หลายคนบอกว่า Startup คือธุรกิจที่เน้นหาเงินทุน หานักลงทุน จนเริ่มสงสัยว่า Startup สร้างธุรกิจจริงๆ บ้างหรือไม่ การหาเงินมาต่อเงินเรื่อยๆ แบบนี้ มีโอกาสเกิดฟองสบู่ นำไปสู่การพังทลายทางธุรกิจได้ ดังนั้น ไผท ผดุงถิ่น กรรมการผู้จัดการ ของ BUILK ในฐานะของ Startup รายแรกๆ ในประเทศไทย และยังควบตำแหน่งนายกสมาคม Startup ไทยอีกด้วย เลยมาแสดงให้เห็นว่า BUILK คือธุรกิจ Startup ที่เป็นธุรกิจจริงๆ
งานแถลงครั้งนี้เรียกว่า BUILK New Era เป็นก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ที่เกิดจากความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของสุดยอด 3 ประสาน และจะไม่มีการพูดเรื่อง Raise Fund แต่จะเป็นเรื่องของการผลักดันธุรกิจก่อสร้างให้เปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นดิจิทัลจริงๆ
สุดยอด 3 ประสานในครั้งนี้ เริ่มจาก BUILK.com Startup Software สำหรับธุรกิจก่อสร้างตามมาด้วย Millcon Steel บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กรายใหญ่ของไทย และ Tarad.com ผู้ให้บริการ e-Commerce ชั้นนำของไทย และนี่คือการสร้าง Marketplace สำหรับธุรกิจก่อสร้างแห่งแรก และแห่งเดียว ที่จะเปลี่ยนโฉมวงการธุรกิจก่อสร้างในอีก 3 ปีข้างหน้า
5 แสนล้านบาท มูลค่าตลาดวัสดุก่อสร้าง
ก่อนจะลงลึกในรายละเอียดว่า การผสานพันธมิตรธุรกิจครั้งนี้ทำอะไรกันบ้าง ไผท เล่าให้ฟังว่า มูลค่าตลาดธุรกิจก่อสร้างของไทย แตะ 1 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นประมาณ 4% ของ GDP โดย 5 แสนล้านบาทคือ ค่าดำเนินการและแรงงานต่างๆ ส่วนอีก 5 แสนล้านบาท คือมูลค่าของวัสดุก่อสร้างที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
5 แสนล้านบาทนี้ คือสิ่งที่ BUILK สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ส่วนของ 5 แสนล้านบาทที่เป็นวัสดุก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 แสนล้านบาทที่เกิดการซื้อขายผ่าน Modern Trade ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรับเหมาก่อสร้างบ้านหรืออาคารส่วนตัว ที่มูลค่าไม่ใหญ่มาก สามารถซื้อและจ่ายเงินได้ทันที เพราะ Modern Trade ไม่มีระบบสินเชื่อ
ขณะที่อีก 3 แสนล้านบาท เป็นการซื้อผ่านร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วไป ร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งมีระบบสินเชื่อเอาของไป จ่ายเงินทีหลังใน 30-60 วัน ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ จะใช้บริการผ่านช่องทางนี้
แนวคิดคือ การธนาคารเข้ามาดูแลเรื่องการซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้าง นำระบบบัตรเครดิต และการผ่อนชำระ 0% 6 เดือน เข้ามาเพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถบริหารจัดการการเงินได้ดีขึ้น ร้านวัสดุก่อสร้างก็สบายใจในเรื่องการจ่ายเงิน นี่คือ สิ่งที่ BUILK ได้ทำไปแล้ว และก้าวต่อไปคือการต่อยอด
จับมือ Millcon Steel ต่อยอด YELLO ช่องทางการขายออนไลน์
จุดแข็งของ BUILK คือ ระบบหลังบ้าน ที่มีผู้ใช้งานกว่า 30,000 ราย จากกว่า 11,000 บริษัทรับเหมาก่อสร้างทั่วไทย มีโครงการก่อสร้างกว่า 8,400 โครงการ เป็นมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี และได้เริ่มต้นทำธุรกิจ e-Commerce แบบ B2B ไปแล้ว ผ่านร้านค้าวัสดุก่อสร้างออนไลน์ YELLO ซึ่งถึงปัจจุบัน ยังมีสินค้าอยู่จำนวนไม่มาก
