ตามติด 3 องค์กรใหญ่ ‘ซีพี-บุญรอดฯ-เซ็นทรัล’ กับภารกิจ ‘ทีมไทยแลนด์’ ช่วยชาติฝ่าวิกฤต ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว

  • 945
  •  
  •  
  •  
  •  

ที่ผ่านมาเราได้เห็นหลายองค์กรจากหลากหลายธุรกิจที่ได้ออกมาแสดงพลังให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้สร้างผลกระทบรุนแรงและเกิดขึ้นในวงกว้าง

โดยเฉพาะองค์กรระดับแถวหน้าของไทย ที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งจดหมายโดยตรงให้เข้าร่วม ‘ทีมไทยแลนด์’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพาประเทศฝ่าวิกฤตใหญ่ครั้งนี้ไปให้ได้

ดังนั้น วันนี้เราได้ตามติดภารกิจขององค์กรชั้นนำเหล่านั้นว่า ตามที่เคยได้ออกข่าวจนถึงปัจจุบัน ได้ลงมือดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ด้วยการหยิบมานำเสนอเป็นตัวอย่าง 3 องค์กร นั่นคือ ‘บุญรอดบริวเวอรี่’, ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ หรือ ‘ซีพี’ และ ‘เครือเซ็นทรัล’ ซึ่งทั้ง 3 องค์กรมีโครงการที่โดดเด่น มีความชัดเจน และไม่ได้เพียงช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันเท่านั้น ยังมองไปถึงการสร้างความแกร่งและการเติบโตให้กับประเทศไทยในระยะยาวด้วย

บุญรอดบริวเวอรี่

อีกหนึ่งองค์กรชั้นนำของไทยที่เข้ามาเป็นอีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อพาประเทศฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าสนใจ ก็คือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มอบเงินให้กับโรงพยาบาลหลักทั่วประเทศที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากเงินบริจาคแล้ว ยังได้สนับสนุนอาหารและน้ำดื่มสิงห์ รวมถึงได้จัดทำโครงการช่วยเหลือปัญหาปากท้องผ่านโครงการ สิงห์อาสา ทั่วประเทศ ซึ่งช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้เครือข่ายที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค เปิดอบรมทักษะวิชาชีพให้ประชาชน เพื่อสร้างเงิน สร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ลงมือทำทันทีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และวางแผนจะจัดต่อเนื่องในอนาคต โดยรวมคิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

การช่วยเหลือผ่านโครงการ ‘สิงห์อาสา’ นั้น จะเป็นการจ้างงานผ่านรูปแบบการเป็นอาสาสมัครร่วมกันดูแลชุมชนและพื้นที่ของตัวเอง ดำเนินภายใต้ 3 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ ‘สิงห์อาสาสู้ไฟป่า’ , ‘สิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง’ และ ‘สิงห์อาสาสู้น้ำท่วม’ โดยจิตอาสาที่เข้าร่วมในแต่ละโครงการจะได้รับเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการอาหาร

สำหรับ สิงห์อาสาสู้ไฟป่า เป็นโครงการที่ดำเนินการคลอบคลุม 10 จังหวัด ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ด้วยการนำชาวบ้านมาเข้ารับการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครป้องกันไฟป่า เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันไฟป่าและสามารถดับไฟป่าในพื้นที่ได้อย่างถูกวิธี เริ่มแห่งแรกที่จังหวัดเชียงราย

สิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง เป็นการจ้างงานคนในท้องถิ่นร่วมเป็นอาสาสมัครจัดจุดบริการน้ำ , ติดตั้งแทงค์น้ำดื่มขนาดใหญ่ในที่ชุมชน รวมถึงร่วมกันขุดบ่อน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรและใช้ในครัวเรือนภายในชุมชน พร้อมกับแจกจ่ายน้ำดื่มให้กับประชาชนในหมู่บ้าน ซึ่งโครงการนี้จะคลอบคลุม 20 จังหวัดในภาคอีสาน เริ่มดำเนินที่แรก ณ บ้านโนนสวรรค์ใหม่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

