าแค่การเจรจา เพราะนั่นหมายความว่าต้องเข้าไปแก้ไขที่ตัวกฎหมาย นั่นคือต้องนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อนำปัญหานี้เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้กฎหมาย แต่ยังไม่เท่ากับภาพลักษณ์ที่ต้องการให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แต่ภาครัฐกลับปฏิเสธเทคโนโลยี
Copyright © MarketingOops.com