พันธมิตรธุรกิจรายแรกนำโดย สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ Millcon Steel เห็นถึงศักยภาพของ BUILK และช่องทางจำหน่ายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ จึงเข้ามาลงทุนโดยนำผลิตภัณฑ์ของ Millcon Steel เข้ามาจำหน่ายผ่าน YELLO ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ เป็นการขยายไลน์สินค้าครั้งสำคัญ และที่สำคัญ Millcon Steel ไม่ได้จำกัดว่าต้องขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ของ Millcon Steel เท่านั้น แต่สามารถขายสินค้าของแบรนด์อื่นๆ ได้ทั้งหมด แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กเหมือนกันก็ตาม เพื่อสร้างการเติบโตและเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจก่อสร้าง
สิทธิชัย ย้ำว่า เป้าหมายของความร่วมมือครั้งนี้ คือการเปลี่ยนวงการธุรกิจก่อสร้าง เปลี่ยน Supply Chain ในอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการ 4 ปัจจัยสำคัญมาเสริมได้แก่
1. คนใช้ ที่ปัจจุบันมีกว่า 11,000 บริษัท ต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก เพื่อสร้างสังคมผู้รับเหมาก่อสร้าง
2. สินค้า ต้องเพิ่มจำนวน SKU ให้มากๆ สร้างความหลากหลายในการช้อปปิ้ง
3. การเงิน คือ มีบริการทางการเงิน มาช่วยให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย มีช่องทางในการชำระเงินที่สะดวกสบาย
4. Logistics Fulfillment บริการขนส่งแบบวันเดียวถึง
ผนึก Tarad.com สร้าง Marketplace ด้านก่อสร้างแห่งแรก
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง Tarad.com คือ พันธมิตรธุรกิจอีกหนึ่งรายที่เข้ามาเติมเต็ม โดยระบุว่า ภาพของธุรกิจก่อสร้าง ผู้รับเหมารายใหญ่จะใช้ LONGKONGStudio ผู้รับเหมารายกลางและเล็ก ใช้ BUILK และพอมี e-Commerce Marketplace เข้ามาเสริม จิ๊กซอว์จะสมบูรณ์ ซึ่งด้วยประสบการณ์ด้าน e-Commerce ที่ทำมายาวนานกับ Tarad.com มองเห็นเลยว่า การทำ BUILK ทำ B2B ผ่าน YELLO มาแข็งแกร่งแล้ว ต่อไปต้องขยายไปเป็น B2B2C หรือเป็น Marketplace นั่นเอง
“ตลาด B2B ดูไม่เซ็กซี่ แต่มีมูลค่าตัวเล็กที่ใหญ่มหาศาล เพราะธุรกิจมีการซื้อขายกันเป็นหลักแสนหลักล้านบาท เป็นโอกาสในเมืองไทย และพอพัฒนาต่อเป็น B2B2C โอกาสยิ่งเปิดกว้างมากขึ้นไปอีก”
เป้าหมายของการเปิด Marketplace ให้ร้านวัสดุก่อสร้างขึ้นไปเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ คือภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งถ้ามองภาพรวมแล้ว การใช้งานระบบ BUILK เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย บริหารจัดการต้นทุน ทำให้รู้ความต้องการใช้งานวัสดุก่อสร้างที่แท้จริง ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถควบคุมทุกอย่างได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ยิ่งพอมี e-Commerce และ Marketplace เป็นช่องทางซื้อวัสดุได้โดยตรงแบบง่ายๆ และประหยัดกว่า แปลว่าทุกอย่างครบถ้วนอยู่ที่นี่ทั้งหมดแล้ว
การจะสำเร็จได้ในธุรกิจใดก็แล้ว การก้าวเข้ามาเป็นรายแรก หรือ First Mover คือส่วนสำคัญมาก แต่ก็ต้องมาแบบที่มีความรู้ เพราะเป็นความท้าทายที่ต้องสร้างตลาดขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งหมด BUILK สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งพอมีความร่วมมือจาก 3 ประสานครั้งนี้แล้ว ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ในทางธุรกิจที่ชัดเจนมาก
คำถามว่า ในอนาคต ถ้า BUILK จะต่อยอดไประดับภูมิภาคอาเซียน ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมา ก็เริ่มไปลองตลาดที่อินโดนีเซีย และ ลาว มาแล้ว เห็นแล้วว่าโมเดลใช้ด้วยกันได้ รอแค่เวลาที่ถูกต้องเท่านั้น
Image Source: Facebook คุณไผท