สิงห์อาสาป้องกันน้ำท่วม เป็นโครงการสร้างงานและเม็ดเงินให้กับชาวบ้านในชุมชน ด้วยการร่วมกันกำจัดผักตบชวาไม่ให้เป็นวัชพืชกีดขวางทางน้ำไหลในคูคลอง จนเป็นต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วม และผักตบทั้งหมดที่ลอกขึ้นมาทางเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ จะส่งมอบให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จักสานจัดจำหน่าย ขณะที่บางส่วนจะนำไปทำเป็นปุ๋ยต่อไป โดยโครงการนี้ จะดำเนินการคลอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดภาคกลางที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมในแต่ละปี และเริ่มทำไปแล้วในพื้นที่คลองพระยาบันลือ  หมู่บ้านหนองปลาหมอ ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และคูคลองต่าง ๆ ในพื้นที่ ต.บัวปากท่า อ.บางเลน จ.นครปฐม

นอกจาก 3 โครงการเร่งด่วนแล้ว ทางบุญรอดฯ ยังมีโครงการระยะยาวที่ให้ความสำคัญกับการมอบองค์ความรู้และสร้างอาชีพให้ประชาชนสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน และแน่นอน ‘สิงห์อาสา’ ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยจะร่วมกับเครือข่ายของสิงห์อาสาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย, สถาบันอาชีวศึกษา, ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน นำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการสร้างอาชีพ เปิดคอร์สอบรมฟรีให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อนำทักษะความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มทักษะอาชีพ ได้แก่ การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านอาหารสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก, การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านงานช่าง และการอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านการเกษตร

ล่าสุด เปิดการอบรมกลุ่มทักษะวิชาชีพทางด้านอาหาร ต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก กับ 3 หลักสูตร คือ 10 เมนูยอดนิยมอร่อยง่ายๆ, หลักสูตรสร้างตัวกับเมนูเดลิเวอรี่ และ หลักสูตรเครื่องดื่มร้อน-เย็นเต็มสูตร ทั้งนี้ทางโครงการได้ดึง 4 เชฟดัง ร่วมวางโครงการทั้งสามหลักสูตร ได้แก่ “เชฟชุมพล” แจ้งไพร, “เชฟป้อม” ธนรักษ์ ชูโต, “เชฟบุ๊ค” บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต และ “เชฟปิ๊ก” สรมย์เวท ธีระพจน์

ส่วนในเฟสถัดไปจะเป็นการฝึกทักษะอาชีพช่างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือ และทักษะการซ่อมแซมสิ่งพื้นฐานที่มีความจำเป็นภายในบ้าน และการอบรมร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านในการนำความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ไปประยุกต์ใช้ , การอบรมเรียนรู้แนวคิดโรงเรียนเกษตรพอเพียงสร้างผลผลิตเลี้ยงตัวเองและจำหน่ายในชุมชน ฯลฯ

นโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการของบริษัทบุญรอดฯ ไม่เพียงช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการวางแผนสำหรับระยะยาว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งคน , ชุมชนและประเทศ ให้สามารถเดินต่อได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ทางบุญรอดฯ ย้ำว่า การช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามปรัชญาการทำงานขององค์กรตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ‘พระยาภิรมย์ภักดี’ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานกว่า 87 ปี โดย ‘สิงห์อาสา’ ถือเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่คลอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีภารกิจสำคัญ นั่นคือ ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

เครือเจริญโภคภัณฑ์

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ของ ‘เจ้าสัวธนินท์-ธนินท์ เจียรวนนท์’ เป็นหนึ่งในองค์กรใหญ่ที่ได้ออกมาประกาศมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ โดยที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่

การให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ การสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน , การบริจาคอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ , การมอบเงิน 77ล้าน ให้กับ 77 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน

การแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน เช่น โครงการมอบอาหารจากใจ ต้านภัยโควิด-19 ส่งอาหารสำหรับผู้กักตัวถึงที่บ้านกว่า 20,000 ราย , การจำหน่ายสินค้าในราคาถูก อาทิ อาหารพร้อมทานและข้าวกล่องในราคา 20 บาท เป็นต้น , การช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาการตกงานหรือขาดรายได้ โดยเครือซีพียืนยันไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงานในไทยกว่า 30,000 คน พร้อมกับเร่งสร้างงานเพิ่ม เช่น CP ALL ประกาศจ้างงานเพิ่ม 20,000 อัตรา , CPF จ้างงานเพิ่ม 5,000 อัตรา เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563ที่ผ่านมา ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต เพื่อให้ไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ และกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ไฮไลท์หลัก ๆ  ได้แก่ โครงการปลูกน้ำ นำพื้นที่ที่ปกติจะเกิดน้ำท่วมทุกปีมาพัฒนาเป็นแก้มลิง เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตรกรโดยรอบ , โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนต้นแบบ สำหรับยกระดับรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรให้มีรายได้อย่างพอเพียง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทย

รวมถึง การให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทุนวิจัย สร้างความร่วมมือด้านงานวิจัย และพัฒนากับสถาบันทางการแพทย์ และศูนย์วิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการค้นคว้าอุปกรณ์ตรวจเชื้อ วัคซีนและยารักษา ฯลฯ

กลุ่มเซ็นทรัล

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ถือเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายคลอบคลุมในหลายธุรกิจทั้งรีเทล, โรงแรม, ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งการเข้าร่วมทีมไทยแลนด์ นอกจากยืนยันไม่เลิกจ้างพนักงานในเครือกว่า 74,000 รายแล้ว ยังชูแนวทางฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนใน 3 มิติหลัก ได้แก่ การสร้างอาชีพเสริมรายได้ การลดค่าครองชีพ และการส่งเสริมสุขภาพ โดยจะดำเนินโครงการภายในปี 2563

มาตรการสร้างอาชีพ เสริมรายได้ เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างรายได้ ด้วยการให้พื้นที่ขายฟรี ผ่านทาง 100 ศูนย์การค้าใน 44 จังหวัด และช่องทางออนไลน์ เช่น ท็อปส์ออนไลน์  JD central เซ็นทรัลออนไลน์ ฯลฯ เพื่อให้ชุมชน เกษตรกร และ SMEs ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 เข้ามาขายสินค้า เป็นเวลา 3-6 เดือน , การอนุมัติวงเงิน 1,500 ล้านบาท รับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกร และชุมชน นำมาจำหน่ายในศูนย์การค้าและ ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ , สร้างอาชีพแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน  ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น ฯลฯ

มาตรการลดค่าครองชีพ ด้วยการลดและตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น , การร่วมโครงการกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และผู้ผลิตสินค้าในการลดราคา 5-68% ตลอดปี 2563 , ลดราคาอาหาร 20% ในศูนย์อาหาร 87 แห่ง ใน 43 จังหวัด จัดให้มีอาหารราคาพิเศษ เริ่มต้นที่ 19 บาท ฯลฯ

มาตรการส่งเสริมสุขภาพ ในการสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อเป็นแผนแม่บทในการทำธุรกิจให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันการระบาด โดยใช้มาตรการในทุกศูนย์การค้าและผู้เช่าทุกราย ทุกตารางเมตร ซึ่งจะเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกธุรกิจในศูนย์การค้าเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส

เมื่อเกิดวิกฤตเราจะได้เห็นการผนึกกำลังกันของทุกภาคส่วนในสังคมไทย รวมไปถึงองค์กรต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อพาประเทศก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกัน และนี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของ ‘พลัง’ ที่ไม่เพียงจะพาเราฝ่าวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น ยังสามารถสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย


  • 945
  •  
  •  
  •  
  •